หมูกระทะ ถือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนทุกเพศทุกวัย แต่บางครั้งก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานหมูกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือใช้ตะเกียบในการคีบหมูดิบ แม้จะเป็นเพียงเศษหมูที่ติดกับตะเกียบ แต่หากรับประทานเข้าไปก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ เช่นเดียวกับกรณีนี้ สาวกินหมูกระทะ อยู่ดี ๆ ตื่นมากลายเป็นคนพิการ หูดับ เนื่องจากติดเชื้อจากการใช้ปลายตะเกียบคีบหมูดิบ
สาวกินหมูกระทะ ตื่นมาพิการ เพราะติดเชื้อจาก “ปลายตะเกียบ”
เรื่องราวนี้บอกเล่าโดยผู้ใช้ TikTok @mykai1269 ซึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอบอกเล่าอุทาหรณ์จากการรับประทานหมูกระทะ โดยเธอต้องกลายเป็นผู้พิการทางการได้ยิน หลังติดเชื้อจากการรับประทานหมูดิบเพียงเล็กน้อย ที่ติดอยู่ปลายตะเกียบ โดยเธอได้เล่าว่า กินหมูกระทะอยู่ดี ๆ ตื่นมาอีกทีกลายเป็นคนพิการ ติดเชื้อจากปลายตะเกียบ แต่ไม่ได้กินหมูไม่สุกหรือหมูดิบ น่าจะติดเชื้อจากปลายตะเกียบหรือช้อน จึงอยากแชร์ประสบการณ์นี้ให้เป็นอุทาหรณ์ให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังกันนะคะ
แชร์ประสบการณ์เยื่อหุ้มสมองอักเสบและหูดับ คืนแรกมีไข้ขึ้นไม่สูงมาก เช็ดตัวกินยาดีขึ้นก็เลยกลับไปทำงาน คืนที่สองไปหาหมอเอกชน กินยาที่หมอให้ไข้ก็หาย ก็คิดว่าหายแล้วเลยหยุดกินยา คืนที่ 3 อยู่ดี ๆ ปวดหัวข้างเดียว ปากมาก กินยาไมเกรน แขนขาหนักมาก แทบจะขยับไม่ได้ คลานออกไปหยิบโทรศัพท์ โทรหาพี่ที่รู้จักพาไปโรงพยาบาล เดินลงมารอรถ อ้วกใต้คอนโด พอถึงโรงพยาบาลก็อ้วกอีกรอบ อ้วกเสร็จสลบไป 5 วัน ตื่นมาหู 2 ข้างไม่ได้ยินอะไรเลย เดินก็ไม่ได้ หมอให้ยาฆ่าเชื้อทุก 12 ชั่วโมง ต้องรักษาตัว 44 วัน กว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาล
หมอไม่ได้บอกว่าเป็นไข้หูดับ แต่บอกว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้วหูดับ ไม่แน่ใจว่าเชื้อที่อยู่ในสมองเป็นเชื้ออะไร แต่มั่นใจว่าไม่ได้กินหมูดิบหรือหมูไม่สุกแน่นอน ส่วนขั้นตอนการรักษา ต้องผ่าตัด ให้ยาฆ่าเชื้อ ฉีดสเตียรอยด์เพื่อให้หูกลับมาได้ยิน ทำกายภาพบำบัดเพราะตื่นมาเดินไม่ได้ ส่วนปัจจุบันอาการดีขึ้นแล้ว หูเริ่มได้ยินนิดหน่อย หมอให้ใช้เครื่องช่วยฟัง อยากแชร์ไว้เป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวัง ถึงจะไม่ได้กินหมูไม่สุกก็หูดับได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม กินอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อลูก สายบุฟเฟ่ต์ต้องอ่าน!
หลังจากที่คลิปวิดีโอดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ก็ได้มีเพจเฟซบุ๊กดัง Drama-addict ได้ออกมาเตือนประชาชนให้แยกการใช้ตะเกียบที่ชัดเจน เพราะแม้เราจะเอาตะเกียบไปจุ่มน้ำแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้น้ำอุณหภูมิสูงมากและเป็นเวลานานกว่าจะฆ่าเชื้อได้หมด โดยในโพสต์ดังกล่าวได้ระบุว่า
“จากข่าวที่มีสาวคนหนึ่ง ติดเชื้อหูดับ เพราะมีเนื้อหมูดิบเปื้อนตะเกียบ ตอนเธอไปกินหมูกระทะ เห็นในคอมเมนต์คนที่อ่านข่าว ก็ยังมีหลาย ๆ คนบอกว่า ไม่ต้องแยกตะเกียบหรือที่คีบก็ได้ แค่เอาไปแกว่ง ๆ ในน้ำในหม้อก็พอแล้ว จริง ๆ แค่นั้นก็ยังไม่พอนะครับ เพราะว่าเชื้อหูดับเนี่ย มันถูกฆ่าด้วยความร้อนได้ก็จริง แต่ต้องเป็นอุณหภูมิที่สูงเกิน 70 องศา นานกว่า 5-10 นาที ซึ่งถ้าเอาลงไปแกว่งแป๊บ ๆ ไม่กี่วิ เชื้อมันก็ยังอยู่ คีบเข้าปากก็ติดเชื้อถึงตายหรือพิการได้อยู่ดี
ดังนั้น แยกตะเกียบ แยกที่คีบไปเลย ปลอดภัยสุด อันไหนคีบหมูดิบ ก็คีบแต่หมูดิบ อันไหนคีบหมูสุก ก็คีบแต่หมูสุก ไม่ปะปนกัน แล้วท่านจะแดกหมูกระทะอย่างปลอดภัยสบายใจไม่เสี่ยงติดเชื้อ”
ที่มา : Facebook Drama-addict
sanook.com, thethaiger.com
รู้จัก โรคไข้หูดับ ความเสี่ยงที่มาจากการกินหมูดิบ
โรคไข้หูดับ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ซึ่งเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ป่วย สามารถติดต่อจากการรับประทานเนื้อและเลือดของหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ รวมถึงอาจติดจากการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่ป่วยเป็นโรค ผ่านทางบาดแผลหรือรอยขีดข่วนตามร่างกายหรือเยื่อบุตา
อาการของโรคไข้หูดับ
- มีไข้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- ประสาทหูอักเสบจนหูดับ
- มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
การป้องกันโรคไข้หูดับ
- ปรุงเนื้อหมูให้สุกด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือหมูที่ป่วยตายจากโรค
- ผู้ที่ปรุงอาหาร ผู้เลี้ยง และผู้ชำแหละหมูที่มีบาดแผล ควรปิดแผลและสวมถุงมือทุกครั้ง เวลาสัมผัสเนื้อหมู เมื่อสัมผัสเสร็จก็ต้องล้างมือให้สะอาด
- เลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือโรงงานที่สะอาด ได้มาตรฐาน งดการซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาวและมีสีคล้ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคหูดับ ภัยร้ายจากเนื้อหมูดิบ ถ้าไม่ระวังอาจถึงตาย!
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกหนึ่งอันตรายสำหรับคนชอบกินหมูกระทะ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) คือ โรคที่เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดภาวะอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายทาง ได้แก่ ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด แล้วกระจายไปยังเยื่อหุ้มสมอง ติดเชื้อในอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วเกิดกระจายไปที่เยื่อหุ้มสมอง หรืออาจติดเชื้อโดยตรงที่เยื่อหุ้มสมอง
อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- มีไข้สูง
- อาเจียน
- ตาพร่ามัว
- มีอาการซึม
- แขนขาอ่อนแรง
- ปวดต้นคอ คอแข็ง
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
การรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และให้ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะ ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยจะต้องรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น ไม่ต้องผ่าตัดสมอง แต่จะมีการเจาะระบาย CSF ออก หากยังมีอาการปวดศีรษะรุนแรงอยู่
การป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ปรุงอาหารให้สุกเสมอ
- ใช้ยาสเตียรอยด์ เมื่อแพทย์แนะนำเท่านั้น
- หากมีโรคประจำตัว ต้องดูแลรักษาร่างกายให้เป็นอย่างดี
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค และลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการ เป็นยังไง โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เกิดจากอะไร
5 วิธีกินหมูกระทะและอาหารปิ้งย่างให้ปลอดภัย
กรมอนามัยได้แนะนำให้ประชาชนรับประทานหมูกระทะ และอาหารปิ้งย่างอย่างถูกสุขลักษณะ เพราะหากกินแบบไม่ปลอดภัย อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียจากการกินเนื้อหมูดิบได้ รวมถึงการใช้ตะเกียบคีบเนื้อดิบอีกด้วย ซึ่งวิธีการรับประทานหมูกระทะและอาหารปิ้งย่างอย่างปลอดภัย มีดังนี้
1. ปรุงเนื้อให้สุก
คุณควรรับประทานเนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อประเภทใดก็ตาม ละลายหมูแช่แข็ง และควรปรุงให้สุกด้วยความร้อนอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาขึ้นไป อย่างน้อย 5 นาที เพราะการนำเนื้อสัตว์จุ่มลงไปเพียงไม่กี่วินาที อาจทำให้เนื้อได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้
2. ใช้ใบตอง
คุณสามารถใช้ใบตองห่ออาหารก่อนนำไปปิ้งย่าง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณไขมันจากอาหารที่หยดลงบนเตาถ่าน อีกทั้งยังช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอมจากใบตองอีกด้วย
3. เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งน่าเชื่อถือ
หากคุณต้องการซื้อเนื้อสัตว์มาทำอาหารเอง ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากตลาดสด หรือโรงงานที่น่าเชื่อถือ ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันติดน้อยที่สุด หรือตัดส่วนที่เป็นไขมันออกก่อนนำไปปรุงอาหาร เพื่อลดไขมันที่หยดลงบนเตาถ่าน และหลังจากปิ้งย่างเนื้อสัตว์แล้ว ควรหั่นส่วนที่ไม่ออกให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัย
4. แยกใช้อุปกรณ์
แยกอุปกรณ์และภาชนะต่าง ๆ ระหว่างเนื้อสุกกับเนื้อดิบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเขียง ที่คีบ และตะเกียบ เพราะการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกัน จะทำให้เชื้อโรคในเนื้อดิบเข้ามาปนเปื้อนกับเนื้อสุกได้ และควรระมัดระวังการใช้ตะเกียบที่คีบเนื้อดิบ คีบเนื้อสุกเข้าปาก ควรใช้อุปกรณ์ที่คีบหรือตะเกียบแยกจะดีกว่า
5. เลือกร้านอาหารที่สะอาด
เลือกรับประทานร้านหมูกระทะหรือร้านปิ้งย่างที่ใช้อุปกรณ์และภาชนะแยกกันอย่างชัดเจน และใช้เตาที่ช่วยลดหรือป้องกันน้ำมันหยดลงบนเตาไฟได้ เช่น เตาไฟฟ้าหรือเตาไร้ควัน ที่จะช่วยควบคุมความร้อนได้มากกว่าการใช้เตาถ่านทั่วไป และยังปลอดภัยกว่าการรับประทานเตาถ่านแบบทั่วไป
ที่มา : praram9.com, srinagarind.md.kku.ac.th, thaipbs.or.th
แม้ว่าหมูกระทะจะเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน แต่ก็ควรรับประทานให้ถูกวิธี เพราะการรับประทานหมูดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ คุณควรแยกอุปกรณ์ภาชนะในการรับประทานอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตะเกียบ เพราะหากเรานำมาใช้คีบหมูดิบ แล้วนำมากินอาหารต่อ ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียด้วยเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สูตรหมักหมูสามชั้น อร่อยนุ่ม กินเพลินทุกคำ อร่อยทั้งครอบครัว
7 น้ำจิ้มหมูกระทะ น้ำจิ้มสุกี้ สูตรเด็ด ยิ่งกินยิ่งอร่อย ที่อยากแนะนำ!
เปิดวาร์ป! 15 ร้านหมูกระทะ กรุงเทพ อร่อยฟิน พาลูกตะลุยชิมตามลิซ่า!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!