ถึงแม้ว่าจะมีการใช้ยาลดไข้ เพื่อรักษาอาการป่วยของเด็ก แต่ใช่ว่ายาทุกชนิดจะปลอดภัยเสมอไป เพราะหากไม่ได้ตรวจสอบให้ดี อาจจะพรากชีวิตของลูกน้อยไปได้ ดังเช่นเคสนี้ ที่ยาน้ำลดไข้ ดอค-วัน แม็กซ์ คร่าชีวิตเด็กไปกว่า 18 ราย
เรื่องนี้เกิดขึ้นที่สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน โดยพบว่ายาน้ำลดไข้ ดอค-วัน แม็กซ์ ทำให้เด็กเสียชีวิต โดยยาดังกล่าวถูกผลิตขึ้นโดย บริษัท มาเรียนไบโอเทค จากประเทศอินเดีย พบว่ามีการปนเปื้อนของ สารเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol)
หลังจากที่มีการรายงานข่าวดังกล่าว ว่ายาน้ำลดไข้คร่าชีวิตเด็ก ในสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบแล้วว่ามีจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งก็ได้คำตอบว่า ไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว
นอกจากนี้ อย. ยังได้ตรวจสอบต่อเนื่อง ถึงข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ต โดยพบว่าไม่มีการขายในออนไลน์ และไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป หรือวัตถุดิบที่มาจากบริษัท มาเรียนไบโอเทค อีกด้วย
สำหรับสารปนเปื้อนดังกล่าว จัดเป็นสารต้องห้าม ที่ห้ามใช้ในวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อาทิเช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก ปวดศีรษะ สภาพจิตใจไม่ปกติ ไตวาย และอาจจะอันตราย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม อย. มีมาตรการการกำกับดูแล ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศ อย่างเข้มงวด และจะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สลด ดังเช่นที่เกิดกับกลุ่มเด็กดังกล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปลาแดดเดียวทอดพ่นยาฆ่าแมลง ลูกกินโดยไม่รู้ สุดท้ายต้องหามส่งโรงพยาบาล!
การปนเปื้อนในอาหาร คืออะไร
สารปนเปื้อนในอาหาร (Contaminants) คือ สารที่ปนเปื้อนมากับอาหาร โดยอาจมาจากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการผลิต โรงงาน การดูแลรักษา การบรรจุ ตลอดจนการขนส่ง และการเก็บรักษา หรือเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ยิ่งไปกว่านั้นคือผู้ผลิตบางแห่ง มีการนำสารเคมีผสมในอาหาร ซึ่งสารเคมีบางอย่างนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางชนิดหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมาก อาจถึงแก่ชีวิตได้
สารเคมีปนเปื้อนที่พบได้บ่อย
1. สารบอแรกซ์
พบมากในอาหารประเภทเนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อวัว ฯลฯ เมื่อใส่สารนี้ไปแล้ว จะทำให้อาการมีสีสันที่สวยงาม รสชาติดี และเก็บไว้ได้นาน สารนี้เป็นสารที่ก่อให้เกิด สารไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
2. สารกันรา (กรดซาลิซิลิก)
พบได้ในอาหารประเภท แหนม หมูยอ และผักผลไม้ดอง เช่น มะม่วงดอง ผักกาดดอง มะกอกดอง มะดันดอง ขิงดอง เป็นต้น หากกินอาหารที่มีสารกันราปนเปื้อน พิษของมัน จะเข้าไปทำลายเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เป็นผื่นคันตามตัว อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้
3. สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์)
ส่วนใหญ่จะใส่อยู่ในอาหารพวก ดอกไม้จีน เห็ดหูหนูขาว เยื่อไผ่ หน่อไม้ ถั่วงอก แป้ง หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ หากสารชนิดนี้สะสมในร่างกายมาก ๆ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน หรือหมดสติได้
4. ฟอร์มาลิน
เป็นสารอันตราย ที่ถูกนำมาใช้กับอาหารสด ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เนื้อสัตว์ หรือกระทั่งผัก เพื่อให้มีความสดคงอยู่นาน หากถูกสารปนเปื้อนเข้าไปในร่างกายปริมาณมาก จะทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ปวดหัว ปวดท้อง แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการเหงื่อออก
5. สารตกค้างพวกยาฆ่าแมลง
เป็นสารที่มักตกค้างมากับผัก หรือผลไม้สด ซึ่งสารเหล่านี้มีพิษต่อระบบประสาท ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยง่าย โดยอาการจะรุนแรงมาก หากได้รับสารโดยตรง
วิธีเลี่ยงอันตรายจากสารปนเปื้อน
- เลือกซื้ออาหารจากแหล่งคุณภาพและเชื่อถือได้
- แช่ผักและผลไม้ในสารละลายน้ำส้มสายชู หรือสารละลายด่าง ก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง
- เลือกรับประทานอาหารที่ใช้สีปรุงแต่งจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารจากสารเคมี
- เลือกซื้อสินค้าที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เพื่อรับรองคุณภาพความปลอดภัยอาหาร
อย่างที่บอกค่ะ ว่าสารปนเปื้อน อาจจะพบได้ตามอาหารแทบจะทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่ยาลดไข้ การอ่านฉลากก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ ควรหมั่นสังเกตก่อนให้ลูกรักทาน แต่ถ้าเป็นอาหารประเภทอื่น วิธีเลี่ยงอันตราย ที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ คือ การเลือกซื้ออาหาร จากแหล่งผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และหากมีอาการแพ้ใดเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุด!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สารปนเปื้อนในอาหาร! ที่คุณแม่ต้องระวัง อย่าเผลอให้ลูกน้อยกิน!
รู้หรือไม่! อาการไอ เกิดจากอะไร ? มาดูสาเหตุ พร้อมวิธีการรับมือไปพร้อมกัน
โรค ที บี หรือ วัณโรค มีอาการอย่างไร รักษาแบบไหน ป้องกันได้หรือไม่ ?
ที่มา : www.sanook.com, www.paolohospital.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!