คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะ ว่าเด็ก ๆ สมัยนี้ใช้เวลากับ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต มากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน โรงเรียน หรือแม้แต่เวลานั่งทานข้าวร่วมกัน จนบางครั้งแทบจะแยกออกจากหน้าจอเหล่านั้นไม่ได้เลย แต่รู้หรือไม่? ว่านี่คือ ภัยเงียบ! เมื่อลูกน้อยค่อย ๆ กลายเป็น เด็กติดจอ ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของลูกโดยที่พ่อแม่หลายคนอาจมองข้ามไป
ภัยเงียบ! ปัญหา เด็กติดจอ อาจส่งผลต่อพัฒนาการลูกน้อยในระยะยาวได้!
ผลการวิจัยล่าสุดชี้ชัดว่า การใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไป อาจส่งผลต่อเด็กไม่เพียงแค่สายตาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางอารมณ์และทักษะทางสังคมของเด็ก ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเลยอีกด้วย ซึ่งรองศาสตราจารย์ ไมเคิล นาเกล จากมหาวิทยาลัย Sunshine Coast กล่าวว่า ผลกระทบจากการใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไปนั้น ส่งผลให้ความสามารถในการเข้าใจความคิด หรือ อารมณ์ของผู้อื่นที่ลดลง เด็กมักจะมีปัญหาในการสบตา จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่สนใจสิ่งรอบตัว และควบคุมอารมณ์ได้ยาก
โดยเขาได้กล่าวว่า อาการเหล่านี้สามารถเปรียบเทียบได้เหมือนกับอาการ ของ โรคออทิสติกเทียม
รองศาสตราจารย์ ไมเคิล นาเกล ยังได้เผยอีกว่า ในยุคปัจจุบันนี้ เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทั้งผู้ใหญ่และเด็กมากขึ้น เครื่องมือเหล่านี้เข้ามาแทนที่กิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เคยทำร่วมกันในครอบครัว ส่งผลให้เด็ก ๆ ในยุคนี้ใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ มากกว่าการทำกิจกรรม หรือการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งนักวิจัยได้ออกมาเตือนว่าสิ่งนี้จำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของเด็กในช่วงวัยแรก
โดยเขาได้อ้างอิงถึงงานวิจัยของ ดร. แซมเฟียร์ เมื่อปี 2018 โดยได้ทำการทดลองและศึกษาพัฒนาการของเด็กวัยต่ำกว่า 3 ขวบ ที่ใช้เวลากับหน้าจอมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน และพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการด้านภาษา ความรู้ความเข้าใจ (cognition) และทักษะทางสังคมลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งวิธีที่พ่อแม่จะสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ เขาเรียกมันว่า “กระบวนการบำบัดฟื้นฟู” หรือ recovery therapeutic process ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมบำบัด (occupational therapy), การบำบัดด้วยการเล่น (play therapy), การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (cognitive behaviour therapy), การกระตุ้นด้านภาษา และวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการของเด็กที่ใช้เวลากับหน้าจอนานเกินไปได้
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ควรอาศัยทั้งความร่วมมือจากทั้งผู้ปกครองและตัวเด็ก ๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ลดลงค่ะ
วิธีป้องกันลูกกลายเป็น เด็กติดจอ
1) จำกัดเวลาใช้หน้าจอ
คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกฎกับลูกน้อยถึงเวลาการใช้มือถือ หรือ แท็บเล็ต เพื่อให้ลูกมีวินัยมากขึ้น รวมไปถึงเพื่อสุขภาพของตัวลูกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่แชร์ ตัวช่วยเด็ด แอพควบคุมมือถือลูก แก้ปัญหาลูกติดจอ!
2) พาลูกทำกิจกรรม
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แทนที่จะเอาแต่ปล่อยให้ลูกน้อยใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจหาเวลาพาลูกไปทำกิจกรรม outdoor สนุก ๆ ทำ เช่น ไปออกกำลังกาย วาดรูปศิลปะ เที่ยวทะเล เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการลูกในหลาย ๆ ด้านอีกด้วยค่ะ
3) อย่าปล่อยให้ลูกเล่นมือถือคนเดียว
ในบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยใช้เวลากับหน้าจอคนเดียวมากไป เราอาจไม่รู้ว่าลูก ๆ ดูหรือเล่นอะไรอยู่ มีความเหมาะสมมั้ย คุณพ่อคุณแม่ควรดูอย่างใกล้ชิดและสอนลูกน้อยว่าอะไรดีไม่ดี อันไหนควรหรือไม่ควรทำ
4) เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ป้องกันปัญหา เด็กติดจอ
เชื่อว่าหลาย ๆ ครั้งคุณพ่อคุณแม่มักจะรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานในชีวิตประจำวัน ทำให้อยากมีเวลาส่วนตัวเป็นของตนเอง จนบางทีก็เผลอลืมตัวหยิบมือถือขึ้นมาเล่นบ้าง แต่ในบางเวลา คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น อาจเริ่มจากการพูดคุยกับลูกว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรมาบ้าง เล่าเรื่องให้สู่กันฟังค่ะ
การใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ และสังคม ของเด็ก ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องห้ามเด็กเล่นกับหน้าจอเลย เพียงแต่ว่าคุณพ่อคุณแม่ควรมีการจำกัดเวลา การใช้ จัดสรรเวลา ให้เหมาะสม ควบคุมเนื้อหา ที่ลูกน้อยเข้าถึง และควรหันมาส่งเสริม กิจกรรมอื่น ๆ เช่น การเล่นกีฬา อ่านหนังสือ วาดรูป เล่นดนตรี เพื่อให้ลูกน้อยได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย อารมณ์ และสังคม ที่สำคัญเราควรจำไว้ว่า ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และการสร้างประสบการณ์ร่วมกันของครอบครัว มีคุณค่ามากกว่าการอยู่กับหน้าจอเพียงอย่างเดียว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
6 วิธีแก้เด็กติดจอ ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้ติดโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์
พัฒนาการเด็ก 9 ขวบ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่พ่อแม่ควรรู้ !
ภาวะแหวะนมในทารก อันตรายไหม อาการพบได้บ่อยที่พ่อแม่ต้องรู้
ที่มา: ABC News
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!