จะไม่ทนอีกต่อไป ครูสาวเปิดหน้าแฉความเละเทะของโรงเรียนบนดอยที่เชียงใหม่ ครูทำร้ายร่างกายเด็ก ลงโทษด้วยลำแข้งจนต้องหนีออกจากโรงเรียน แถมครูยังได้นำเงินบริจาคช่วยเด็กเบิกไปเที่ยวทะเล ร้องคาราโอเกะ จนเงินกองทุนเกือบหมดอีกด้วย ดับความฝันหลังทิ้งเมืองกรุงเพื่อเข้ามาเป็นครูดอย หวังช่วยเด็กด้อยโอกาส
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 หลังเปิดเทอมได้เพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ก็เกิดเรื่องราวที่สร้างความสลดใจในแวดวงการศึกษาไม่น้อย นางสาวเพชรรัตน์ พันธุ์สุจริตไทย ครู คศ.1 ที่รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่แมะ จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แฉพฤติกรรมของครูและบุคลากรในโรงเรียนบางคน ที่ทำหน้าที่อย่างไร้จิตสำนึกทำร้ายได้แม้กระทั่งเด็กนักเรียนที่ไม่มีทางสู้ เธอมองว่าเข้าข่ายทำร้ายร่างกาย และเป็นการทารุณกรรมเด็ก
โดยนางสาวเพชรรัตน์ ได้นำภาพเหตุการณ์ดังกล่าวที่ครูผู้ดูแลหอพักของโรงเรียน กำลังถือไม้เรียวสอบสวนความผิดเด็กนักเรียนชาย 4 คน บนลานข้างหอพัก หลังจากพบว่าขนมในห้องพักครูถูกขโมยไป ในวิดีโอจะเห็นได้ว่าครูกำลังสอบสวนเด็กในลักษณะข่มขู่ ก่อนจะใช้เท้าเหยียบบ่าของเด็กชายคนหนึ่ง และถีบจนเด็กล้ม จากนั้นได้ใช้ไม้ตีเด็กชายอีกคนหนึ่งที่อยู่ข้าง ๆ กัน และใช้เท้าเตะจนล้มคว่ำ ขณะเดียวกันเด็กชายทั้งสองร้องไห้และอยู่ในอาการหวาดกลัว หลังจากเกิดเรื่องทำให้เด็กชาย ป.3 อายุ 10 ขวบ หนึ่งในสองเด็กที่ถูกทำร้ายผวาหนัก จนไม่กล้ามาโรงเรียนอีกเลย และได้หนีกลับไปอยู่กับมูลนิธิเอกชนที่อุปการะอยู่ก่อนหน้า
นางสาวเพชรรัตน์ เผยว่า เหตุการณ์ในภาพเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้มีครูบางคนมาเล่าให้ฟัง และบอกว่าอยากดูคลิปหรือไม่ ส่วนตัวเธอเองไม่ชอบความรุนแรงจึงไม่ได้ดู แต่ในใจลึก ๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ยอมรับว่าเก็บเงียบไว้นาน และร่วมกันปกปิด เนื่องจากกลัวผลกระทบกับหน้าที่การงาน เพราะเธอทำหน้าที่เป็นรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนในลำดับที่ 2 หากเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา อาจถูกลงโทษไปด้วยในฐานะผู้บังคับบัญชา
และความรุนแรงต่อเด็กไม่ได้มีแค่เหตุการณ์ที่เป็นข่าวเท่านั้น ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ครูผู้ดูแลหอพักคนเดียวกัน ยังได้ลงโทษเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งที่คิดว่าไปพังประตูห้องน้ำอีกด้วย ซึ่งเด็กคนนั้นอายุเพียง 11 ขวบเท่านั้น ทำให้หวาดกลัวจนวิ่งหนีเข้าป่า ก่อนที่ภายหลังจะยอมกลับมาเรียนต่อ
และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ครูฝ่ายการเงินได้นำเอกสารแผ่นหนึ่งมาให้ดู พร้อมขอให้ช่วยเหลือ โดยในเอกสารระบุว่า ผู้บริหารและครูบางคนได้เบิกเงินในกองทุนช่วยเหลือเด็กที่มีผู้บริจาคมาให้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อ้างว่าไปราชการที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งมีทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเหมารถ ค่าน้ำมันรถ รวมเป็นเงิน 37,100 บาท แต่ในความจริงเป็นการเดินทางไปส่งผู้บริหารระดับเขตคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีหนังสือไปราชการตามระเบียบ
นอกจากนี้ ยังได้มีการเบิกเงินจากกองทุนเดินทางไปที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อซื้อโซลาร์เซลล์ แต่พบว่าได้นำเงินบางส่วนไปเที่ยวคาราโอเกะ โดยมีครูคนหนึ่งที่เดินทางไปด้วย โดยใช้เงินไป 15,000 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินบริจาค และได้ทราบว่าก่อนเปิดเทอมมีเงินบริจาคในกองทุนประมาณสองแสนบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงสามหมื่นกว่าบาทเท่านั้น
สำหรับเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีใด ๆ แต่ พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้สั่งการให้ตำรวจ สภ.เชียงดาว เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมให้การช่วยเหลือกับผู้ปกครองเด็ก รวมทั้ง ครูเพชรรัตน์ ตามกรอบของกฎหมายอีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กโดนทำร้ายร่างกาย สังเกตอย่างไร? ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าลูกโดนทำร้ายร่างกาย
ครูทำร้ายร่างกายเด็ก พ่อแม่มีวิธีรับมือยังไงบ้าง ?
เมื่อครูกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะด้วยการทำร้ายทางร่างกาย หรือทำร้ายด้านจิตใจด้วยการใช้คำพูดด่าทอรุนแรง และชอบอ้างว่าเป็นการลงโทษ เพราะเด็กทำผิดหรือเพราะหวังดีก็ตาม แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม การใช้ความรุนแรงกับเด็กก็นับเป็นความทารุณที่ยากจะเข้าใจได้เช่นเดียวกัน เพราะผลกระทบที่เกิดกับเด็กผู้ถูกกระทำนั้น อาจจะร้ายแรงเกินกว่าที่ครูคนหนึ่งจะรับผิดชอบได้ไหว
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกกำลังถูกคุณครูหรือบุคลากรของโรงเรียนทำร้ายให้บาดเจ็บหรือทำให้หวาดกลัว นอกจากรีบดำเนินการให้ถึงที่สุดแล้ว อย่าลืมเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจของลูกให้กลับมา เลิกหวาดกลัว และสอนให้เขารู้จักปกป้องตัวเองด้วยการรีบบอกคุณพ่อคุณแม่ทันทีหลังจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พอจะช่วยให้ลูกรับมือกับความรู้สึกนี้ได้ มีดังนี้
1. เปิดโอกาสให้ลูกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เด็ก ๆ ที่เพิ่งผ่านการโดนทำร้ายมาอาจจะยังรู้สึกหวาดกลัว และไม่กล้าพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าและระบายความในใจออกมา โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยปลอบด้วยความรัก ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเยียวยาจิตใจของลูกเลยก็ว่าได้
2. กระตุ้นความเชื่อมั่นในตัวลูก
เด็กที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนใหญ่แล้วมักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความมั่นใจ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องโดนตำหนิและลงโทษอยู่เสมอ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกเป็นอย่างมากเลยค่ะ สิ่งที่คุณพ่อคุณทำได้ก็คือ ทำให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง ด้วยการกล่าวชื่นชมว่าลูกทำสิ่งต่าง ๆ รวมถึงให้โอกาสลูกได้ดูแลและช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ
3. สอนให้ลูกรู้จักแสดงความเสียใจออกมา
การสอนให้ลูกยอมรับว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ เช่น หากถูกคุณครูที่โรงเรียนใช้ความรุนแรง ลูกรู้สึกเจ็บทั้งทางร่างกายหรือรู้สึกเสียใจที่ครูมีพฤติกรรมอย่างนั้น ก็สามารถแสดงออกหรือบอกให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้เลย จะทำให้เขากล้าคุยทุกอย่างกับพ่อแม่มากขึ้น
4. สอนให้ลูกรู้ว่าความเจ็บปวดมันจะค่อย ๆ หายไป
การทำร้ายร่างกายเด็ก ถือเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาก ๆ จนกลายเป็นความทรงจำที่ไม่ดีในวัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเยียวยาจิตใจของลูกด้วยการสอนให้ลูกเข้าใจว่าความเจ็บปวดหรือสิ่งไม่ดีที่ลูกเจอ มันจะเกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อโตขึ้นเดี๋ยวมันจะค่อย ๆ หายไปเอง
เมื่อไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกถูกทำร้ายร่างกาย สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการทำความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของลูก เพื่อไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมันอาจจะนำไปสู่แผลในใจของเขาได้เมื่อโตขึ้นค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกได้ เมื่อเขารู้สึกต่อต้านการไปโรงเรียน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พี่เลี้ยงทำร้ายร่างกาย เด็ก 1 ขวบ จับหัวกระแทกพื้นปูนจนสมองบวม
ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
พ่อแม่ที่ตีลูก ดุด่าลูก ใส่อารมณ์กับลูก ระวังลูกโตไปเป็นเด็กเสียคน ไร้วินัย
ที่มา :
thairath.co.th
aboutmom.co
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!