การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย หลาย ๆ คนจึงอยากจะลองซ่อมเองที่บ้าน แต่สำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็อาจเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วโดยไม่ทันรู้ตัวได้ ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่นเดียวกับกรณีนี้ เด็กม.3 ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง สุดท้ายถูกไฟช็อตเสียชีวิตในห้องนอน พบมือขวายังกำสายไฟฟ้า ญาติเผยผู้ตายซ่อมสิ่งของแต่ไม่มีอุปกรณ์ช่าง
เด็กม.3 ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง สุดท้ายถูกไฟช็อตเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ตำรวจ สภ.ทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช รับแจ้งมีผู้ถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต เหตุเกิดที่บ้านหลังหนึ่งในบ้านโคกเคี่ยม ตำบลบางรูป ที่เกิดเหตุเป็นบ้านชั้นเดียว
ภายในห้องนอนพบศพของน้องมอส อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนวัดประดิษฐาราม นอนเสียชีวิตอยู่ที่พื้น ใส่กางเกงขาสั้นสีเทา ไม่สวมเสื้อ มือขวาถือสายเหล็กลวดสปริงของไดร์เป่าผม กลางอกมีอุปกรณ์ชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า บริเวณอกและลำตัว มีร่องรอยของการถูกไฟช็อตเป็นรอยไหม้ ผิวหนังมีเลือดไหลซึม ส่วนศีรษะเข้าไปอยู่ในถังพลาสติกสีเขียว ข้างลำตัวมีพัดลมตั้งอยู่ 1 ตัว บนที่นอนพบโทรศัพท์ชาร์จไฟอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องตัดกระแสไฟในบ้าน เพื่อให้แพทย์ร่วมชันสูตรศพ
เมื่อตำรวจสอบสวนจึงพบว่า ก่อนเกิดเหตุตอนห้าทุ่ม ผู้ตายได้พูดคุยกับนางวนิดา ผู้เป็นแม่ที่กำลังจะออกไปกรีดยาง จากนั้นก็ได้เข้าครัวที่อยู่ติดกับห้องนอนทำอาหารกินกลางดึก หลังจากกินเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าไปในห้องนอนของตัวเอง ญาติคิดว่าจากนั้นน้องคงนำไดร์เป่าผมมานั่งซ่อมบริเวณพื้นปูน ระหว่างซ่อมมือขวากุมขดลวดเหล็กสปริง ทำให้ไฟฟ้าเกิดไหลรั่วผ่านตัวขดลวด จนน้องถูกไฟช็อตจนหงายหลังล้มตึงนอนพาดบนพื้นปูนเสียชีวิต
จนกระทั่งตอนเช้า นางปรานอม ผู้เป็นยายของผู้เสียชีวิต เห็นหลานชายยังไม่ออกมาจากห้องนอน จึงเดินมาที่ห้องเพื่อให้แต่งตัวไปโรงเรียน ยืนเรียกหน้าห้องก็ไม่มีเสียงตอบ เลยผลักประตูที่เปิดแง้มไว้เข้าไปดู พบหลานชายนอนเสียชีวิตอยู่บนพื้นปูนภายในห้อง ขณะที่แม่ของน้องยังกรีดยางอยู่ในสวน เมื่อมาเจอลูกชายเสียชีวิตไปแล้ว ก็ถึงกับทรุดลงไปกับพื้นและร้องไห้ด้วยความเสียใจ
อย่างไรก็ตาม ทางญาติยังได้ระบุว่า น้องมอสเป็นเด็กดีเรียนเก่ง และสนใจในการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เสียมาซ่อมด้วยตัวเองเป็นประจำ แต่ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ยังน้อย รวมถึงไม่มีอุปกรณ์ป้องกันทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สร้างความสูญเสียให้แก่ครอบครัว เบื้องต้นสอบถาม ผู้เสียชีวิตเป็นลูกคนโต มีน้องสาววัย 6 ขวบอีก 1 คน ทำให้ครอบครัวเศร้ามาก และจะนำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : โดนไฟดูด โดนไฟช็อต อันตรายใกล้ตัว ที่ควรรู้วิธีป้องกันรับมือ
ที่มา : thairath.co.th, mgronline.com
ไฟดูด เป็นอย่างไร
ไฟดูด (Electric Shock) เป็นภาวะที่ไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง ไม่สามารถขยับให้หลุดได้ โดยปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ทำให้พิการหรือเสียชีวิต อาจไม่ได้เกิดกับการสัมผัสกับไฟฟ้าโดยตรง เช่น จับตัวผู้สัมผัสไฟฟ้า หรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าใต้แนวไฟฟ้า ส่งผลให้ถูกไฟฟ้าดูดจากการสัมผัส
ไฟช็อตเป็นอย่างไร
ไฟช็อต (Short Circuit) หรือไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากการโอนกระแสไฟฟ้าจากเส้นหนึ่งไปยังเส้นอื่น ๆ ไม่ได้ผ่านอุปกรณ์โหลด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าจนเกิดความร้อนสูง อาจทำให้เกิดประกายไฟและไฟไหม้ สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากฉนวนของสายไฟชำรุด หรือจากการแตกกันโดยบังเอิญ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไฟฟ้าช็อต ป้องกันได้อย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนไฟช๊อต
อันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต
บ่อยครั้งที่เรามักจะถูกไฟดูด หรือไฟช็อตบ่อย ๆ หากโชคดีก็ไม่เป็นไร แต่หากโชคร้ายก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายได้ โดยเฉพาะหัวใจและระบบประสาท ซึ่งอวัยวะที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า ได้แก่ หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ ระบบประสาท และอวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น หากลูกถูกไฟช็อตก็อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ๆ ถูกทำลาย เช่น
- หากไฟฟ้าไหลผ่านหัวใจ ทำให้คลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลง หัวใจหยุดเต้น
- หากไฟฟ้าไหลผ่านกล้ามเนื้อ ทำให้แขนขาบวม เกิดการขาดเลือดรุนแรง จนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ
- หากไฟฟ้าไหลผ่านช่องท้อง อาจทำให้อวัยวะช่องท้องบาดเจ็บ
ซึ่งความรุนแรงของการถูกไฟดูด ไฟช็อต จะขึ้นอยู่กับจำนวนโวลต์ และแอมแปร์ของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย ความต้านทานของเนื้อเยื่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านไป ชนิดกระแสไฟฟ้า และระยะเวลาที่สัมผัสกับกระแสไฟฟ้า
ลูกถูกไฟดูด ไฟช็อตทำอย่างไร
หากลูกถูกไฟดูด คุณพ่อคุณแม่คงอาจตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ดังนั้นจึงควรตั้งสติก่อนและดูว่าเราจะช่วยลูกได้อย่างไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรวิ่งไปดึงตัวผู้ที่ถูกไฟดูดทันที เพราะจะทำให้ถูกไฟดูดไปด้วย และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกาย ดังนั้น จึงควรเรียนรู้วิธีการป้องกันหากลูกถูกไฟดูด ไฟช็อต
- รีบสับคัตเอาต์ เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุด
- อย่าแตะตัวลูกที่โดนไฟดูดด้วยมือเปล่า และเท้าเปล่า ควรหาผ้ามารองแทน
- หาผ้าเช็ดตัวหรือผ้าห่มมาคลุมตัวลูกที่ถูกไฟดูด จากนั้นช่วยลูกออกมาจากจุดเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
- ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการ CPR ก่อนนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- เช็กดูว่าลูกยังหายใจเป็นปกติหรือไม่ หากลูกไม่หายใจหรือหายใจช้า ให้ทำ CPR ทันที หากลูกหายใจปกติ แต่มีแผลไฟไหม้ ให้รีบถอดเสื้อผ้าออก ล้างแผลด้วยน้ำเย็น พันแผลด้วยผ้าสะอาด และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 วิธีป้องกันเด็กถูก ไฟช็อต รับมืออย่างไรหากลูกถูกไฟช็อต
วิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า
- หมั่นตรวจเช็กอุปกรณ์และสายไฟ ว่ามีส่วนไหนชำรุดหรือไม่
- ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ
- ห้ามซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองโดยไม่มีความรู้
- ต่อสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ไฟฟ้าลงดิน
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภท ในเต้าเสียบเพียงอันเดียว
- ติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้าน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า
- วางสายไฟให้พ้นทางเดิน ไม่วางสิ่งของหนัก ๆ ทับสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดและชำรุดได้
- หากร่างกายเปียก ห้ามแตะอุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด เพราะอาจทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย จนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
หากพบว่าลูกถูกไฟดูดหรือไฟช็อต คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติให้ดี และรีบทำการช่วยเหลือลูกอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า หากไม่ระมัดระวังให้ดี ก็อาจทำให้คนที่ช่วยเหลือถูกไฟดูดไปด้วย ดังนั้น ต้องหมั่นตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และพยายามไม่ให้ลูกเล่นกับข้าวของเหล่านี้ โดยเฉพาะทารกและเด็กเล็ก ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต
ที่มา : bgrimmtrading.com, nakornthon.com, navavej.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 ภัยช่วงปิดเทอม อุบัติเหตุต่าง ๆ ที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง
เคล็ด(ไม่)ลับ! จัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก ป้องกันอุบัติเหตุในบ้าน
ป้องกันลูกน้อยจากโรงรถ ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักรีด ป้องกันอย่างไรจึงปลอดภัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!