จากข่าวที่เป็นกระแสระดับประเทศอยู่ตอนนี้ สำหรับกรณีดังที่เกิดขึ้นที่เมืองฮุงเยิน ณ ประเทศเวียดนาม เมื่อพบว่าเด็กชายวัย 10 ขวบ เดินทางมาพบแพทย์ หลังจากมีอาการ ปวดหู และคัน นานกว่าสองสัปดาห์
ทีมแพทย์ของเวียดนาม ถึงกับต้องขนลุก เมื่อตรวจพบสาเหตุของอาการปวดหูของเด็กชาย วัย 10 ขวบ โดยเหล่าบรรดาแพทย์ ได้ตรวจพบว่า ภายในช่องหูของเด็กชายวัย 10 ขวบนั้น พบต้นอ่อนของพืช เจริญเติบโตอยู่ถึง 4 ต้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีรายงานระบุเพิ่มเติมว่าเป็นต้นอ่อนของพืชพันธุ์อะไร
เมื่อย้อนกลับไป ประมาณสองสัปดาห์ก่อน เด็กชายคนนี้เผยว่า ได้ทำการเด็ดดอกไม้ และนำมาแหย่รูหูตัวเองเล่น จึงทำให้ทีมแพทย์คาดการณ์ ไว้ว่าเมล็ดพืชน่าจะร่วงเข้าไปช่องหู ระหว่างที่เด็กชายได้นำดอกไม้มาแหย่ใส่หูตัวเอง เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมภายในหูนั้น ทำให้เมล็ดพืชได้งอกออกมาเป็นต้นกล้า ทั้ง 4 ต้นดังที่รายงานไปแล้ว
ในเคสต้นไม้โตในหูของเด็กชายวัย 10 ขวบคนนี้ นับได้ว่าเป็นเคสแรกของประเทศเวียดนามที่มีพืชงอกในหูก็ว่าได้ โดยหากย้อนไปเมื่อปี 2019 ก็ได้มีแหล่งข่าวรายงานว่า พบเคสผู้ป่วยเจ็บหูเพราะมีผึ้งได้เข้าไปทำรัง ก่อนที่ต่อมาจะเจอเคสเห็ดงอกในช่องหูของหญิงสาว และในปี 2021 ก็พบเคสชายหนุ่มมีเห็ดงอกในช่องหูเช่นกัน
ทั้งนี้เคสต้นไม้งอกในช่องหูนั้น เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศจีน โดยเป็นเคสที่แม่ได้ทำการแคะหูให้ลูกชายวัย 6 ขวบ ก่อนจะพบว่ามีเมล็ดพืชกำลังเจริญเติบโตอยู่ภายในช่องหูของลูกตัวเอง ทำให้สุดท้ายแล้วเด็กชายคนดังกล่าวต้องเข้ารับการผ่าตัด นำเมล็ดพืชในหูออกมา
คงจะเรียกได้ว่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้ปกครองก็ว่าได้ ว่าไม่ควรปล่อยลูก ๆ ให้เล่นอยู่คนเดียวและนอกสายตา เพราะด้วยความเป็นเด็กและรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจมีการเล่นซน โดยการนำสิ่งต่าง ๆ ไปแหย่ ไปยัดตามรู ต่าง ๆ ของร่างกาย จนเกิดเป็นอันตรายร้ายแรงอย่างที่เป็นข่าวได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อแม่ใจสลาย! ลูกบ่นเจ็บหูเจ็บตา ผ่านไป 2 วันถึงรู้สาเหตุว่า ลูกสาวถูกเห็บกัด
ขี้หูคืออะไร
ขี้หูของเด็กจะมีลักษณะคล้ายกันกับผู้ใหญ่ มีลักษณะเหนียวและมีสีเหลืองในช่องหู ซึ่งจะประกอบไปด้วยเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ถูกปล่อยออกมาจากต่อมที่อยู่ในเยื่อบุหู ถึงแม้ว่าขี้หูอาจจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในบางครั้ง แต่นั้นก็เป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า สุขภาพของหูยังมีความปกติดีอยู่ โดยขี้หูนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องไม่ให้น้ำหรือเชื้อโรคเข้าสู่ในร่างกายเราได้อย่างง่ายนั่นเองค่ะ
ลูกมีขี้หูปริมาณไหน จึงถือว่าปกติ
ถึงแม้ลูก ๆ จะยังมีอายุน้อย แต่การที่ลูกมีขี้หูอยู่นั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ ขี้หูของลูก อาจมีไม่เท่ากันในแต่ละข้าง หูข้างซ้ายอาจมีขี้หูเยอะกว่าหูข้างขวาก็สามารถเป็นไปได้ ไม่ใช่ผิดเรื่องปกติแต่อย่างใด แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าหูของลูก อุดตันไปด้วยขี้หูที่แข็ง หรือมีสีเหลืองอยู่เต็มไปหมด นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติก็เป็นได้
สังเกตลูก ปวดหู มีความผิดปกติหรือไม่?
เด็กและทารกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากมีขนาดช่องหูที่เล็ก สามารถดักจับฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกขนาดเล็กได้ง่ายกว่า ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณแม่สามารถสังเกต การติดเชื้อในหูของลูกด้วยตัวเอง ได้จากสิ่งนี้
- ลูกพยายามจับหูอยู่ตลอดเวลา
- ลูกงอแงเวลานอน อาการติดเชื้อที่หูอาจทำให้ระคายเคือง หากลูกน้อยงอแงก่อนนอนหรือนอนไม่หลับ อาจเป็นไปได้ว่าลูกจะติดเชื้อที่หู
- ลูกมีไข้ สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่ลูกมีไข้
- มีน้ำไหลออกจากหูลูก
- ลูกไม่ตอบสนองต่อเสียงที่เบา
วิธีทำความสะอาดหูลูก อย่างถูกต้อง
1. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด
การทำความสะอาดหูของทารกด้วยผ้าขนหนูเป็นวิธีที่ดีที่สุด หมอเด็กส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทำความสะอาดด้วยวิธีนี้ เนื่องจากเป็นวิธีที่อ่อนโยนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหากคุณแม่ทำอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เมื่อเราใช้ผ้าขนหนู เราจะทำความสะอาดหูด้านนอกของทารก นั้นจะทำให้ช่วยลดการสะสมของขี้หูด้านนอกได้ด้วย
- ใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ที่เหมาะกับเด็ก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปและสามารถหาซื้อได้ง่ายอีกด้วย
- จากนั้นจุ่มผ้าขนหนูลงไปในน้ำอุ่น บิดผ้าเอาน้ำออก ลองยกผ้าขึ้น ถ้าหากยังมีน้ำหยดลงมาแสดงว่าผ้ายังเปียกเกินไป อาจจะทำให้น้ำหยดลงไปในช่องหูของลูกได้ จะทำให้เกิดการระคายเคืองและอุดตันมากยิ่งขึ้น
-
เช็กให้แน่ใจว่าอุณหภูมิของผ้า ไม่ร้อนเกินไป โดยคุณแม่สามารถทดสอบอุณหภูมิได้โดย วางผ้าขนหนูไว้ที่ด้านในข้อมือ ถ้ารู้สึกร้อนเกินไป ให้พักไว้สักครู่ก่อนจะทดสอบอุณหภูมิอีกครั้ง หรือลองวางไว้บนแขนของลูกและดูว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร ก่อนที่จะนำไปเช็ดบริเวณผิวรอบหูที่บอบบาง ไม่จำเป็นต้องใส่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวลูกลงไปด้วย
- ให้ลูกนอนในท่าที่สบาย โดยเริ่มเช็ดรอบ ๆ หูของลูกก่อน ค่อย ๆ ขจัดคราบสกปรกหรือคราบสะสมต่าง ๆ อย่าใช้ผ้าขนหนูแหย่เข้าไปในช่องหูของลูก เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการอุดตันมากยิ่งขึ้น จากนั้นค่อย ๆ ใช้คอตตอนบัดเพื่อเช็ดส่วนใบหูด้านนอก
- ทำความสะอาดหูลูกอีกข้าง โดยใช้ผ้าผืนใหม่ทำความสะอาด เพื่อลดการแพร่กระจาย หากหูอีกข้างลูกติดเชื้อ
2. ใช้ยาหยอดหูเด็ก
หากขี้หูเด็กอยู่ลึกมาก อาจต้องใช้ยาหยอดหู เพื่อให้ขี้หูไหลออกมา แต่คุณแม่ควรเข้าปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ที่จะให้ลูกใช้ยาหยอดหูหรือรับประทานยาชนิดต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับเด็ก และเพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการใช้ที่เหมาะสม วิธีหยอดคือให้เด็กทารกนอนบนตัก โดยหันหูข้างที่มีขี้หูอุดตันเข้าหาตัวคุณแม่ จากนั้นให้คุณแม่ดึงความสนใจเด็กด้วยกิจกรรมอะไรก็ได้ และค่อย ๆ หยอดยาลงหูลูก ทั้งนี้ ถ้าจะให้ดี ควรทำในขณะที่เด็กง่วงนอน เพราะเด็กจะอยู่นิ่งมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีใช้ ยาหยอดหู หยอดอย่างไรให้ถูกต้อง พร้อมวิธีสังเกตความผิดปกติของหู
ข้อควรระวังในขณะทำความสะอาดหูลูกน้อย
การทำความสะอาดหูของเด็กไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเท่าไหร่ เพราะเด็กอายุยังน้อย ร่างกายบอบบาง หากทำรุนแรงไปเด็กอาจเจ็บได้ หากต้องทำความสะอาดหูเด็ก เราแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
สิ่งที่ควรทำ
- ก่อนทำความสะอาดหู หรือหยอดยาที่หูเด็ก ดูให้แน่ใจว่าลูกอยู่ในอาการสงบ ไม่ดิ้นไปดิ้นมา
- ใช้ผ้าสะอาดและขนนุ่มเช็ดหูเด็กเท่านั้น
- หากเด็กมีขี้หูอุดตันเยอะ ให้เข้าปรึกษาแพทย์
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- อย่าใช้ของแหลม ของมีคม ไม้ปั่นหู หรือสำลีก้านแคะขี้หูให้เด็ก
- อย่าใช้น้ำเย็นเช็ดขี้หูเด็ก
- อย่าฉีดน้ำหรือเทน้ำเข้าหูของเด็กโดยเด็ดขาด
- อย่าเช็ดหูเด็กแรงหรือยัดผ้าเข้าไปในหูเด็กลึกเกินไป
ถึงการที่ลูกน้อยจะมีขี้หูนั้น เป็นเรื่องปกติของร่างกาย แต่คุณแม่ก็ยังต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหูของลูก ว่าพบบาดแผลหรือความผิดปกติบริเวณหูลูกหรือไม่ หากว่าพบความผิดปกติเกิดขึ้น คุณแม่จะได้สามารถพาลูกน้อยไปรักษาได้ทันเวลา และที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือการหมั่นทำความสะอาดหูของลูกอยู่เสมอ เพื่อความสะอาดและลดสาเหตุการติดเชื้อในหูได้ด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
รู้หรือไม่! วิธีทำความสะอาดหูฟัง ทำอย่างไรบ้าง?
บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดหูให้ลูก เด็กปวดหู ทำยังไงดี
ดูแลสุขภาพหู ของลูกน้อยของคุณอย่างไร ให้ถูกวิธี และถูกสุขอนามัย
ที่มา :
https://thethaiger.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!