โพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊คอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายบนโลกโซเชียล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของงานวิจัย “101S เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก&พัฒนาการสมอง จิตใจ และพฤติกรรม” ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการโพสต์รูปลูกลงในโซเชียลว่า
พฤติกรรมการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียของพ่อแม่ เป็นพฤติกรรมใหม่ของพ่อแม่ในยุคนี้ที่เรียกว่า Sharenting ซึ่งถ้าลูกยังเล็กอยู่พ่อแม่สามารถแชร์รูปลูกได้ แต่ถ้าลูกมีอายุได้ประมาณ 3 ขวบ มีความรู้สึกนึกคิด สามารถแสดงความเห็นของตัวเองได้ พ่อแม่จะต้องขออนุญาตจากลูกก็ลงรูปทุกครั้ง
แน่นอนว่าการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดีย มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ เราสามารถอัพเดตเรืื่องราวต่างๆ พัฒนาการของลูก หรือความน่ารักสดใส ที่เราต้องการบันทึกไว้ดูในอนาคตข้างหน้า หรือแม้แต่จะแชร์ให้คนอื่นเห็น แต่การที่พ่อแม่แชร์ทุกอย่างโดยลืมไปว่าที่จริงแล้ว บนโซเชียลมีเดียยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่นั่นเอง ดังนั้น ก่อนที่พ่อแม่จะลงรูปลูกไม่ว่าจะบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ก็ควรลงอย่างระมัดระวังนะคะ รวมถึงควรนึกใช้คำและรูปภาพที่ไม่โป๊ และไม่ควรใช้คำหยาบคาย เพราะอย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดียไม่สามารถลบออกไปได้ เวลาลูกโตขึ้นอาจจะเห็นรูปที่ไม่เหมาะสม และเกิดความอับอายได้นะคะ
โพสต์รูปลูกลงเฟซบุ๊คอย่างไรให้ปลอดภัย
โพสต์รูปลูกลงโซเชียลอันตรายแค่ไหน
จากการสำรวจพ่อ แม่ 569 คน ที่มีลูกอายุตั้งแต่ 0-4 ขวบ ที่ ร.พ. C.S. Mott Children’s Hospital มหาวิทยาลัย มิชิแกน สหรัฐอเมริกาใน The Wall Street Journal พบว่า โดยเฉลี่ย พ่อ และแม่ จะโพสต์รูปราว 1,000 รูป บนสื่อสังคมออนไลน์ก่อนที่ลูกจะมีอายุถึง 5 ขวบ ส่วนใหญ่แล้ว พ่อ แม่ จะโพสต์รูปลูกโดยพลการโดยที่ไม่ได้บอกลูกก่อนและพ่อ แม่ จำนวนมากไม่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว รวมทั้งรูปส่วนใหญ่จะมีสถานที่ที่ถ่ายรูปบอกไว้ด้วย ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมบนสื่อออนไลน์ ดังนี้
- เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับลูกตัวเองมากเกินไป 74 เปอร์เซ็นต์
- เผยแพร่ข้อมูลมากจนกระทั่งสามารถสืบไปถึงที่อยู่ของลูกได้ 51 เปอร์เซ็นต์
- เผยแพร่ข้อมูลที่น่าอับอายเกี่ยวกับลูก 56 เปอร์เซ็นต์
- เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับลูก 27 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลของ i-SAFE Foundation พบว่าเด็กหนึ่งในสามมีประสบการณ์จากการถูกคุกคามทางโลกออนไลน์ แต่มากกว่าครึ่งของเด็กไม่ปริปากบอกเรื่องเหล่านี้กับ พ่อ แม่ ซึ่งเท่ากับว่าเด็กกำลังเผชิญความเสี่ยงด้วยตัวเองเพียงลำพัง
อย่างกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวใหญ่ หลายคนคงจะจำได้ในกรณีที่น้องเป่าเปาถูกคนแปลกหน้าหยิก จนทำให้น้องร้องไห้เสียดังกลางงานอีเว้นท์ ซึ่งนักข่าวหลายสำนักก็ประโคมข่าวว่า เป็นเพราะความหมั่นไส้ปนความหมั่นเขี้ยวของเด็ก ที่น้องเป็นลูกดารา มีชื่อเสียง พ่อแม่พาออกงานอีเว้นท์บ่อย และชอบโพสต์รูปลูกลงโซเชียล แน่นอนว่าทันทีที่คนเป็นพ่อเป็นแม่รู้เรื่อง รวมถึงกลุ่มแฟนคลับของน้องที่ทราบข่าวก็เกิดการไม่พอใจขึ้น จากเหตุการณ์นี้ ดร.ปนัดดา ได้เอ่ยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เด็กอาจมีความเป็นไปได้ที่จะจำได้ และจำไม่ได้ ส่วนมากที่ฝังใจ จะมาจากเหตการณ์นั้นรุนแรงมาก หรือ ถูกกระทำบ่อยๆ ทุกวันเป็นระยะเวลานาน
ดร.ปนัดดา ยังได้บอกอีกว่า กาารที่พ่อแม่โพสต์รูปเด็กไม่ใช่มีเฉพาะความน่ารัก ความน่าเอ็นดูอย่างเดียว แต่มันยังเป็นการบอกถึงข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่อาศัย อายุ กิจกรรมที่ลูกกำลังทำ สถานที่ที่กำลังจะไป ระยะเวลา หรืออะไรก็ตาม ที่มันกลายเป็นข้อมูลที่ให้เกิดการลักพาตัวเด็ก หรือการทำร้ายลูกน้อยของเราได้ ซึ่งตามพัฒนาการมนุษย์ของเด็กเล็กวัย 0-3 ปี เด็กจะต้องมีพัฒนาการด้านการรับรู้ตัวตน หรือ sense of self ซึ่งมันจะส่งต่อไปพัฒนาการด้านอื่นๆ ของน้องอีก 4 ด้าน รวมถึงสมองด้วย
โพสต์รูปลูกอย่างไรให้ปลอดภัย
พัฒนาการการรับรู้ตัวตนของเด็กคืออะไร
การที่เด็กรู้ตัวว่า ตนเองมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง แยกความคิด ความต้องการของตนเองออกจากแม่ และผู้อื่นได้ เด็กรับรู้ว่า คำพูด และการกระทำของตนเองที่แสดงออกมา มีผลกับผู้อื่น และคำพูดและการกระทำของผู้อื่น ก็มีผลกับตัวเองเช่นกัน ซึ่งประสบการณ์ที่สะสมในช่วง 3 ปีแรกนี่เอง จะเป็นต้นกำเนิดของ ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อตนเอง ความชอบ แรงบันดาลใจ การตีความโลกใบนี้ และเป้าหมายในชีวิต
ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพในช่วงวัย 0-3 คือ ประสบการณ์ความรัก ความอบอุ่น และความผูกพันที่ได้รับจากพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้ ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพ ที่สำคัญและขาดไม่ได้อีกประการ คือ การให้โอกาสเด็กได้ใช้ทักษะสมอง EF ในการคิด ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ลองผิดลองถูก ใช้ความพยายาม จนเกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งการสะสมประสบการณ์แห่งการทำอะไรให้สำเร็จด้วยตนเองนี้ เป็นกุญแจสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุกคนให้ก้าวผ่าน พัฒนาการด้านการรับรู้ตนเองไปให้ได้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากส่งผลให้เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นคนมีความสามารถ มีค่า และมีความภาคภูมิใจตนเอง ไม่จำเป็นต้องหาความสุข ความพึงพอใจจากความนิยมที่คนอื่นมอบให้
วิธีโพสต์รูปลูกบนโซเชียลมีเดียที่ถูกต้อง
- ควรเขียนข้อความโดยใช้คำพูดที่เหมาะสมกับลูก ให้นึกถึงลูกในอนาคตถ้าลูกมาเจอแล้วจะรู้สึกอย่างไร
- อย่าแชร์สถานที่ที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูก เช่น ที่อยู่โรงเรียน ข้อมูลสุขภาพ
- เลือกรูปลงที่มีเสื้อผ้าปิดมิดชิด ดูตามความเหมาะสม
- ไม่ควรแชร์สถานที่ (ปิด location) ทุกครั้ง อย่าบอกว่าตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน
- ถ้าลูกโตแล้ว ควรขออนุญาตลูกก่อนว่ารูปนี้ พ่อหรือแม่โพสต์ลงได้ไหม
- เลือกตั้งค่ารูปภาพหรือข้อความให้เป็นส่วนตัว หรือเฉพาะเพื่อนที่อยากให้เห็นเท่านั้น
ที่มา: thepotentia, isranews
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
10 โรงเรียนนานาชาติที่ค่าเทอมแพงที่สุด
วิธีเลี้ยงลูกสาวสำหรับคุณพ่อ เลี้ยงยังไงให้ได้ใจลูกสาว
ลูกเล่นโทรศัพท์จนตาอักเสบหวิดตาบอด เคยได้ยินมาไม่อยากเชื่อ จนลูกเป็น!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!