อาการชัก มักเป็นสัญญาณเตือนภัยของโรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ โรคหัวใจ ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง บทความนี้ จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ อาการชัก จากโรคหัวใจ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร พร้อมย้อนรอยเหตุการณ์จากคลิปวิดีโอที่กลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่เผยให้เห็นภาพนักเรียนชาย ชั้น ป.1 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจ กำลังนอนดิ้นทุรนทุรายด้วยความทรมานอยู่บนพื้นห้องเรียน ท่ามกลางเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด แต่สิ่งที่สร้างความสงสัยและความโกรธแค้นให้กับผู้คนคือ ครูผู้ถ่ายคลิปกลับไม่รีบดำเนินการนำเด็กส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
ซึ่งล่าสุด วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทาง สพฐ. ได้เข้าสอบสวนครูผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์แล้ว พบว่า ครูได้รีบแจ้งไปหาผู้ปกครองของเด็กแล้ว และพาเด็กไปโรงพยาบาล ไม่ได้ละเลยมัวแต่ถ่ายคลิป ตามที่ถูกกล่าวหา หลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล อาการของเด็กทรุดลงอย่างรวดเร็ว หัวใจหยุดเต้นและชีพจรหายไป แพทย์ทำการปั๊มหัวใจจนเด็กกลับมาหายใจและชีพจรเต้นอีกครั้ง แต่แล้วเด็กก็หัวใจหยุดเต้นเป็นครั้งที่ 2 ทีมแพทย์พยายามช่วยชีวิตและปั๊มหัวใจเป็นครั้งที่ 2 แต่ไม่สำเร็จ หัวใจของเด็กไม่ทำงาน และเสียชีวิตในที่สุด
ส่วนทางด้านโรงเรียน แม้เผชิญเสียงวิพากษ์จากคลิปวิดีโอ แต่โรงเรียนยืนยันว่าได้พยายามช่วยเหลือเด็กเต็มที่ กล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐาน ขณะที่ครูและโรงเรียนเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนยังแสดงความรับผิดชอบด้วยการเข้าร่วมงานศพตั้งแต่รดน้ำศพ ฟังสวด และร่วมทำบุญกับครอบครัว พร้อมทั้งพูดคุยสอบถามให้กำลังใจ รวมถึงยินดีให้ข้อมูลหากครอบครัวมีข้อสงสัย แม้คุณแม่เด็กจะไม่ได้ติดใจอะไรและไม่ทราบผู้ร้องเรียน แต่โรงเรียนยังคงรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ โดยถือเป็นบทเรียนนำไปปรับปรุงการช่วยเหลือเด็กป่วยฉุกเฉิน อบรมครูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล และทบทวนมาตรการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้โรงเรียนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของเด็ก
โรคหัวใจ คืออะไร?
“โรคหัวใจ” เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด แต่ละชนิดมีสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือ หมอหมู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก จากหลักฐานที่มีและจากข้อมูล พบว่าเด็กผู้เสียชีวิต ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งหมอหมู เชื่อว่า หลายคนที่เห็นภาพจะรู้ได้ทันทีว่าเด็กมีอาการที่ค่อนข้างแย่ อาการชักปากเขียว เกิดจาก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งหากเกิดอาการชักมากกว่า 3 นาที แล้วไม่มีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้อง เด็กอาจเสียชีวิตได้
เหตุการณ์นี้สร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัว และสะท้อนให้เห็นถึง ความสำคัญของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคหัวใจ กันคร่าว ๆ ก่อนค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคลิ้นหัวใจตีบ ในเด็ก หากเข้าใจ ไม่ยากเกินรับมือ
โรคหัวใจ ที่พบได้บ่อย ๆ
1) โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย เจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ เหนื่อย อ่อนเพลีย หรือหมดสติได้
2) โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หนาตัว หรือทำงานผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้น้อยลง
3) โรคลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น ตีบ รั่ว ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในหัวใจผิดปกติ
4) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ มักจะสังเกตเห็นได้หลังคลอดไม่นาน โดยเด็กอาจมีอาการหายใจถี่ระหว่างการให้นม หายใจลำบาก ใจสั่น หน้าอกอึดอัด เติบโตช้า
อาการชักกับ โรคหัวใจ มีความสัมพันธ์กันไหม และมีวิธีสังเกตอาการอย่างไร?
อาการชัก คือ ภาวะที่สมองทำงานผิดปกติ ส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เกร็ง กระตุก ตาค้าง น้ำลายฟูมปาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ หรือ นานหลายนาที
โดยปกติแล้ว อาการชักกับโรคหัวใจไม่ได้มีความสัมพันธ์กันโดยตรง แต่ในบางกรณี โรคหัวใจอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง ถ้าหัวใจเต้นช้ามาก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่มากพอ ทำให้เกิดอาการมึนงง วิงเวียน หน้ามืด เป็นลมหมดสติ จนถึงขั้นชักได้เช่นกัน
เมื่อลูกชัก พ่อแม่ควรทำอย่างไร?
อาการชักในเด็กเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กวัย 6 เดือน – 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักมากกว่าวัยอื่น การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ ที่สำคัญคือต้องตั้งสติและทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) จับเด็กนอนตะแคง
เพื่อป้องกันการสำลักน้ำลายหรืออาเจียน
2) คลายเสื้อผ้า
ถ้าเด็กใส่เสื้อผ้ารัด ให้คลายเสื้อผ้าบริเวณหน้าอกให้หลวมขึ้น ช่วยให้หายใจสะดวก
3) จับเวลาและสังเกตอาการ
จดบันทึกเวลาที่เด็กเริ่มชัก เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ สังเกตว่าตอนชัก ลูกหลับหรือตื่นอยู่ อวัยวะส่วนใดมีการกระตุก ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่หรือญาติ ๆ คนอื่นอยู่ด้วยกัน ให้อีกช่วยถ่ายวิดีโอคลิปไว้ เพื่อนำไปเปิดให้แพทย์พิจารณาและทำการวินิจฉัยอาการร่วมกับการตรวจอื่นๆ
โดยปกติแล้ว อาการชัก จะหายได้เองประมาณ 3-5 นาที เด็กจะรู้สึกตัว แต่ถ้าชักนานเกิน 15 นาที หรือเริ่มมีรอยเขียวคล้ำบริเวณรอบปาก ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
จาก ลมพิษเรื้อรัง สู่โรคพุ่มพวง? กัน จอมพลัง แชร์ประสบการณ์ลูกสาวป่วยหนัก!
แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะเป็น โรคภูมิแพ้ในเด็ก ด้วยหรือไม่
หมอเตือน! ดูจอมากเกินไป ระวังเสี่ยง โรคจอประสาทตาเสื่อมก่อนวัย
ที่มา : Ch7.com, Paolo Hospital
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!