คุณแม่ยุคใหม่กับ เทคนิคซื้อบ้าน อย่างไรไม่ให้ผิดหวัง ไปติดตามกันเลยค่า !!
เทคนิคซื้อบ้าน : ก่อนอื่น เรามาดูก่อนว่าการซื้อบ้านที่ใหม่จริงๆ หรือเป็นเราเจ้าแรกที่ได้เข้าไปอยู่นั้นมีข้อดีอย่างไรบ้าง
- ใครๆ ก็อยากเข้าไปประเดิมอยู่อาศัยในบ้าน / คอนโดฯ เป็นเจ้าแรก เพราะบ้าน / คอนโดฯ ใหม่ คุณไม่ต้องกังวลกับการซ่อมแซม หรือ บำรุงรักษาอะไรมากมาย อย่างน้อยคุณก็สามารถเลี่ยงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้อย่างน้อย 2 – 3 ปี
- การซื้อบ้านใหม่คุณจะเป็นผู้เลือกของตกแต่งเองได้ตามใจชอบ นั่นเพราะ คุณเป็นเจ้าของคนแรก คุณไม่ต้องถูกบังคับรับมอบงานตกแต่งบางงานจากเจ้าของเดิม
- บ้านมือหนึ่งส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับประกัน ( เรื่องรอยร้าว, น้ำซึม , โครงสร้างเสาเข็ม , กระเบื้องหลุด ) ดังนั้น คุณสามารถมั่นใจเรื่องการเข้าอยู่ได้ โดยไม่ต้องกังวล หากเกิดขึ้นคุณสามารถเคลมได้ (อย่างน้อยก็ 2 ปี warranty)
คราวนี้มาดูเทคนิคซื้อบ้านมือหนึ่ง ที่ต้องคำนึงถึง :
บริการหลังการขายที่คุณจะได้รับอาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อเสนอหรือโปรโมชั่นที่คุณได้รับจากแต่ละโครงการ แน่นอนใครๆ ก็อยากได้บริการหลังการขายแบบจัดเต็มหลังจากจ่ายค่าจองหลักหมื่น หรือ บางรายอาจจะหลักแสน กับการเป็นหนี้ไปอีกหลายสิบปี โชคร้ายที่บรรดาดีเวลลอปเปอร์ไม่ได้แข่งขันกันเรื่องคุณภาพบริการหลังการขาย ดังนั้น มันคือสิ่งที่คุณต้องทำรีเสิร์ชด้วยตัวเอง หาข้อมูลจากหลายๆแหล่ง และต่อไปนี้คือข้อแนะนำ
ศึกษาเจ้าของโครงการที่คุณจะซื้อให้ดี :
ในยุคที่ข้อมูลเปิดกว้างผ่านช่องทางโลกออนไลน์ จึงไม่ใช่เรื่องยากหากคุณจะลองใช้เวลาในการนั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่คุณกำลังสนใจ เก็บข้อมูล ความคิดเห็นผ่านกระทู้ เว็บบอร์ดต่างๆ รวมทั้งข่าวสารที่เกี่ยวกับโครงการหรือเจ้าของโครงการนั้นๆ รวมไปถึงการเก็บข้อมูลอัพเดทว่ากระแส ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร กำลังจะมีโครงการสำคัญอะไรเกิดขึ้นบริเวณนั้นหรือเปล่าเผื่อเวลาการขายต่อ (resale) ภายใน 5-10 ปีข้างหน้าจะอัพให้มูลค่าอสังหาฯสูงขึ้น
คุยกับเพื่อนบ้าน :
การไปสำรวจพื้นที่ รวมถึงภายในโครงการโดยเฉพาะอสังหาฯ ที่คุณกำลังเล็งไว้ ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะ เป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะได้พบกับว่าที่เพื่อนบ้านใหม่ ทำความรู้จัก และ พูดคุย คุณอาจจะลองถามพวกเขาถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของพวกเขาเมื่อย้ายเข้ามาอยู่ รวมไปถึงว่ามีความล่าช้าในการก่อสร้างหรือไม่ หรือมีปัญหาหลังจากย้ายเข้ามาอยู่หรือไม่ เป็นต้น
ลองไปสำรวจโครงการอื่นจากดีเวลลอปเปอร์เจ้าเดียวกัน :
ความเห็นจากผู้ที่ซื้อก่อนหน้าในโครงการอื่นๆ ว่าพวกเขามีความคิดเห็นต่อตัวโครงการและดีเวลลอปเปอร์อย่างไร
อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาทั้งหมดจากดีเวลลอปเปอร์ :
อยากจะเห็นต้องพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง เช่น หากทางโครงการโฆษณาว่าโครงการของตนอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า หรือ รถประจำทาง นั่นหมายความว่าไม่ควรจะอยู่ห่างเกิน 500 เมตร หรือจะเป็นสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นห้างสรรพสินค้าก็ควรจะอยู่ในระยะที่ใกล้จริงๆ ตามคำโฆษณาที่เคลมไว้
มูลค่าหลังจากซื้อ :
ลองเปรียบเทียบโครงการเก่าในลักษณะเดียวกันว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง อาจจะเป็นอีกโครงการบริเวณใกล้เคียง หรือ แม้กระทั่งดีเวลลอปเปอร์คนละเจ้ากัน ถ้าจะลงละเอียดกว่านี้คุณอาจจะเปรียบเทียบราคาต่อตารางเมตรกับโครงการอื่น
คิดเผื่อ :
ลองคิดถึงระยะเวลาที่จะอยู่กับบ้านหลังที่จะซื้อ คิดถึงเรื่องการขยายครอบครัว กรณีคู่รักเข้ามาอยู่ด้วยหรือหากมีทายาทตัวน้อย เมื่อลูกโตขึ้นก็ยังสามารถอยู่ในบ้านนี้ได้ เพื่อที่ว่าคุณจะได้ไม่ต้องตัดสินใจการซื้อครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งซึ่งมูลค่าภายภาคหน้าก็จะสูงขึ้นอีก
คิดเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาฯ :
ลองศึกษาว่าบริเวณส่วนไหนของบ้านของคุณที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับบ้านได้ อาจจะเป็นด้วยการตกแต่งเพิ่มเติม เช่น สวนหลังบ้าน ห้องครัว หรือก ารตกแต่งภายในบ้านให้เป็นสไตล์ Loft ที่กำลังนิยมกันในตอนนี้ การเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาฯ ของคุณทำให้เมื่อปล่อยขายต่อผู้ซื้อคนต่อไปจะทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
ศึกษากรณีโครงการเสร็จล่าช้า :
ถามถึงสัญญาให้ดีหากการดำเนินการก่อสร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลานานทางเจ้าของโครงการจะมีการชดเชยอย่างไรต่อความล่าช้าที่เกิดขึ้น
ศึกษาระยะเวลาเอาประกันให้ดี :
หากทางโครงการยืนยันจะให้คุณเซ็นรับมอบทั้งที่การก่อสร้างยังไม่เสร็จหรืองานเก็บรายละเอียดยังไม่เสร็จ อย่าเซ็น!!! เพราะ ถ้าคุณเซ็นนั่นหมายถึงเวลาช่วงรับประกันจะเริ่มขึ้นทันที ไม่มีใครอยากได้บ้านสภาพไม่พร้อม และ ประกันที่โดนบังคับเซ็นหรอก จริงไหม? ดังนั้น สภาพทุกอย่างภายในบ้านต้องบรรลุความพอใจของคุณให้ดีที่สุดถึงจะเซ็นรับมอบได้
เลือกซื้อบ้านคล้ายอย่างไรกับการเลือกซื้อหุ้น? :
การซื้อหุ้นก็เช่นเดียวกันควรจะมีการศึกษาพื้นฐานของบริษัท (fundamentals) เช่นงบการเงิน และ ผลประกอบการที่ผ่านมาเพื่อตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนนั้น หากบริษัทไหนเป็นหนี้เยอะก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะ เราไม่ทราบว่าบริษัทนั้นจะผิดชำระหนี้ (default) จนทำให้เสียเครดิตส่งผลไปยังมูลค่าต่อหุ้นที่จะลดลงหรือไม่ และ ที่สำคัญหากไม่มีเวลานั่งหน้าจอคอยเช็ค เพื่อ ขายเอากำไรตลอดเวลาอย่าเลือกซื้อหุ้นที่เป็นเทรนด์แค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง (momentums) เพียงเพราะคุณเห็นมี volumes การเข้าซื้อเป็นจำนวนมากเพราะนั่นอาจเป็นการ “ปั่นหุ้น” (spoofing)
ในขณะที่หากต้องซื้อบ้าน คุณควรจะต้องดูประวัติโครงการในลักษณะเดียวกันจากดีเวลลอปเปอร์เจ้านั้นว่ามีผลตอบรับจากสังคมเป็นอย่างไร หากความคิดเห็นที่ได้ออกมาไม่ดี และ มีสัดส่วนมากกว่าความคิดเห็นในแง่ดี คุณควรอาจจะต้องคิดพิจารณาให้ดี หรือ หากต้องการจะ play safe ก็อย่าซื้อ!!!
ทีม TheAsianparent หวังว่า ข้อมูลดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อ และ คุณแม่ที่กำลังหาซื้อบ้านอยู่นะคะ
ขอบคุณข่าวอสังหาฯ-บทความจาก DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
อ่านก่อนซื้อบ้าน “โบรชัวร์” ใบเล็กๆ สำคัญแค่ไหน
ระวัง! 9 ของใช้ในบ้าน ตัวการก่อมะเร็ง
จัดบ้านสร้างบรรยากาศใหม่ให้ลูกน้อยมีสมาธิ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!