‘มูลนิธิกระจกเงา’ เผยปมในใจนิ่มแม่น้องต่อ ก่อนแม่รับสารภาพความผิดที่ก่อ หวังให้เป็นบทเรียน เส้นทางชีวิตของเด็กหญิงคนหนึ่ง ก่อนมาเป็นผู้กระทำความผิดในตอนนี้ มีพื้นฐานและเติบโตขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อมอย่างไร
จากกรณีการหายตัวไปอย่างปริศนาของน้องต่อ เด็กชายวัย 8 เดือนเป็นระยะเวลากว่าครึ่งเดือน ยังไร้วี่แววของเด็กน้อย โดยตำรวจสอบบุคคลต้องสงสัยและหาพยานหลักฐาน จนเหลือข้อสงสัยเพียงพ่อและแม่เด็ก กระทั่งนำเข้าสู่เครื่องจับเท็จ เพื่อใช้ประกอบสำนวนคดี ก่อนที่ล่าสุดในวันนี้ (27 ก.พ. 2566) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยความคืบหน้าทางคดีไว้ว่า นางสาวนิ่ม อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นแม่แท้ ๆ ของน้องต่อ วัย 8 ขวบ ยอมสารภาพแล้วว่า เป็นคนนำลูกตัวไปทิ้งลงแม่น้ำ
มูลนิธิกระจกเงา เผยคำสัมภาษณ์จาก นิ่มแม่น้องต่อ ที่เปิดใจตั้งแต่ 23 ก.พ. 2566 ก่อนที่จะให้การรับสารภาพความผิดที่ได้ก่อ เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของตนเอง ตั้งแต่เด็กจนโต โดยระบุข้อความไว้ว่า
“หนูไม่เคยมีความฝัน ตอนเด็ก ๆ ไม่เคยคิดฝันว่าอยากเป็นอะไร แค่คิดว่าจะได้ทำงาน ที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่คิดมีความฝันว่าจะเป็นอาชีพอะไร ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นพยาบาล หนูไม่เคยคิดไปไกลขนาดนั้น ดูความเป็นอยู่ของที่บ้านหนูสิ หนูคิดว่าหนูไปถึงตรงนั้นไม่ได้”
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กชาย 8 เดือนหายตัวปริศนา ! ล่าสุดใช้โดรนบินช่วยแล้ว แต่ยังหาไม่เจอ !
“หนูไม่มีบ้าน เกิดมาไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่แต่บ้านเช่า และบ้านในบ่อปลา ที่พ่อรับจ้างเฝ้าบ่อ หนูอยู่ในครอบครัวที่ลำบากตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง สมัยก่อนพ่อทำงานอยู่ในโรงรับซื้อของเก่า บางวันหนูก็ไปช่วยพ่อคัดแยกขวด”
“หนูไม่เคยมีเพื่อนสนิท มีแค่เพื่อนที่รู้จักกัน อาจไปไหนด้วยกันบ้าง แต่ไม่เคยได้รู้เรื่องส่วนตัว ไม่สนิทกันจริง ๆ เพราะตอนที่อยู่โรงเรียนไม่ได้มีอะไรได้ทำด้วยกัน”
“ที่โรงเรียน หนูโดนบุลลี ทั้งคำพูด และการกระทำ เพื่อนที่โรงเรียนทำเหมือนหนูไม่มีตัวตน เป็นอากาศ หนูก็ต้องอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว มันเลยรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน พ่อก็ถามว่าวันนี้ไม่ไปโรงเรียนเหรอ หนูก็ตอบว่าไม่อยากไปแล้ว ลึก ๆ ใจอยากเรียนนะ แล้วผลการเรียนหนูก็ไม่ได้แย่นะ”
“หนูแทบไม่เคยกอดแม่เลย ไม่ได้แสดงความรักต่อกัน ตั้งแต่หนูอยู่ชั้นประถม แม่หูตึง พูดไปเขาก็ไม่ได้ยิน ทำให้พอเราคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ค่อย ๆ ห่างกันไป เหมือนไม่สนิทกัน อยู่ด้วยกันในบ้านแต่เราอยู่กันแบบห่าง ๆ จนแม่ล้มป่วยติดเตียง ก็ได้ดูแลแม่มากขึ้น พาไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล”
“หนูรักพ่อนะ มีอะไร ก็มาบอกพ่อ คุยกับพ่อ แต่ไม่ชอบเวลาพ่อกินเหล้าเมาแล้วโวยวาย หนูเห็นพ่อทะเลาะกับแม่ตลอด มันบ่อยมาก เห็นตั้งแต่เด็ก ๆ หนูไม่ชอบเลย ตอนเล็ก ๆ หนูนั่งร้องไห้ พยายามขอร้องให้พ่อหยุด แต่เขาก็ไม่หยุด”
บทความที่เกี่ยวข้อง : อุทาหรณ์ เด็กชายวัย 2 ขวบ อยู่ลำพัง ตกตึก 14 ชั้น พ่อแม่มัวแต่กินเหล้า
“หนูร้องไห้บ่อยมาก จะหยุดก็ตอนเขาเลิกทะเลาะกัน พอหนูโตขึ้น ความรู้สึกมันก็ชาชิน ชินแต่เจ็บปวด ยายบอกว่า ปล่อยเลย มึงไม่ต้องไปสนใจว่าเขาจะทะเลาะ เดี๋ยวเขาก็หยุดกันเอง แต่ในใจหนูมันก็ยังร้องอยู่ จากหยุดร้องไห้กลายเป็นไปด่าพ่อแทน เหมือนเราเริ่มเป็นปากเป็นเสียงให้กับแม่ รู้สึกว่าบ้านหนูไม่มีความสุขเลย”
“ความสุขของหนู มันคือการออกมานอกบ้าน ตั้งแต่มาอยู่กับพุดได้ใช้ชีวิตอยู่เอง ถ้าหนูมีอะไรไม่สบายใจ เขาก็จะพูดให้หนูสบายใจ เหมือนเป็นหลักในชีวิต ที่คุยกันได้ ปรึกษากันได้”
“ตอนคลอดน้องต่อ เจ็บท้องมาก เป็นความเจ็บที่สุดในชีวิต ไม่ได้ตั้งใจว่าจะมีน้อง แต่หลุดมา รู้ตัวว่ามีลูกตอนท้องได้เดือนนึง พอรู้ หนูตั้งใจเก็บไว้ คิดว่ามีก็มี ไม่เคยคิดว่าจะเอาเขาออก เราไม่มีเงินเก็บสำหรับคลอดลูกเลย เราไม่มีอะไรเลยจริง ๆ มีแต่ของที่คนอื่นให้มา ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลหนูก็ยังไม่มีอะไรเลย”
“ถามว่า ถ้ากลับไปแก้ไขอดีตได้ จริง ๆ มันก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว วันนี้เป็นวันที่หนูรู้สึกไม่เหลือใคร ไม่เหลือใครจริง ๆ ”
น้องนิ่ม เด็กหญิงวัย 17 ปี ให้สัมภาษณ์เมื่อค่ำวันที่ 23 ก.พ. 2566 ทีมงานได้สัมภาษณ์น้องนิ่ม โดยการขออนุญาตและแจ้งช่องทางเผยแพร่ สัมภาษณ์เมื่อ 23 ก.พ. 2566 เมื่อเรียบเรียงบทความเสร็จในวันรุ่งขึ้น ทีมงานตัดสินใจไม่เผยแพร่ เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีกระแสข่าวค่อนข้างรุนแรง เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงวันนี้แล้ว จึงขอลงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพื่ออยากให้สังคมได้มองเห็นว่าเส้นทางการมีชีวิตของเด็กหญิงคนนึงก่อนที่จะมาสู่ผู้กระทำความผิดในวันนี้มีรากฐานและเติบโตขึ้นมาจากสิ่งใด.
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีเลี้ยงลูกสาวสำหรับคุณพ่อ เลี้ยงยังไงให้ได้ใจลูกสาว
ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
คุณแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม ควรรับมืออย่างไร? มาดูกัน
ที่มา : sanook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!