เพราะความคิดถึง ของการแยกกันอยู่ ของภายในครอบครัว เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อย ดังเช่นเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนคนนี้ ที่ เด็กชายคิดถึงพ่อ บอกคิดถึงผ่านกล้องวงจรปิด งานนี้ ทำเอาหลายคนต่างเอ่ยปาก ว่าสงสารเด็กชายตัวน้อย เป็นอย่างมาก เรื่องราวจะเป็นอย่างไร มาติดตามไปพร้อมกันค่ะ
เรื่องราวของครอบครัวชาวจีน ที่มีการเปิดเผยคลิปวิดีโอไวรัลที่ เด็กชายคิดถึงพ่อ บอกคิดถึงผ่านกล้องวงจรปิด โดยเด็กชายคนนี้อายุเพียง 3 ขวบ ล้มลงตรงหน้ากล้องวงจรปิด แต่ไม่ร้องไห้สักนิดเดียว
เพียงเวลาไม่นาน เด็กชายก็พยายามลุกขึ้นมาเอง ก่อนที่จะพูดต่อหน้ากล้องวงจรปิดว่า “พ่อครับ ผมคิดถึงพ่อ เมื่อไรพ่อจะกลับมาที่บ้านเหรอ”
จากการรายงานข่าว ได้ระบุว่า เด็กชายคนนี้อาศัยอยู่กับแม่และยาย ที่บ้านเกิด ส่วนพ่อต้องแยกออกจากบ้าน เพื่อไปทำงานอีกเมืองหนึ่ง พ่อสามารถกลับมาหาลูกที่บ้านได้ เฉพาะช่วงวันหยุดยาวหรือปีใหม่เท่านั้น
ซึ่งหลังจากที่คลิปได้เผยแพร่ออกไป กลายเป็นไวรัลสุดซึ้ง พ่อของเด็กได้เปิดเผยว่า “ผมรู้สึกผิดกับลูกชายมาก ผมจะตั้งใจทำงานให้หนัก เพื่อให้เขามีอนาคตที่ดี ผมจะพยายามพาเขามาอยู่ในเมือง ที่ผมทำงานในปีหน้าให้ได้”
งานนี้ทำเอาชาวเน็ต ต่างสงสารเด็กชายเป็นอย่างมาก และเห็นพ้องตรงกันว่า นี่เป็นอีกหนึ่งครอบครัวชาวจีน ที่พ่อต้องจากครอบครัว จากลูกมาตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อทำงานหาเงินให้กับครอบครัว
วิธีรับมือความเศร้า เมื่อต้องห่างลูกไปทำงาน
ช่วงเวลาแห่งความลำบากใจ มักเกิดกับคนเป็นพ่อเป็นแม่เสมอ หากต้องห่างลูกน้อยไปทำงานเป็นเวลานาน และมีโอกาสได้เจอเพียงวันหยุดยาวเท่านั้น เพราะตลอดเวลาที่ได้กลับมาเจอกัน มันช่วยเติมเต็มความสุขในใจได้เป็นอย่างดี เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปทำงาน ทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดถึงกัน แต่จำเป็นต้องตัดใจ เพื่อกลับไปรับผิดชอบหน้าที่
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่รับมือความเศร้าอย่างไร เมื่อต้องห่างลูกไปทำงาน
ขั้นตอนการรับมือความเศร้าเมื่อต้องจากกันไกล
1. ค่อย ๆ ห่างให้ชิน ห้ามหักดิบ
จริงอยู่ที่การแยกจาก เป็นเรื่องจำเป็น แต่การหักดิบแยกห่างจากกันทันที เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก พ่อแม่จึงควรค่อย ๆ ออกห่าง เพื่อให้ลูกรู้สึกคุ้นชิน อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เป็นวิธีการที่ดีกว่าการหักดิบ อาจจะเริ่มด้วยการให้ลูก อยู่กับพี่เลี้ยง หรือญาติเพิ่มขึ้น และคุณพ่อคุณแม่เริ่มออกไปข้างนอกโดยไม่มีลูก การฝึกด้วยวิธีนี้ จริงอยู่ที่ความกังวลอาจไม่ได้ลดลง แต่ย่อมลดลงแน่นอน
2. ตั้งเป้าว่าทำงานเพื่อลูก
เมื่อต้องกลับไปทำงาน ให้คิดเสมอว่าการทำงานนี้ เป็นการทำงานเพื่อครอบครัว เพื่อฐานะที่มั่นคง โดยบอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ใช่การทิ้งลูกโดยเปล่าประโยชน์ แต่เป็นการทำเพื่ออนาคตของลูก การทำงานอย่างเต็มที่และทุ่มเท จะช่วยให้คลายความคิดถึงลูกไปได้
3. ทำตารางคุยกับลูก
ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย และใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น หากต้องห่างกันไกล แบบไม่สามารถเดินทางได้สะดวก อาจจะใช้วิธีวิดีโอคอลหาลูกเป็นเวลาประจำก็ได้ เพื่อเป็นการทำให้ลูกยังคุ้นชินกับคุณพ่อคุณแม่ หรืออาจจะอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าห่างเหินจนเกินไป
4. บอกลูกเสมอว่าไม่ได้ทิ้ง
การพูดคุย อาจจะเป็นตัวเยียวยาได้ก็จริง แต่เมื่อไม่ได้เจอกันแบบตัวต่อตัว ยิ่งสร้างความอ่อนไหวในใจลูกได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องพูดคุย หรือบอกกับลูกเสมอค่ะ ว่าการห่างกันในวันนี้ เป็นเพียงการห่างเพื่อไปทำงาน และจะกลับมาเจอกันเมื่อไร ไม่ได้เป็นการหายออกจากบ้านไปเฉย ๆ ถึงแม้ว่าการบอกในวันนั้น จะทำให้ลูกต้องร้องไห้งอแง จนไม่สามารถก้าวเดิน แต่อย่างไรเสียก็ต้องบอกค่ะ
เพราะการปลีกตัว และทิ้งลูกไว้ข้างหลัง โดยไม่ได้ชี้แจงอะไร อาจจะเป็นการสร้างแผลใจให้กับลูกได้ นอกจากการบอกลูกแล้ว ต้องบอกคนรอบตัวด้วยว่า ระหว่างที่พ่อแม่ไม่อยู่ ห้ามขู่หรือพูดเล่นในทำนองว่า “แม่จะทิ้งไปแล้วนะ” “ระวังแม่ไปกลับมา” เพราะถ้อยคำเหล่านี้ ต่อให้เป็นการพูดหยอกเล่น หรือขู่เพื่อให้กลัว ก็ย่อมทำให้เกิดเมล็ดพันธุ์ แห่งความไม่มั่นคงในใจลูก
5. ทำใจ
ข้อสุดท้ายที่หนีไม่พ้น นั่นก็คือการทำใจนั่นเองค่ะ การทำใจยอมรับให้ได้ ว่าหลังจากนี้คุณพ่อคุณแม่ อาจจะไม่สามารถดูแลลูกได้อย่างเคย ไม่สามารถพาลูกเข้านอนได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้กินข้าวพร้อมกัน ฯลฯ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแน่นอน โดยเฉพาะตอนที่ต้องแยกจากลูกที่ยังเล็ก ยังต้องดูดนมจากเต้า ยิ่งทำใจได้ยาก แต่เมื่อภาระที่รออยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเร่งยอมรับ และทำใจให้เข้มแข็งค่ะ เพื่อจะได้โฟกัสเรื่องงานได้อย่างมั่นคง และไม่ห่วงลูกจนเกินไป
จริงอยู่ ที่การแยกห่างจากอกพ่อแม่ อาจจะเป็นเรื่องที่ทำใจได้ลำบาก แต่เพื่ออนาคต และความมั่นคงของลูก คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทำใจสักนิดนึง แต่ถ้าหากมองอนาคตแล้วทำต่อไป อย่างไรเสีย เราก็ต้องได้อยู่กับลูกรักอย่างแน่นอนค่ะ อดทนอดใจอีกสักหน่อย ก็ได้กลับไปกอดกันดังเดิมแล้วค่ะ!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วินาทีที่ต้องบอกลาลูกของลิเดีย เมื่อต้องห่างลูกและความเข้มแข็งของคนเป็นแม่
ทารกติดโรค จากผู้ใหญ่ ทารกป่วยบ่อย ติดเชื้อจากพ่อแม่ ครอบครัว คนป่วยต้องอยู่ให้ห่างลูก
5 เคล็ดลับเลี้ยงลูก อย่างไรให้สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย เสริมภูมิคุ้มกัน พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างมั่นใจ
ที่มา : facebook.com, twitter.com, theglobalherald.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!