แม้ว่าการอัปรูปถ่ายของลูกลงบนโซเชียลมีเดีย จะเป็นอีกหนึ่งการแสดงออกทางความรักของพ่อแม่ แต่ในขณะเดียวกันอาจจะเป็นการมองข้ามเรื่องของความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของลูกน้อยภายในเวลาเดียวกัน เพราะการอัปรูปไม่ใช่แค่การอวดให้โลกรู้ ว่าลูกฉันน่ารักแค่ไหน แต่มันอาจจะกลายเป็น Digital Footprint หรือ รอยเท้าดิจิทัล ร่องรอยแห่งความเจ็บปวด จากการขาดความเคารพสิทธิทางร่างกายมนุษย์ที่อาจทำลายอนาคตเด็กโดยไม่รู้ตัว
อย่าลืมว่าคุณภาพชีวิตของคนหนึ่งคนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะการที่โลกสองใบ ระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันจนแทบจะกลืนกันไปหมด ทำให้อิทธิพลของโซเชียลมีเดียกลายเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานของสังคมไปเสียแล้ว
การที่พ่อแม่ถ่ายภาพของเด็ก หรือรูปที่ถ่ายด้วยความบังเอิญ ถูกอัปลงบนโซเชียลมีเดีย กลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงมากขึ้น เพราะสิ่งที่เรียกว่ารอยเท้าดิจิทัล อาจกลายเป็นดาบสองคมในอนาคตได้ ส่วนจะเป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด วันนี้ theAsianparent จะพาไปทำความเข้าใจ เพื่อรู้เท่าทันให้มากขึ้น!
Digital Footprint คืออะไร
รอยเท้าดิจิทัล คือ ข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ ของผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ถูกบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเข้าเว็บไซต์ใดก็ตาม เช่น Google, Youtube หรือเว็บไซต์ไทยอย่าง Pantip ก็ล้วนแต่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ จะมากน้อยแล้วแต่เว็บไซต์ การเก็บข้อมูลดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงแอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อีกด้วย
แต่ที่น่าสนใจไปกว่าร่องรอยการใช้งานก็คือ เพราะเว็บไซต์ไม่ได้เพียงแต่เก็บข้อมูลส่วนตัว หรือข้อความ รูปถ่ายเท่านั้น แต่ยังมีการบันทึกจำนวนการคลิกลิงก์ วิธีการดูเว็บไซต์ หรือวินาทีในการดูโฆษณา หรือแม้กระทั่งการค้นหาคำคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ก็ถูกบันทึกไว้เช่นกัน เรียกได้ว่าสามารถตามตัวได้เหมือนอย่างกับรอยเท้า ที่ดูเหมือนว่ารู้จักตัวเราเองดีกว่าที่เรารู้จักด้วยซ้ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : โพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊กอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายบนโลกโซเชียล
รูปแบบของร่องรอยดิจิทัล สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ร่องรอยที่ผู้ใช้เจตนาบันทึก ( Active Digital Footprint )
โดยข้อมูลชนิดนี้ จะเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการบันทึกลงบนอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรก เช่น การโพสต์สิ่งต่าง ๆ ลงบนโซเชียลมีเดีย การลงรูป การส่งอีเมล เป็นต้น เช่นเดียวกับการที่พ่อแม่โพสต์รูปของลูกน้อยตั้งแต่เด็ก แต่ในอนาคตอีก 40 ปี รูปถ่ายนี้อาจจะถูกค้นหาเจออีกครั้งก็เป็นได้
2. ร่องรอยที่ที่ผู้ใช้ไม่เจตนาบันทึก ( Passive Digital Footprint )
ข้อมูลที่ไม่เจตนาบันทึกมักอยู่ในการทำงานเบื้องหลังของคอมพิวเตอร์ ที่หลาย ๆ คนไม่รู้สึกถึงการคงอยู่ของมันด้วย เช่น ประวัติการค้นหา บันทึกการเข้าเว็บไซต์ การคลิกลิงก์ภายในเว็บไซต์ ไปจนถึงช่วงเวลาในการใช้งานเว็บและแอปพลิเคชัน
ประโยชน์ของรอยเท้าดิจิทัล
1. ตามรอยอาชญากรได้ง่ายขึ้น : อาชญากรรมทางดิจิทัลนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย และการเก็บบันทึก Digital Footprint จะส่งผลให้ทางหน่วยงานสามารถตามรอยบุคคลต้องสงสัยต่างๆ ได้ง่าย
2. โฆษณาประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ง่ายขึ้น : ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีประวัติดิจิทัล ทำให้บริษัทโฆษณาต่าง ๆ สามารถนำเสนอสิ่งที่ผู้คนอยากเห็นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter จนบางคนตั้งข้อสังเกตเลยว่าโฆษณาเหล่านี้ตรงใจเกินไปรึเปล่า
3. ร้านค้าต่างสามารถตอบสนองกับความต้องการลูกค้าได้ดี : ข้อมูลจากร่องรอยดิจิทัล ที่รวมไปถึงการซื้อขาย การจัดสต็อกสินค้า ที่ถูกบันทึกตามโลกออนไลน์ หรือมีการจัดเก็บข้อมูล จะช่วยในเชิงการโปรโมตสินค้าได้ในภายหลัง เพราะช่วยให้ห้างร้านต่าง ๆ มีฐานข้อมูลว่าลูกค้าต้องการอะไร และผู้ค้าต้องทำแบบใด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภัยใกล้ตัว! สอนลูกให้รู้ทันก่อนถูก มิจฉาชีพลักพาตัว
ร่องรอยดิจิทัล อันตรายต่อเด็ก?
ถ้าพูดถึงประเด็นอันตรายต่อเด็ก ยกตัวอย่างของเคสต่างประเทศอย่าง นายสเปนเซอร์ เอลเดน (Spencer Elden) ที่ได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากวงร็อกชื่อดัง เนอร์วาน่า (Nirvana) อดีตเด็กทารกวัย 4 เดือนที่เคยได้เผยเรือนร่างอันเปลือยเปล่าต่อหน้าทุกคน เหตุเพราะเขาคือคนที่อยู่บนภาพปกอัลบั้ม Nevermind นั่นเอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป นายสเปนเซอร์ที่เติบโตเป็นหนุ่มอายุ 30 ปี ได้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายกว่า 150,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 4.95 ล้านบาท เหตุเพราะภาพดังกล่าวเผยให้เห็นร่างกายส่วนลับ ในเชิงลามกอนาจาร และนายสเปนเซอร์กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเหตุที่ตนบอบช้ำทางใจ ดูแบบนี้แล้วอาจจะดูว่าสเปนเซอร์ต้องการผลประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้วในหลาย ๆ ประเทศมีกฎหมายการล่วงละเมิดสิทธิเด็กทางด้านร่างกายอย่างจริงจังมานาน
ดราม่าปิดหน้าลูก เพราะไม่ใช่ดาราฮอลลีวูด
หากถามว่าเรื่องการปกปิดหน้าตาของลูกกลายมาเป็นประเด็นดราม่าได้อย่างไร คงต้องย้อนไปตั้งแต่เมื่อครั้งการคลอดลูกของคู่รัก ปุ้มปุ้ย-กวินท์ ที่ได้ออกมายืนยันจุดยืนของตนเอง ว่าจะยังไม่เปิดเผยหน้าตาของลูกบนโลกออนไลน์ จนกว่าลูกจะตอบโต้หรือตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหนุ่มกวินท์ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ส่วนหนึ่งในรายการ ซานิ เบาได้เบา สามารถรับชมได้ที่คลิปวิดีโอด้านล่าง
ในขณะเดียวกันช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงถึงประเด็นการปกปิดหน้าลูกอีกครั้ง เมื่ออีกหนึ่งคุณแม่อย่างดาราสาว ดิว อริสรา ได้ตอบคำถามผ่าน Vlog ของตนเอง เกี่ยวกับเรื่องการปกปิดหน้าลูก ว่าจะไม่ปิด จะเปิดเผยบนโลกออนไลน์ โดยบางท่อนได้มีการเปรียบเทียบถึงดาราฮอลลีวูด
ด้วยความที่เรื่องการปกปิดหน้าตาลูก หรือการเปิดเผยหน้าตาลูก เป็นการพูดถึงโดยคนบันเทิงทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ชาวเน็ตทั้งหลายจับตามอง และมีการพูดถึงอยู่เป็นระยะ เพียงแต่เรื่องนี้นับเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นการตัดสินใจของแต่ละครอบครัว เพราะไม่เพียงแต่คู่รัก ปุ้มปุ้ย-กวินท์ ที่ไม่เปิดเผยหน้าตาของสมาชิกครอบครัว แต่หากข้ามฝั่งไปที่ประเทศเกาหลีใต้ มีคนบันเทิงหลายคนที่แต่งงานและมีลูก โดยที่ปัจจุบันแฟนคลับหรือนักข่าวต่างก็ไม่เคยเห็นหน้าลูกของเขา ยกตัวอย่างเช่น เรน (Rain), ชานซอง (สมาชิกวง 2PM), เฉิน (สมาชิกวง EXO) เป็นต้น
ความเป็นส่วนตัวกับร่องรอยดิจิทัล Digital footprint
เมื่ออ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจต้องข้อสงสัยว่าแล้วควรที่จะจัดการกับ Digital Footprint ของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่าการใช้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักมีการขอข้อมูลพื้นฐานส่วนหนึ่งไปเก็บไว้อยู่แล้ว แม้แต่ในระดับสากล เรื่องของความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานในเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง เลี้ยงลูกยังไงให้พอดีในยุคโซเชียล ก่อนจะสายเกินแก้
วิธีควบคุมความเป็นส่วนตัวเบื้องต้นบนโลกออนไลน์
1. ระมัดระวังก่อนโพสต์-แชร์
เนื่องจากการโพสต์หรือแชร์สิ่งต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ จะมีคนเห็นและมีการบันทึกลงในแพลตฟอร์มนั้น ๆ อยู่เสมอ การระวังตั้งแต่ต้นถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2. ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลเยอะเกินความจำเป็น
การใส่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียมากจนเกินไป จะทำให้แพลตฟอร์มนั้น “รู้เรื่องของเรา” มากกว่าที่เราต้องการ หากไม่ต้องการทิ้งร่องรอยไว้มาก ควรกรอกข้อมูลแค่ช่องที่จำเป็นเท่านั้น
3. ตั้งค่าข้อมูลส่วนตัวให้เป็น Private
การตั้งข้อมูลทุกอย่างเป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จะทำให้ร่องรอยของคุณเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวหรือเฉพาะคนรู้จัก จะช่วยจำกัดเรื่องนี้ได้
4. ลองค้นหาตัวเองผ่านทาง Google
หากสงสัยว่าข้อมูลส่วนตัวของคุณเยอะหรือน้อยขนาดไหน เรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ คือ ลองค้นหาตัวเองใน Google ดู ถ้าไม่เจอข้อมูลหรือเจอข้อมูลน้อยมาก ก็แสดงว่าในเบื้องต้นคุณก็ไม่ใช่คนที่มีร่องรอยเยอะนัก
5. ระมัดระวังการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนอื่น
การเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย การคลิกลิงก์แปลก อาจแฝงไปด้วยระบบที่ติดตามข้อมูล รวมถึงการถูกล้วงข้อมูลที่คุณอาจไม่ต้องการเปิดเผย รวมถึงเก็บข้อมูลโดยที่ไม่ยินยอม ดังนั้นในการท่องโลกอินเทอร์เน็ต ควรใส่ใจเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ
อย่างที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างไรก็ต้องมีร่องรอยของการใช้งาน เพียงแต่การเพิ่มความระมัดระวังในตนเอง ในครอบครัว รวมไปถึงในตัวของลูกน้อย ที่ยังไม่สามารถออกเสียงได้อย่างไรก็เป็นผลดี เพราะอย่าลืมว่าการเปิดเผยข้อมูลที่มากเกินไปบนโซเชียลมีเดีย สามารถกลายเป็นผลเสียขึ้นมาได้ เช่น คนร้ายอาจจะมีการส่องโซเชียลมาก่อนการลักพาตัวลูกของเรา ดังนั้นการระวังการใช้โซเชียล อย่างไรก็เป็นผลดีต่อตัวเราแน่นอน รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ไม่ถูกนำไปใช้ในภายหลังอีกด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำความรู้จักกับระบบ AMBER Alerts ให้มากขึ้น ตัวช่วยหลักเพื่อป้องกันปัญหาเด็กหาย
แม่ติดโซเชียลหนักมาก… ระวังโพสต์รูปลูกๆ บ่อยจะเกิดอันตราย
ตามลูกให้ทันในยุค โซเชียลมีเดีย ครองโลก
ที่มา : 1, 2
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!