เมื่อพูดถึงการตั้งครรภ์ มีหลายสาเหตุที่ทำให้แม่ท้อง คลอดก่อนกำหนด ซึ่งคุณแม่บางคนอาจเป็นการคลอดแบบรู้ตัว หรือบางคนอาจคลอดโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดังเช่นแม่รายนี้ที่ล่าสุด สาวปวดท้องคลอดไม่รู้ตัว เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว กลับต้องช็อกเมื่อเห็นลูกหลุดบนชักโครก งานนี้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือด่วน !
เหตุเกิดที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา โดยเจ้าหน้าที่สมาคมอยุธยารวมใจ หน่วยกู้ภัยอยุธยา ได้รับแจ้งเหตุหญิงคลอดลูกในห้องน้ำภายในหอพัก โดยระบุว่า สาวปวดท้องคลอดไม่รู้ตัว หลังรับแจ้งนำกำลังไปตรวจสอบ พร้อมประสานรถกู้ชีพจากโรงพยาบาล เพื่อให้การช่วยเหลือ
ภายในห้องพักดังกล่าวที่ชั้น 3 ห้องเลขที่ 1305 ภายในห้องน้ำพบ น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 29 ปี ชาวเมียนมา อยู่ในห้องน้ำ ลักษณะนั่งยองอยู่บนโถส้วม ได้คลอดลูกออกมาเป็นเพศหญิง โดยเด็กทารกนั้นผิวเริ่มเขียว แต่ยังมีชีพจรอยู่ เจ้าหน้าที่กู้ภัยอยุธยาจึงช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมกับประสานแพทย์ และเคลื่อนย้ายนำตัวส่งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เบื้องต้นแม่ปลอดภัย ส่วนทารกต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
สอบถามเพื่อนบ้านที่อยู่ห้องข้างเคียง เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์ธรรมชาติไทยแลนด์ กล่าวว่า ตนได้รับแจ้งว่ามีหญิงสาวคลอดลูกอยู่ในห้องน้ำที่หอพัก จึงได้มาตรวจสอบ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ให้เข้าช่วยเหลือ โดยสาวที่คลอดลูกนั้นได้พักอาศัยอยู่กับเพื่อนสาวที่ห้องกัน 2 คน ขณะนั้น แม่เด็กมีอาการปวดท้องจึงเข้าห้องน้ำ แล้วลูกก็คลอดออกมา ก่อนบอกให้เพื่อนช่วย
กู้ภัยระบุว่า หลังรับแจ้งได้เข้ามาตรวจสอบ พบว่าแม่เด็กนั้นอยู่ในห้องน้ำ โดยคลอดลูกออกมาแล้ว ทารกเป็นเพศหญิง คลอดก่อนกำหนด แม่เด็กบอกว่าตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน แต่ดูแล้วไม่น่าจะใช่ เพราะเด็กออกมาเกือบจะสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้แม่เด็กปลอดภัยดี ส่วนทารกยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ขณะที่เพื่อน ๆ ที่พักอาศัยอยู่ในหอพักดังกล่าว ทราบเรื่องที่แม่เด็กคลอดลูกในห้อง ต่างก็เตรียมนำเลขที่ห้องไปเสี่ยงโชค
สัญญาณคลอดก่อนกำหนดที่ต้องจับตาดูให้ดี
ก่อนจะรู้จักคำว่า “คลอดก่อนกำหนด” ต้องเข้าใจก่อนว่า การคลอดครบกำหนดในทางการแพทย์ คือคลอดในช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ ดังนั้นการคลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จนถึงก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือคลอดก่อน 259 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้าย ซึ่งก็มีวิธีการแบ่งย่อยไปอีก เช่น ถ้าคลอดในช่วงอายุครรภ์ 34-36 สัปดาห์ 6 วัน เรียกว่า “การคลอดก่อนกำหนดช่วงหลัง” ภาวะแทรกซ้อนก็จะน้อยกว่าการคลอดก่อนกำหนดในช่วง อายุครรภ์ 33 สัปดาห์กับ 6 วันลงมา ซึ่งเรียกว่า การคลอดก่อนกำหนดช่วงต้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น ทั้งนี้แม่ท้องควรรู้เบื้องต้นว่า การคลอดก่อนกำหนดเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงแบบนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : การคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงอันตรายแค่ไหน แม่ท้องต้องรู้
ปัจจัยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
- การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มาก ๆ โดยเฉพาะแม่อายุครรภ์อ่อน
- การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การทานยาบางชนิด ในขณะที่ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์
- น้ำหนักตัวของแม่ที่ตั้งครรภ์น้อยเกินไป
- การได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะธาตุสังกะสี
- ทำงานหนักมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ หรือทำอาชีพที่ต้องยืนตลอดเวลา
- การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
- การเสียสมดุลฮอร์โมน
- การติดเชื้อในช่วงตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด ทางเดินปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน หรือการติดเชื้อในช่องคลอดและน้ำคร่ำ เป็นต้น
- ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท
- การหดรัดตัวของมดลูกที่ไวต่อการกระตุ้นและรุนแรง
- ภาวะรกเกาะต่ำ ใกล้ปากมดลูก
- อาการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือการมีโรคประจำตัวของแม่ที่ตั้งครรภ์ เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจ ปอด ตับ หรือเบาหวาน
- ความเครียดในขณะตั้งครรภ์
- แม่ท้องที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี เนื่องจากร่างกายยังไม่พร้อมเต็มที่ต่อการตั้งครรภ์
- แม่ท้องที่มีอายุเกิน 35 ปี
- ภาวะที่มีความผิดปกติของมดลูก
- การตั้งครรภ์แฝด
- มีภาวะทารกในครรภ์พิการ
- แม่ท้องที่เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด จะมีความเสี่ยงต่ออวัยวะที่พัฒนาไม่สมบูรณ์ และเกิดอาการต่าง ๆ แทรกซ้อนได้ และอาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ที่สำคัญในระยะยาว อาจพบปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจวาย พิการแต่กำเนิด มีความผิดปกติของสมอง ชัก หูหนวก ตาบอด และการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ไอคิวต่ำ เป็นต้น
สัญญาณเตือน อาการคลอดก่อนกำหนด
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการน้ำเดิน
- รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยผิดปกติ
- มีอาการท้องแข็งบ่อย
อันตรายที่ควรรีบไปโรงพยาบาล
โดยทั่วไปแล้ว ถ้ามีอาการน้ำเดินควรจะต้องมีการติดต่อแพทย์ และรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ทารกกำลังจะคลอดแล้วก็เป็นได้ค่ะ แต่สำหรับแม่บางคนอาจจะยังไม่มีอาการ และยังสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าคุณแม่มีอาการลักษณะนี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะสัญญาณเหล่านี้อาจเป็นการติดเชื้อได้ ได้แก่
- มีไข้สูง
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- เหงื่อออกมาก
- มดลูกบาง
- มีอาการปวดท้องอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่ปวดคลอดลูก
- ของเหลวที่ไหลออกมามีกลิ่นเหม็น
น้ำคร่ำแตกไม่รู้ตัวเป็นอย่างไร
เป็นเรื่องปกติที่ไม่สามารถช่วงเวลาที่น้ำคร่ำจะแตกได้แบบเป๊ะ ๆ และน้ำคร่ำอาจจะแตกขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ตั้งแต่ช่วง 37-40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ดังนั้นไม่แปลกหากเป็นการที่ น้ำคร่ำแตกไม่รู้ตัว อีกทั้งน้ำคร่ำแตกกับปัสสาวะ สามารถแยกออกด้วยตัวเองได้ยาก แต่ถ้าหากหลังจากนั้น มีอาการปวดท้องตามมาภายใน 12-24 ชั่วโมง ก็จะสามารถยืนยันได้ชัดว่านั่นคือ น้ำคร่ำแตก
ทั้งนี้หากแม่ตั้งครรภ์ที่รู้ตัวว่า มีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัย ควรงดหรือกิจกรรมเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ที่สำคัญการฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่ม จะช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ไม่เครียด และมาตรวจตามที่หมอนัดทุกเดือน ก็จะสามารถคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการคนท้องไตรมาส 3 ความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และสัญญาณใกล้คลอด
คลอดก่อนกำหนด ภาวะเสี่ยงที่ต้องใส่ใจ
ภาวะโลกร้อนทำให้ทารกเกิด ภาวะตายคลอด จริงหรือไม่!?
ที่มา :
mgronline.com
samitivejhospitals.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!