ในยุคปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อมากมาย ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณแม่ที่อยู่ในระยะการตั้งครรภ์ต้องตื่นตระหนกเป็นพิเศษ แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมากับลูกในท้องหลังคลอดอีกด้วย รายงานล่าสุดได้มีการแจ้งเตือนถึง การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่นำโดย ยุงลาย “โรคติดเชื้อไวรัสซิกา” ซึ่งมีผลวิจัยออกมาว่า โรคนี้สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ทำให้ลูกน้อยเสี่ยงคลอดออกมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น
เตือนคุณแม่ตั้งครรภ์! โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เสี่ยงลูกน้อยคลอดออกมาผิดปกติ
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชน ว่า ในช่วงนี้ได้มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลายอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะโรคไวรัสซิกา ซึ่งทาง สคร.9 ได้เผยว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 ในประเทศไทย มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 19 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยได้มากสุดใน 2 จังหวัด ภาคอีสานใต้ คือ จังหวัดสุรินทร์ จำนวนผู้ป่วย 14 ราย และจังหวัดนครราชสีมา จำนวนผู้ป่วย 5 ราย โดยแบ่งจำนวนกลุ่มอายุผู้ป่วยเป็น 3 อันดับ ตามลำดับ ดังนี้
- 10-14 ปี
- 0-4 ปี
- 5-9 ปี
โดยนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า โรคนี้สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ความพิการทางสมองและระบบประสาท ซึ่งจะส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และเสี่ยงที่จะทำให้ลูก มีพัฒนาการช้าลงหลังคลอดอีกด้วย
ไวรัสซิกา คืออะไร?
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับ โรคไข้เลือดออก และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยสาเหตุหลักของการติดเชื้อของโรคนี้เกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด และช่องทางอื่น ๆ โดยทางกรมควบคุมโรคได้ออกมาเตือนว่า ผลการรายงานล่าสุดที่ประเทศยุโรป เชื้อไวรัสซิกา สามารถแพร่ผ่านทางเลือด ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเชื้อไวรัสซิกา สามารถอยู่ในน้ำอสุจิ ได้ราว ๆ 3 เดือน หรือมากกว่านั้น และหากมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการติดเชื้อ เมื่อคุณแม่ได้เกิดการตั้งครรภ์ เชื้อของโรคนี้ก็จะสามารถแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ ได้เช่นกัน
อาการของโรคไวรัสซิกา
อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซิกา ได้แก่ ผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรงมาก และอยู่ในระยะเวลาประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก โดยทางแพทย์ได้ออกมาชี้แจงว่า คุณแม่ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และได้รับการแพร่จาก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทารกที่คลอดออกมาอาจไม่ได้มีขนาดศีรษะที่เล็กเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับขนาดสายพันธุ์ที่ได้รับ หรือ อาจมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไวรัสซิการะบาดหนัก เตือนคนท้องให้ระวัง อาจทำให้ลูกพิการทางสมอง
วิธีการป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
นายแพทย์ ทวีชัย วิษณุโยธิน ได้แนะนำแนวทางการป้องกัน โรคไวรัสซิกา ให้กับทางประชาชน โดยเฉพาะแม่ ๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด และไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากคุณแม่ได้ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด แต่ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์และเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อที่จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
และที่สำคัญ สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ สามารถป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน เช่น เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บขยะภายในบริเวณบ้านและชุมชนให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ รวมไปถึงการทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วย และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
โดยสรุปแล้ว คุณแม่ที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ รวมไปถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ควรหันมาใส่ใจมาตรการ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นพิเศษ เพื่อสุขภาพ และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยหลังคลอด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคจากยุง มีอะไรบ้าง อันตรายมากแค่ไหน มีวิธีป้องกันโรคจากยุงอย่างไร?
จับตา 5 โรคติดต่อ ที่มีแนวโน้มระบาดปี 2567 เด็กเล็ก-คนท้องต้องระวัง!
5 วิธีปกป้องลูกรักจากยุงร้าย
ที่มา : amarintv.com , bumrungrad.com, Bright TV
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!