เรื่องลักษณะนี้ ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย แต่ล่าสุดกลับเกิดขึ้นอีกแล้ว เมื่อหญิงสาวรายหนึ่ง มีอาการไข้ขึ้น ปวดท้องรุนแรง และมีก้อนแข็ง ๆ หลุดออกมาจากช่องคลอด จึงได้รู้ว่าคือผ้าก๊อซเมื่อครั้งไปคลอดลูก เจ้าตัวจึงสรุปกับตัวเองได้ว่า หมอลืมผ้าก๊อซในช่องคลอด แต่เมื่อสอบถามกลับอ้างว่าเป็นแนวทางการรักษา เพื่อช่วยชีวิต
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้เปิดเผยภาพหญิงสาวนอนรักษาตัวอยู่บนเตียง พร้อมกับภาพวัตถุแปลกประหลาด อีก 2 รูป พร้อมระบุข้อความว่า “เป็นผ้าก๊อซที่หมอลืมไว้ในช่องคลอดว่า ช่วยแชร์ไปเยอะ ๆ โรงพยาบาลลืมผ้าก๊อซไว้ในช่องคลอด เมื่อครั้งไปคลอดที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัดขอนแก่น ปรากฏว่าผ่านมาเกือบ 2 เดือน น้องสาวมีอาการปวดท้องรุนแรง และเป็นไข้ เวลาเข้าห้องน้ำ จะมีเหมือนก้อนอะไรบางอย่างหลุดออกมาตรงปากช่องคลอด พอจับดู รู้สึกว่ามันเป็นก้อนแข็ง ๆ ผิดปกติ พอตรวจดูเอง ถึงเห็นผ้าก๊อซอยู่ในช่องคลอด จึงย้อนกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาลเอาผ้าก๊อซก้อนนั้นออกให้ และหลังจากที่เอาออก มีผู้ใหญ่มาคุย และบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบค่ะ”
โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับน้องสาวของผู้โพสต์ หรือน้องสาวของ น.ส.รุ่งนภาพร อายุ 32 ปี ชาวอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา น้องสาวไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น โดยพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 3 วัน ก่อนแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ยังไม่มีอาการอะไร กระทั่งช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา น้องสาวมีไข้ขึ้นสูง ร่วมกับปวดท้องอย่างรุนแรง ตรวจดูที่ท้องน้อย ตรงมดลูกพบว่ามีก้อนบางอย่างโผล่ออกมา แต่ไม่สามารถหลุดออกมาได้ จับดูเป็นก้อนแข็ง ๆ เข้าใจว่าเป็นมดลูก อาการดีขึ้น ก็ผ่านไป จนมาเมื่อวันก่อนอาการปวดท้อง และมีไข้สูง กลับมากำเริบอีก และมีก้อนแข็ง ๆ หลุดออกมา จึงให้สามีของน้องสาวดูให้ ซึ่งสามีน้องบอกว่าเป็นผ้าก๊อซ ไม่ใช่มดลูก คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ หมอลืมผ้าก๊อซในช่องคลอด จึงถ่ายรูปเก็บไว้แล้วบอกให้น้องสาวไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์นำผ้าก๊อซออก ตอนนี้อาการปลอดภัยแล้ว
โดยเธอยังได้บอกอีกว่า ช่วงเช้าเมื่อวานนี้ 28 พ.ย. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้มาคุยด้วยและพูดประมาณว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแนวทางการรักษาของโรงพยาบาล ที่นำผ้าก๊อซมาอุดไว้ ก็เพื่อหยุดเลือด นี่คือแนวทางการรักษาของแพทย์ แต่ถ้าเป็นการรักษาของแพทย์ ทำไมจึงไม่แจ้งญาติคนไข้ หรือคนไข้ ว่ามีผ้าก๊อซอยู่ข้างในช่องคลอด และเป็นการรักษาของแพทย์ตั้งแต่ในตอนแรก หลังเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นได้พูดคุยกันในครอบครัว ถึงการเยียวยาชดใช้ โดยทางโรงพยาบาลบอกว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ตามระเบียบของทางกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าโรงพยาบาลไม่ผิด ก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ทำให้เธอในฐานะเป็นพี่สาว รวมทั้งคนในครอบครัวเกิดความไม่สบายใจ จึงโพสต์เรื่องราวดังกล่าวลงในโซเชียล หวังเป็นอุทาหรณ์ และขอความเป็นธรรม”
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทราบว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะดูแลเยียวยาตามสิทธิ มาตรา 41 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข ทั้งนี้ตนเองในฐานะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ขอยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น และขอโทษคนป่วย และญาติด้วย จะนำเอาความผิดพลาดนี้ไปปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้เกิดขึ้นอีก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลืมผ้าก๊อซในช่องคลอด 2 เดือนเพิ่งหลุด เรื่องจริง! สสจ.ภูเก็ตเร่งเยียวยาแม่
สิ่งของที่ตกค้างหลังการผ่าตัด
ปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่มีวิธีแก้ไขที่สมบูรณ์ เป็นปัญหาความผิดพลาดทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยมีอัตราการเกิดระหว่าง 0.3 ถึง 1.0 ต่อการผ่าตัดช่องท้อง 1,000 ครั้ง ปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด เป็นปัญหาที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นจะเป็นข้อผิดพลาดที่ไม่สามารถแก้ตัวทางกฎหมายได้เลย
สิ่งของที่ตกค้างหลังการผ่าตัดที่พบมากที่สุดตามลำดับ คือ ผ้าก๊อซซับเลือด เข็มเย็บผ่าตัด และ เครื่องมือผ่าตัด ส่วนการผ่าตัดที่มีปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดที่พบได้บ่อย 3 อันดับแรก คือ การผ่าตัดทางช่องท้อง (52%) การผ่าตัดทางนรีเวช (22%) และ การผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะและหลอดเลือด (10%) โดยการผ่าตัดช่องท้องที่มีปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดที่พบบ่อยที่สุด คือ การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง
มาตรการป้องกัน ปัญหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด
- การตรวจนับผ้าก๊อซซับเลือด เข็มเย็บผ่าตัด และเครื่องมือผ่าตัด เป็นกลยุทธ์สำคัญในการป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด
- ในระหว่างการผ่าตัด คู่มือแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่จะทำให้เวลาการทำงานมากขึ้นถึง 14% ของเวลาทำงานปกติ
- ตรวจสอบอย่างละเอียดโดยศัลยแพทย์ในบริเวณที่ทำผ่าตัด ก่อนที่จะปิดแผลผ่าตัดรวมทั้งการบันทึกขั้นตอนการผ่าตัดอย่างละเอียด
- ความแตกต่างของการตรวจนับควรทำให้เกิดการแจ้งเตือนอย่างอัตโนมัติถึงโอกาสการเกิดปัญหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด เมื่อมีความแตกต่างในการตรวจนับต้องตรวจนับซ้ำ และศัลยแพทย์ต้องตรวจตราดูบริเวณที่ทำผ่าตัดใหม่ทั้งหมด
- แต่หากความแตกต่างยังคงอยู่ควรทำการถ่ายภาพรังสีที่เหมาะสม (การถ่ายภาพรังสี/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) เพื่อค้นหาสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัดที่ตกค้างอยู่
- การสื่อสารที่ดีระหว่างทีมแพทย์ผ่าตัดและทีมพยาบาลห้องผ่าตัด เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันปัญหาการตกค้างของสิ่งแปลกปลอมหลังการผ่าตัด
ทั้งนี้โรงพยาบาลได้เปิดเผยว่า หญิงสาวคนดังกล่าวได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อาการโดยรวมปลอดภัยดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่ยังคงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ต่อไป จนกว่าจะสุขภาพดีขึ้น ถึงให้กลับบ้านได้ ทั้งนี้โรงพยาบาลยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น จะดูแลและเยียวยาตามสิทธิ ม.41 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการทางสาธารณสุข และจะนำเอาความผิดพลาดไปปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้กับคนไข้คนอื่นอีก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ช็อก ! หมอลืมผ้าก๊อซไว้ในช่องคลอดคนไข้ หลังคลอดลูก 2 เดือนแล้วถึงรู้ !
แผลบาดทะยัก เป็นแบบไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคบาดทะยัก
การห้ามเลือด หากลูกบาดเจ็บ หรือเป็นแผลต้องทำอย่างไร
ที่มา : sanook, hfocus
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!