เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ช่วงเวลาในสวนสนุกเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ มีเสียงหัวเราะ มีความสุข แต่ใครจะรู้ว่ามี อันตรายจากสวนสนุก ที่รออยู่ จนอาจทำให้สวนสนุกไม่สนุกอย่างที่คิด เห็นได้ชัดจากข่าวนี้ โดยเป็นเรื่องราวของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์เรื่องราวอุทาหรณ์เตือนพ่อแม่พาลูกไปเล่นสวนสนุก โดยได้ภาพพร้อมข้อความระบุว่า
“ครอบครัวเราพาลูกไปเล่นสวนสนุกในร่มที่เค้าเคลมตัวเองว่าเป็นสนามเด็กเล่นในร่มมาตรฐานระดับโลกย่านบางนา พ่อเป็นคนเข้าไปเล่นกับลูกดูแลลูก ค่าบัตรสำหรับเข้าไปเล่นในเวลาสองชั่วโมงไม่ใช่น้อย กฎคือผู้ปกครองต้องเข้าไปดูแลบุตรหลาน ต้องใส่ถุงเท้าเพื่อความปลอดภัยและดูแลความสะอาด เราทำตามกฎทุกอย่าง”
“ขณะนั้นเราเดินดูเฟอร์นิเจอร์อยู่ เราได้รับสายจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก คนโทรมาคือลูกสาวเราที่ขอยืมโทรศัพท์จากผู้ปกครองท่านอื่น ลูกโทรมาบอกว่าป๊าเดินชนของเล่นล้มลุกไม่ขึ้น เรารีบวิ่งเข้าไปดูขณะนั้นพนักงานของสวนสนุกกำลังเรียกให้ fireman มายกสามีเราออกจากจุดเกิดเหตุ แต่การหิ้วปีกสามีเราลงมาทั้งที่ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงและอันตรายเกินไป เราจึงขอให้สวนสนุกเรียกรถพยาบาล โชคดีที่ผู้ปกครองในนั้นเป็นแพทย์ซึ่งมาคอยเฝ้าดูอาการ รถพยาบาลมาถึงใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ ”
บทความที่เกี่ยวข้อง : Digital footprint คืออะไร ? ทำไมถึงทำลายอนาคตเด็กโดยไม่รู้ตัว
“สามีเราถูกพาเข้าห้องฉุกเฉินทันทีเพราะมีอาการช็อก ตัวสั่นเมื่อทำ MRI พบว่ากระดูกทับเส้นประสาท 2 ข้อ ที่เดียวกับการควบคุมการทำงานของแขนขาและการเต้นของหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ มีพนักงานของสวนสนุกตามมาที่โรงพยาบาล 1 คน และหลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่การรักษาเกือบสองเดือน ทางสวนสนุกไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ สามีเราต้องผ่าตัดถึง 2 รอบ ภายในเวลา 2 สัปดาห์”
โดยเธอยังบอกอีกว่า สามีไม่ได้ทำอะไรผาดโผน แต่การออกแบบอุปกรณ์ของเล่นนั้นทำให้เสี่ยงอันตราย แม้แต่เด็ก ๆ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์นี้ได้เช่นเดียวกัน ค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 2.8 ล้านบาท และโชคดีที่เธอทำประกันครอบคลุมไว้ 2 ล้านบาท แต่ส่วนต่างที่เหลืออีก 8 แสนบาท ทางสวนสนุกกลับขอออกแค่ 10% คือ 8 หมื่นบาท ทั้งยังทิ้งระยะกว่า 2 เดือน ถึงจะติดต่อมาเพื่อขอรับผิดชอบ เธอมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
“สวนสนุกในร่มที่บอกว่ามีมาตรฐานระดับโลก ไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งที่สถานที่ของคุณไม่ปลอดภัยเพียงพอ จุดอันตรายตรงนั้นคุณบอกว่าปกติจะมีพนักงานคอยยืนเตือน แต่วันนั้นไม่มี คุณบอกว่าจุดนี้มีคนชนบ่อย แต่คุณไม่แก้ไขและยังประมาทเลินเล่อ เสี้ยววินาทีเดียวที่ครอบครัวเราเหมือนกอดคอกันตกจากตึกสูง ชีวิตเราเปลี่ยนไปหมด เหตุการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดยิ่งครอบครัวเรายิ่งไม่อยากให้เกิด ถ้าเลือกได้เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวเราทั้งเหนื่อย ทั้งท้อแท้ ทั้งสิ้นหวัง แต่ความหวังก็คือจะทำยังไงให้สามีกลับมาเป็นปกติให้ได้มากที่สุด”
ซึ่งโพสต์นี้ถูกแชร์และมีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์ให้กำลังใจจำนวนมาก ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กได้ออกมาโพสต์ ขอบคุณกำลังใจ ระบุข้อความว่า ขอบคุณทุกกำลังใจมาก ๆ นะคะ เราอ่านทุกcommentนะคะ ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้ แต่ก็ดีใจค่ะ อย่างน้อยทำให้ทุกคนระมัดระวังที่จะเข้าไปเล่นที่สวนสนุกแห่งนี้มากขึ้น เราไม่ใช่เคสแรกและเคสเดียว ยังมีอีกหลายเคสมาก ๆ ที่มีการบาดเจ็บในนั้นและไม่ได้รับการเยียวยาแบบเรา
โพสต์ต้นฉบับ (คลิก)
ต่อมาทางสวนสนุกฮาร์เบอร์แลนด์ ได้ออกคำชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก “Harbor Land 🙂 ฮาร์เบอร์แลนด์” ระบุว่า จากกรณีที่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ปกครองได้นำบุตรมาใช้บริการสนามเด็กเล่นในร่มของฮาร์เบอร์แลนด์สาขาเมกาบางนา โดยผู้ปกครองได้ประสบอุบัติเหตุ เดินชนคานนวมและได้รับการบาดเจ็บนั้น โดยในกรณีนี้เราได้มีการติดตามและเสนอแนวทางในการช่วยเหลือในเบื้องต้นไปแล้ว
ทางฮาร์เบอร์แลนด์รู้สึกเสียใจและห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่เกิดกับลูกค้าท่านนี้ โดยภายหลังเกิดอุบัติเหตุ ทีมปฐมพยาบาลได้เข้าให้ช่วยเหลือจนสามารถนำส่งลูกค้าเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย
โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเบื้องต้นได้ตรวจสอบและพบว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่บริเวณบันไดทางเดิน ในส่วนของสนามเด็กเล่น (ดังปรากฏตามรูปที่นำมาจากโพสต์ของลูกค้า) คือทางเดินที่พบเห็นได้ในส่วนสนามเด็กเล่นในทุกสาขาของฮาร์เบอร์แลนด์ ส่วนความสูงของคานนวมที่ระบุความสูงระดับนั้น ก็เพื่อชะลอความเร็วไม่ให้เด็กโต หรือผู้ใหญ่วิ่งด้วยความเร็ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย หรือตกบันไดนวม เนื่องจากเป็นทางที่สามารถเดินสวนกันได้
สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเครื่องเล่นสวนสนุกในไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในสวนสนุก อย่างเป็นทางการ หรือมีข้อบังคับให้มีการรายงานอุบัติเหตุ ดังนั้น ข้อมูลอุบัติเหตุส่วนใหญ่ จึงมีเฉพาะอุบัติเหตุจากการนำเสนอในสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อโซเชียลเท่านั้น โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลอ้างอิงของปี 2550 – 2560 ที่เป็นตัวเลขในประเทศไทย
- ปี 2550 เกิดเหตุเครื่องเล่นล่องแก่งพุ่งออกนอกรางมีผู้เล่นกระเด็นออกมาจากตัวเรือกระแทกพื้นดิน จากเหตุระบบไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องปั๊มน้ำหยุดทำงาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 5 ราย
- เมื่อปี 2551 เหตุเกิดจากข้อต่อรางหลุดแยกออกจากกัน ทำให้เครื่องเล่นซูเปอร์สไปรอล หักเป็นสองท่อนทำให้คนเล่นตกลงมา มีผู้บาดเจ็บรวม 28 ราย
- ปี พ.ศ. 2553 เครื่องเล่นสไปเดอร์ หมุนเร็วจนทำให้คนเล่นหลุดออกจากเก้าอี้พลัดตกลงมา กระแทกกับขอบรั้ว มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย
- ปี 2553 เครื่องเล่นรถเมล์เหินเวหา อุปกรณ์ชำรุด ทำให้รถหงายหลังร่วงลงพื้นจากความสูง 2 เมตร มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย
- เมื่อปี พ.ศ. 2556 เครื่องเล่นจีแม็ก รีเวิร์ส บันจี้ สลิงขาด ในขณะที่เครื่องเล่นเริ่มทำงาน
- ปี 2557 เครื่องเล่นชิงช้าสวรรค์ เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย มือของคนเล่นเข้าไปติดในสลิง ทำให้นิ้วขาด 2 นิ้ว
- เมื่อปี 2558 บันจี้จัมพ์ เกิดอุบัติเหตุสายยึดกับข้อเท้าของผู้เล่นหลุดออกจากกัน ทำให้ร่างตกกระแทกพื้น ส่งผลให้เสียชีวิต 1 ราย
- ปี พ.ศ. 2558 เครื่องเล่นกระรอกบิน เกิดอุบัติเหตุจากความประมาทเจ้าหน้าที่ประจำฐาน ทำให้ผู้ใช้บริการไปกระแทกกับตัวกั้น และกระเด้งกลับจนคอหักจากแรงเหวี่ยง เสียชีวิต 1 ราย
- ปี 2559 เครื่องเล่นจังเกิ้ล โคสเตอร์ เกิดอุบัติเหตุชนกัน มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย
- เมื่อปี พ.ศ. 2560 เครื่องเล่นหนวดปลาหมึก เกิดน็อตยึดไฮโดรลิกหลุด กระบอกไฮโดรลิกขาด กระเช้านั่งหล่นลงพื้น ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย
เทคนิคป้องกัน อันตรายจากสวนสนุก
ถึงแม้อุบัติเหตุร้ายแรงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสวนสนุก แต่อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บนั้นก็เกิดขึ้นได้บ่อย มาดูกันว่าเวลาพาลูกไปเที่ยวสวนสนุกหรือสนามเด็กเล่น ต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง
1. ลูกตกจากเครื่องเล่น
เครื่องเล่นที่สูงมาก ๆ ต้องระวัง ถ้าดูว่าสูงเกินไป หรือเหมาะกับอายุลูกไหม หากลูกยังเล็กไม่ควรให้ลูกเล่น ต้องระวังไม่ให้ลูกเล่นแผลง ๆ หรือ ถ้าดูไม่มีความปลอดภัย ไม่มีราวกันตกหรือผนังกันตก ไม่ควรวางใจ
2. ตัวติดในเครื่องเล่น
ระวังเครื่องเล่นที่เป็นรู เป็นช่อง ต้องมั่นใจว่าหัวหรือลำตัวของลูก จะไม่ไปติดในช่องหรือ ถ้าเป็นเครื่องเล่นที่มีรูต้องมีขนาดที่นิ้วเด็กจะไม่ไปติด เพราะเป็นช่วงวัยที่ชอบสำรวจไปทั่ว เห็นช่อง เห็นรู อาจจะเอานิ้วไปแหย่ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
3. เครื่องเล่นพัง เสีย ขัดข้อง
หากเป็นสวนสนุกที่เล็ก ๆ หรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น สวนสนุกตามตลาดนัด ตามงานต่าง ๆ ที่เป็นสวนสนุกชั่วคราว เช่น บ้านบอล บ้านลม ต้องระวังให้มาก เพราะอาจมีการติดตั้งหรือการดูแลรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องระวังว่าอาจเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการขัดข้องได้
4. คนแปลกหน้า
เวลาพาลูกไปเล่นสวนสนุก สนามเด็กเล่น หรือนอกบ้านที่มีคนเยอะ ๆ ต้องระวังคนแปลกหน้าไว้ให้มาก ควรดูลูกให้อยู่ในสายตาตลอด และต้องสอน ต้องฝึกให้ลูกระมัดระวังคนแปลกหน้าด้วย ไม่ให้ลูกไปกับคนไม่รู้จัก ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาตเด็ดขาด
5. โรคติดต่อ อันตรายในสวนสนุก
อันตรายที่มาจากสวนสนุก ไม่ได้มีแค่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกะทันหันในสวนสนุกเท่านั้น แต่อาจจะมีภัยที่แฝงตัวที่เรามองไม่เห็นอีกด้วย เช่น โรคติดต่อต่าง ๆ จากการติดต่อกันในสวนสนุก เพราะเป็นที่ที่มีเด็กมารวมตัวกันอยู่เยอะ อาจจะมีเด็กที่ป่วยไม่รู้ตัว แพร่เชื้อผ่านการไอ จาม การสัมผัสกัน ซึ่งทำให้เกิดโรคติดต่อได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก ฯลฯ
อย่างที่บอกไปในข้างต้นว่าอันตรายเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จากช่วงเวลาที่มีความสุข มีเสียงหัวเราะ เมื่อพลาดแค่ครั้งหนึ่งแล้วอาจจะต้องเสียใจไปโดยตลอด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อครอบครัว ไม่ว่าจะคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่การดูแลลูกน้อย การระวังไม่ให้เกิดประมาทจึงเป็นเรื่องดีที่สุด เพื่อไม่ให้ต้องเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย และไม่ต้องมานั่งเล่าเรื่องราวน่าสลดเพื่อเป็นอุทาหรณ์เช่นนี้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่แชร์อุทาหรณ์! เผลอทำเท้าลูกติดรูระบายน้ำ เหตุการณ์ครั้งนี้จำไปตลอดชีวิต
รู้จักกับระบบแจ้งเตือน AMBER Alerts ให้มากขึ้น ตัวช่วยหลักเพื่อป้องกันปัญหาเด็กหาย
เปิดพัดลมจ่อลูก ทารกปอดอักเสบ เตือนภัยใกล้ตัวสำหรับพ่อแม่มือใหม่!
ที่มา : 1, facebook, sanook
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!