ในช่วงนี้ คุณแม่หลาย ๆ ท่านก็คงจะอยู่ทำงานที่บ้าน เลยทำให้มีเวลาอยู่กับน้อง ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางครั้ง ที่ครอบครัวต้องออกไปข้างนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะระมัดระวังตัวเองได้อย่างไร สถานการณ์เสี่ยงติดโควิด คุณแม่และน้อง ๆ ควรหลีกเลี่ยงนั้นมีอะไรบ้าง เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟังกันในบทความนี้
รู้จักกับโควิดสายพันธุ์อังกฤษแบบเบื้องต้น
โควิดสายพันธุ์อังกฤษที่กำลังระบาดอยู่ในไทยตอนนี้ ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายไว ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโควิดสายพันธุ์อังกฤษนั้น มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น
- เป็นไข้ น้ำมูกไหล
- มีอาการหนาวสั่น
- มีอาการไอ เจ็บคอ
- หายใจถี่และลำบาก
- สูญเสียความสามารถในการรับกลิ่น
- รู้สึกอ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย
- อาเจียน ท้องเสีย
- ปวดศีรษะ
ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนก็มีอาการแตกต่างกันออกไป รวมทั้งบางคนก็ไม่มีการเลยแม้แต่น้อย และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้มีรายงานการพบเชื้อโควิดอีกสายพันธุ์ ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศอินเดีย ซึ่งก็คือสายพันธุ์เบงกอล (B.1.618) โดยโควิดชนิดนี้ ทำให้คนอินเดียติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันสั้น และทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดของอินเดียมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับอาการที่แน่ชัดของโควิดสายพันธุ์นี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : โควิด-19: เกิดอะไรขึ้นในบราซิล อะไรทำให้ทารกบราซิลจำนวนมากตายด้วยโรคนี้
สถานการณ์เสี่ยงติดโควิด มีอะไรบ้าง
ไม่มีใครรู้ได้ว่า ที่ไหนบ้างที่มีเชื้อโควิดอยู่ หรือใครที่เป็นพาหะของโรค เพราะบางคนก็ติดโควิด แต่ไม่ได้แสดงอาการใด ๆ ออกมา เมื่อคุณแม่และน้อง ๆ ต้องออกไปนอกบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมีสถานการณ์ไหนบ้างที่ควรเลี่ยง เพื่อไม่ให้เสี่ยงติดโควิดกันนะ ซึ่ง theAsianparent Thailand ก็ขอแนะนำให้คุณแม่และเด็ก ๆ เลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ดังต่อไปนี้
- สถานที่ ๆ ท่ีมีคนรวมตัวกันเยอะอย่างคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ งานเทศกาลต่าง ๆ งานมหกรรมสินค้า สถานบันเทิง สนามบิน เป็นต้น
- สถานที่ออกกำลังกาย เช่น สวนสาธารณะ ฟิตเนส ศูนย์กีฬา สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ สนามบาสเก็ตบอล สนามกอล์ฟ เป็นต้น
- การใช้รถและสิ่งสาธารณะร่วมกับผู้อื่น เช่น รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก รถเมล์ รถแท็กซี่ ห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น
- สถานที่ทางศาสนา เช่น โบสถ์ วัด มัสยิด เป็นต้น
- สถานที่ที่ต้องมีการสัมผัสโดนตัวคนอื่นอย่างร้านทำผม หรือร้านตัดผม
- การรับพัสดุหรืออาหารจากการสั่งของออนไลน์
- สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น แคมปิ้ง สวนสัตว์ คาเฟ่ เป็นต้น
- การพบปะรวมญาติ หรือนัดเจอกับเพื่อน ๆ
- สถานที่อื่น ๆ อย่างห้าง ร้านอาหารบุฟเฟต์ ร้านอาหารกลางแจ้ง โรงแรม หรือออฟฟิศทำงาน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กฉีดวัคซีนโควิด ได้ไหม จะเกิดอาการแทรกซ้อน หรือมีผลข้างเคียงหรือไม่?
หากต้องออกไปที่สาธารณะ ควรอยู่ห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร (ภาพโดย freepik.com)
วิธีลดความเสี่ยงจากการติดโควิด มีอะไรบ้าง
แม้เด็ก ๆ จะอยู่ในวัยที่ไม่สามารถระมัดระวังตัวเองได้ แต่คุณแม่ก็อาจป้องกันและช่วยเด็ก ๆ ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิดได้ ดังนี้
- หากต้องจัดงานพบปะกับคนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้เชิญแขกมาร่วมงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นจัดงานกลางแจ้ง จัดโต๊ะเก้าอี้ให้ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ให้แขกใช้ห้องน้ำนอกบ้าน และทำความสะอาดบริเวณที่จัดงานให้สะอาดเมื่อเลิกจัดงานแล้ว
- หากต้องทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น แนะนำให้ทำกิจกรรมนอกอาคาร เพื่อไม่ให้เชื้อโรคกักเก็บอยู่ภายในอาคาร และแพร่สู่คนอื่น ๆ ได้ง่าย
- งดรับแขกที่บ้านหากเป็นไปได้ โดยเน้นทำกิจกรรมพบปะคนอื่นทางออนไลน์แทน
- หากต้องออกไปนอกบ้าน ให้พยายามอยู่ให้ห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร
- ออกกำลังกายที่บ้านแทนการไปสวนสาธารณะ โดยอาจวิ่งเหยาะ ๆ อยู่กับที่ กระโดดเชือก หรือเล่นโยคะ
- ไม่พูดคุยกับใครตัวต่อตัวนานมากกว่า 15 นาที เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อจากคนนั้น ๆ ได้แม้จะไม่ได้สัมผัสโดนตัวกันก็ตาม
- ทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับคนบนรถสาธารณะในตอนเช้า
- ล้างมือทั้งก่อนและหลังใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งหลังไอและจาม โดยล้างด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หากอยู่ในที่สาธารณะและไม่สามารถล้างมือได้ ให้ใช้เจลที่ผสมแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์เพื่อล้างทำความสะอาดมือแทน
- พยายามไม่จับตา จมูก หรือปากหากไม่ได้ล้างมือ เพราะเชื้อโควิดมักจะเข้าไปในร่างกายผ่านทางอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้
- ให้ปิดปากขณะไอจามด้วยทิชชู่ หรือใช้ข้อศอกด้านในแทนหากตอนนั้นไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยอยู่
- ทำความสะอาดบริเวณที่นั่ง รวมถึงของที่ใช้เป็นประจำ เช่น โต๊ะทำงาน ลูกบิด สวิตช์ไฟ โทรศัพท์ แป้นพิมพ์ ก๊อกน้ำ อ่างล้างจาน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เป็นต้น
- พยายามอยู่ให้ห่างจากคนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการใช้รถหรือสิ่งของสาธารณะร่วมกับคนอื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก
- ไม่ควรออกไปนอกบ้านบ่อยถ้าไม่จำเป็น
- ไม่รับประทานอาหารจานเดียวกันกับคนอื่น ๆ
ทั้งนี้ คุณแม่และทุกคนในบ้าน ควรหมั่นดูแลและระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอเมื่อต้องออกไปพบปะคนอื่น ออกไปทำงาน หรือทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นพาหะของโรคหรือติดโควิด ซึ่งอาจทำให้เด็กติดโรคด้วยได้ในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กอายุยังน้อยอยู่ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการรุนแรงได้เมื่อเป็นโควิด เมื่อเรารู้ว่าเด็ก ๆ ยังไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนั้น เราจึงควรเริ่มที่ตัวเรานะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เที่ยวช่วงโควิด กับ 11 วิธี เที่ยวปลอดภัยไม่ต้องออกจากบ้าน
แม่ติดโควิด ยังสามารถให้นมลูกได้หรือไม่
อาการโควิดในเด็ก สังเกตยังไงดี มีสิ่งไหนที่คุณแม่ควรรู้ เพื่อเตรียมรับมือกับภัยร้าย
ที่มา : thairath , nebraskamed , bangkokbiznews , intermountainhealthcare
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!