คำว่า มดลูกลอยตัว นั้น เป็นคำศัพท์ที่เหล่าแม่ ๆ พูดต่อ ๆ กันมา แม้ว่าจะไม่ได้มีการบัญญัติเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่ชัดเจน แต่แม่ท้องหลาย ๆ คน ก็คงจะสงสัย รวมถึงวิตกกังวลว่าจะมีอาการมดลูกลอยตัว เกิดขึ้นกับครรภ์ของคุณแม่บ้างหรือเปล่า มดลูกลอยตัวอันตรายไหม อาการนี้หมายถึงอะไร สามารถอนุมานได้ โดยแบ่งเป็นช่วงขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด ดังนี้
มดลูกลอย มดลูกลอยตัว ขณะตั้งครรภ์
มดลูกลอยตัวขณะ ตั้งครรภ์ น่าจะเป็นลักษณะที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น ตามอายุครรภ์ โดยในช่วง ไตรมาสแรก ของการตั้งครรภ์ มดลูกจะยังมีขนาดเล็ก และอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน คุณแม่จึงยังไม่สามารถคลำ ยอดมดลูก ได้ทางหน้าท้อง แต่สูติแพทย์สามารถตรวจภายใน เพื่อประเมินขนาดของมดลูกได้ ว่าเหมาะสม ตรงตามอายุครรภ์หรือไม่ พร้อมตรวจวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ เช่น
- ถ้าประเมินขนาดมดลูกแล้ว พบว่าเล็กกว่า อายุครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากการจดจำประจำเดือนครั้งสุดท้ายผิดวัน ภาวะไข่ตกช้า ทารกหยุดเจริญเติบโตในครรภ์ หรือ เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ จึงควรตรวจอัลตร้าซาวน์ เพื่อหาสาเหตุต่อไป
- ในกรณีที่ประเมินขนาดของมดลูก ได้โตกว่าอายุครรภ์ อาจเนื่องจากมีครรภ์แฝด หรือ มีความผิดปกติของมดลูกร่วมด้วย เช่น มีเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกอยู่ด้วย หรือ มดลูกผิดรูป เป็นต้น
ดังนั้น การประเมินขนาดของมดลูกขณะตั้งครรภ์ จึงมีความสำคัญยิ่ง ในกรณีปกติ เมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จะสามารถคลำยอดมดลูก ได้ที่ระดับกระดูกหัวหน่าว เรียกว่า มดลูกลอยขึ้นมาพ้นอุ้งเชิงกราน และเริ่มโตเข้าสู่ช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสต่อไปนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการผิดปกติแบบไหนที่คนท้องต้องไปพบหมอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 11
มดลูกลอยตัว หลังคลอด
มดลูกลอยตัวในคุณแม่หลังคลอดบุตร ไม่ว่าจะผ่าคลอด หรือ คลอดธรรมชาติ เมื่อคลอดทารก และ คลอดรกออกมาแล้ว มดลูกจะมีขนาดเล็กลงทันที ร่วมกับการให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก เพื่อป้องกันภาวะ ตกเลือดหลังคลอด ทำให้สามารถคลำยอดมดลูกได้ ที่ระดับสะดือ หรือบริเวณระยะ 2 ส่วน 3 สูงขึ้นไปจากกระดูกหัวหน่าว และมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อตันๆ แข็ง ๆ ต่อมาเมื่อมี น้ำคาวปลา ออกมากขึ้น อาจมีการคั่งค้าง ของของเหลวดังกล่าวอยู่ในโพรงมดลูก ร่วมกับการที่มดลูกยังหดรัดตัวได้ไม่ดี ทำให้มดลูกขยายขนาดขึ้นอีกครั้ง ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด จะคลำพบยอดมดลูก อยู่ที่ระดับสูงกว่าสะดือเล็กน้อย เรียกว่า มดลูกลอยตัวหลังคลอด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติในช่วงแรกหลังคลอดบุตร
- หลังจากนั้น เมื่อเวลาผ่านไป จึงมีการลดขนาดของมดลูกลง ตามลำดับเวลา กล่าวคือ มดลูกจะเล็กลงครึ่งหนึ่งที่ 7 วันหลังคลอด และ จะกลับสู่ขนาดปกติที่ 6 สัปดาห์หลังคลอด
- ในกรณีที่มาตรวจหลังคลอดแล้วพบว่า มดลูกยังคงมีขนาดโตกว่าปกติ ไม่เล็กลงตามเกณฑ์ เรียกว่า มดลูกลอยตัวหลังคลอด ซึ่งสูติแพทย์ต้องตรวจประเมินหาสาเหตุต่อไป ที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะรกค้าง การติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด หรือมีเนื้องอกบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการผิดปกติของคนท้องในแต่ละไตรมาส วิธีสังเกตอาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ต้องไปโรงพยาบาล
ภาวะมดลูกลอยตัว อาจเป็นสภาวะที่แม่ท้องกังวลเกี่ยวกับตำแหน่งของมดลูก ขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด แม้ว่าภาวะนี้อาจจะเป็นเพียงอาการปกติที่พบได้ทั่วไป เนื่องการเปลี่ยนแปลงของมดลูกในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมดลูกของแม่ท้องได้เช่นกัน
ในตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณหน้าท้อง ต่อไปลงจนถึงหัวหน่าว นั่นก็เพราะอวัยวะสำคัญในการดูแลเจ้าตัวน้อยอย่างมดลูก กำลังทำงานอย่างหนัก ในการยืดขยายตัวเอง ให้เพียงพอสำหรับการเป็นที่พักพิงให้กับทารก
ในแต่ละสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ มดลูกก็จะมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น เติบโตไปพร้อม ๆ กับทารก รวมถึงขยับเคลื่อนตำแหน่งไปพร้อม ๆ กับตัวอ่อนด้วย
ขนาด และ ตำแหน่งของมดลูกขณะตั้งครรภ์ : ไตรมาสที่ 1
ไตรมาสที่ 1 การอุ้มท้องของคุณแม่ที่เริ่มต้นขึ้นมาสักพักจนถึงประมาณสัปดาห์ที่ 12 มดลูกจะมีขนาดประมาณผลองุ่น และเริ่มขยับออกจากบริเวณอุ้งเชิงกราน แต่ถ้าหากครรภ์น้อย ๆ ของคุณแม่ กำลังโอบอุ้มตัวอ่อนฝาแฝดอยู่ล่ะก็ มดลูกก็จะเริ่มขยายตัวออก ใหญ่กว่านั้น เพื่อรองรับกับคู่แฝดที่กำลังก่อตัวอยู่ในครรภ์นั่นเอง
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้น แพทย์จะสามารถคลำหาตำแหน่งของมดลูกได้ ที่บริเวณหน้าท้องของคุณแม่นั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องมาตั้งนาน ลูกในท้องโตช้า ทำไงดี แล้วจะรู้ได้ไงว่าลูกในท้องโตช้า
ขนาด และ ตำแหน่งของมดลูกขณะตั้งครรภ์ : ไตรมาสที่ 2
เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นจนเท่ากับผลมะละกอ และไม่อยู่ตรงบริเวณอุ้งเชิงกรานอีกต่อไป แต่จะเคลื่อนตัวไปอยู่บริเวณกึ่งกลางลำตัวของคุณแม่ หรือตรงกลางระหว่างสะดือ และช่องอก
ถึงตอนนี้ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็เร่ิมจะถูกเบียดเสียดโดยขนาด และตำแหน่งของมดลูก อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และข้อ ก็เริ่มเข้าคุกคามร่างกายของคุณแม่ และการขยายตัวของมดลูกนี้เอง ที่จะทำให้รูสะดือ ถูกดัน เด้งดึ๋งออกมา ก่อนจะหดกลับเป็นปกติหลังจากคลอดลูกนั่นเอง
เมื่อเริ่มต้นสัปดาห์ที่ 18 – 20 แพทย์จะทำการวัดความสูงของยอดมดลูก (Fundal height) จากกระดูกหัวหน่าว ไปจนถึงยอดมดลูก ว่ามีระยะกี่เซนติเมตร ตัวเลขที่ได้ออกมานี้ จะมีความสัมพันธ์กับอายุของครรภ์ ตัวอย่างเช่น หากวัดได้ 32 เซนติเมตร อายุครรภ์ของแม่ท้อง ก็ควรจะอยู่ที่ 32 สัปดาห์ อาจมาก หรือน้อยกว่า ประมาณ 2 เซนติเมตร เป็นต้น แต่ถ้าหากคุณแม่เคยตั้งครรภ์มาก่อนหน้านี้ ขนาดของมดลูกที่วัดได้ ก็อาจมากกว่าอายุครรภ์จริง
การฝากครรภ์จะทำให้แม่ท้องมั่นใจได้ว่า ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่เติบโตอย่างดี และปลอดภัย เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ไม่สัมพันธ์กับอายุครรภ์ อาจเนื่องมาจากความผิดปกติของครรภ์ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งควรได้รับการดูแล และตรวจวินิจฉัยจากแพทย์
ขนาด และ ตำแหน่งของมดลูกขณะตั้งครรภ์ : ไตรมาสที่ 3
เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 กันแล้ว ขณะนี้มดลูกของแม่ท้องได้ขยายใหญ่ขึ้นอีก จนมีขนาดเท่าลูกแตงโมเลยทีเดียว และเมื่อครบกำหนดคลอด มดลูกก็จะขยายตัวอย่างเต็มที่ ตั้งแต่บริเวณหัวหน่าว ไปจนถึงกระดูกซี่โครงซี่ล่างสุด ลูกน้อยในครรภ์จะเคลื่อนตัวต่ำลง กลับสู่อุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นสัญญาณการเตรียมพร้อมที่จะให้กำเนิดแล้ว
ขนาด และ ตำแหน่งของมดลูกขณะตั้งครรภ์ : หลังคลอด
หลังการให้กำเนิดลูกน้อย เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ขนาด และตำแหน่งของมดลูก ก็จะค่อย ๆ กลับเข้าสู่สภาวะดั้งเดิมก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายของแม่เข้าที่เข้าทาง หรือที่เรียกว่า มดลูกเข้าอู่ นั่นเอง
ตลอดระยะทางของการตั้งครรภ์นั้น แม่ท้องอาจจะรู้สึกวิตกกังวล กับสภาวะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าหากแม่ท้องมีข้อสงสัย หรือรู้สึกผิดปกติ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของแม่ และลูกน้อยในครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
มดลูกกลับหลัง มดลูกคว่ำ คนท้องจะแท้งง่ายขึ้นไหม หรือทำให้มีลูกยากจริงหรือเปล่า
ที่มา : americanpregnancy.org