ปัญหา “เด็กที่ถูกเร่งรัด” เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองมักต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในทุกด้านตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กต้องเผชิญกับความกดดันและความคาดหวังที่สูงเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ บทความนี้จะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทบทวนตัวเอง พร้อมกับ สังเกตอาการ เด็กที่ถูกเร่งรัด ไปพร้อมกันค่ะว่า ลูกน้อยที่บ้านกำลังมีภาวะของ The Hurried Child Syndrome หรือไม่
ทำความเข้าใจเรื่อง เด็กที่ถูกเร่งรัด The Hurried Child Syndrome
The Hurried Child Syndrome หรือ ภาวะเด็กถูกเร่งรัด หมายถึง ภาวะที่เด็กถูกผลักดันให้เติบโตเร็วเกินวัย รวมถึงการใช้ชีวิตที่รับผิดชอบสูง ถูกกำหนดให้ทำกิจกรรมต่างๆ มากมายเกินความสามารถของช่วงวัย ทั้งกิจกรรมทางวิชาการ กีฬา หรือศิลปะ โดยไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษเต็มเวลา รวมไปถึงความคาดหวังแบบเกินจริงว่าลูกต้องเขียนได้ บวกลบเลขได้ ต้องมีคำแนนที่ดีเสมอให้สมกับที่พ่อแม่คาดหวังไว้ ขาดโอกาสหัวเราะสนุกสนาน หรือทำตัวตามวัยกับเพื่อนที่อายุเท่ากัน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ
เด็กยุคนี้จึงไม่มีเวลาเล่น หมายถึงการเล่นจริงๆ นะคะ เล่นตามศักยภาพของช่วงวัย เล่นอย่างมีประโยชน์ต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ในระยะยาว เด็กหลายคนได้อ่านหนังสือที่ชอบน้อยลงเพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเรียนพิเศษ เมื่อถูกเคี่ยวเข็ญให้ทำสิ่งต่างๆ มากเท่าไรในวัยที่เด็กยังไม่พร้อม ทัศนคติต่อการเรียนยิ่งแย่ลง หลายคนเติบโตในแบบที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร มีดีอะไร ชอบทำอะไร สิ่งที่รู้ชัดอย่างเดียวคือ พ่อแม่ต้องการอะไรจากตัวเอง
|
สาเหตุที่ทำให้เด็กถูกเร่งรัด
|
ความคาดหวังของพ่อแม่ |
- พ่อแม่ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต หรือต้องการให้ลูกเก่งกว่า ได้ดีกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่าตัวเอง
- ต้องการให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี ไม่เพียงสมวัย แต่ต้องไปไวกว่าวัยของลูก
|
สภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูง |
- สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญกับความสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
- พ่อแม่หลายบ้านมักใช้ข้ออ้างว่า “อย่างไรก็ต้องแข่งขัน ก็ทำตั้งแต่ตอนนี้เลย ลูกจะได้ชิน”
|
การเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น |
- พ่อแม่มักเปรียบเทียบความสามารถของลูกกับเด็กคนอื่น
- เมื่อลูกมีความสามารถจะเป็นความภาคภูมิใจที่ได้คุยกับคนอื่นอย่างผ่าเผยว่าลูกของฉันทำได้
|
ขาดความเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก |
พ่อแม่อาจไม่ทราบ หรือขาดความเข้าใจ รวมถึงไม่พยายามทำความเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน |
The Hurried Child Syndrome เกิดได้ตั้งแต่วัยอนุบาล
ส่วนใหญ่แล้ว เด็กที่ถูกเร่งรัด จะเกิดขึ้นกับเด็กอนุบาลแล้วส่งผลไปถึงช่วงประถมปลาย จนถึงเข้าสู่วัยรุ่น โดยเด็กที่เข้าเรียนเร็วกว่าปกติ หรือต้องรับผิดชอบมากๆ ต้องอ่านหนังสือ ติวหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาล หรือเด็กที่จะต้องเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ทุกวันโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งมีข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุน้อยลงที่ต้องพบจิตแพทย์เด็ก คือประมาณ 2-3 ขวบ และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
เด็กที่ถูกเร่งรัดในด้านการเรียน มักจะเข้าเรียนเร็ว หรือครูให้ข้ามชั้นเพราะมีความรู้มาก เพราะพ่อแม่สอนเนื้อหาที่เกินกว่าอายุ แม้ในระยะแรกลูกมักมีผลการเรียนดี รู้สึกดีที่ได้ทำให้พ่อแม่พอใจในผลการเรียน แต่เมื่อสิ่งที่ต้องเรียนนั้นยากขึ้น ทั้งต้องเรียนต่อเนื่องยาวนานแบบไม่รู้จุดสิ้นสุด คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มสังเกตเห็นความเฉื่อยชา และเบื่อหน่าย
จนในที่สุดลูกจะละทิ้งสิ่งที่เคยพยายามเรียนให้ได้ตามที่พ่อแม่ต้องการ แต่ยังกังวลว่าพ่อแม่จะไม่ยอมรับ กระทั่งเรียนตามไม่ทัน จะเริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิ ขาดความสนใจ ไม่จดจำ
สังเกตอาการ เด็กที่ถูกเร่งรัด The Hurried Child Syndrome
คุณพ่อคุณแม่สามารถ สังเกตอาการเด็กที่ถูกเร่งรัด ได้ดังนี้
เนื่องจากเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ แบกความคาดหวังของพ่อแม่ไว้ จึงมีบุคลิกที่ชอบไขว่คว้าหาความสำเร็จที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็มีความกระวนกระวาย มีความอดทนต่ำ และหงุดหงิดง่ายตามไปด้วย
เนื่องจากตนเองถูกบีบคั้นในการต้องทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ เวลานั้น เวลานี้ จึงมักเน้นความถูกต้อง และยึดกับกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้มากจนเกินไป เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่ถูกคาดหวัง จนอาจมีปัญหาในการปรับตัวกับเพื่อน
ลูกอาจรู้สึกกังวลกับการทำกิจกรรมต่างๆ แบบที่ไม่สามารถผ่อนคลายได้ มีความเอาจริงเอาจัง แต่ไม่ร่าเริงแจ่มใส และรู้สึกอึดอัดเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน จนเกิดความเครียด กังวล และไม่มีสมาธิ
เด็กที่ถูกเร่งรัดอาจจะมีปัญหาด้านอารมณ์ โดยจะหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ร้องไห้ง่าย ไม่แจ่มใส แยกตัว วิตกกังวลสูง มักขาดความมั่นใจในตัวเอง อาจมีภาวะซึมเศร้า และรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ดีพอ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่สามารถทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ได้
ลูกจะตัวเล็ก ไม่สูง ไม่กินอาหาร เนื่องจากขาดการออกกำลังกาย มีอาการปวดหัว ปวดท้อง หรือมีปัญหาในการนอนหลับ อันเกิดจากความเครียดที่มากเกินกว่าจะควบคุมได้ บางครั้งอาจเป็นลม หมดแรง เหนื่อยล้า
มีปัญหาในการจดจ่อกับการเรียนรู้ ไม่สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยสนใจ ไม่สนุกหรือเบื่อการเรียน จนบางครั้งอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นได้ โดยเด็กที่มีภาวะถูกเร่งรัดมักชอบอยู่บ้านเฉยๆ มากกว่าออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ผลการเรียนตกลง ไม่สนใจต่อการเข้าเรียนและทำการบ้าน พึ่งพาพ่อแม่มากกว่าเดิม จนขาดทักษะในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
พูดปด ขโมย ลืมหรือปฏิเสธไม่ทำงานบ้าน เฉื่อยชา ไม่รับฟังความคิดเห็นของพ่อแม่ แยกตัว ไม่ร่วมกิจกรรม ต่อต้านสังคม ไม่ยอมเรียน หรือก้าวร้าว ขาดความรับผิดชอบ และจริยธรรมต่ำ ไปจนถึงเคร่งครัดกับตัวเองและคนอื่นมากเกินไป หรือแสดงพฤติกรรมเกินวัยทั้งคำพูดและท่าที
-
ปัญหาพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง
อาจมีการแสดงพฤติกรรมทางเพศเกินพอดี ทั้งด้านการพูด การแสดงออก หรือแต่งตัวเกินวัย มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ตั้งครรภ์ ทำแท้ง หรือเปลี่ยนคู่บ่อย หรือมีปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงต่อยาเสพติด และเสี่ยงอันตรายอื่นๆ ซึ่งมักจะพบบ่อยในช่วงที่เด็กเติบโตก้าวเข้าสู่วัยรุ่น
แก้ปัญหา เด็กที่ถูกเร่งรัด จากจุดเริ่มต้น
เด็กทุกคนล้วนต้องการเวลาในการเติบโตและพัฒนาอย่างเหมาะสม สมดุล และพอดี ทั้งด้านร่างกายและจิตใจค่ะ ในเริ่มแรกลองถามตัวเองก่อนนะคะว่า หากมีลูกวัยอนุบาลที่บางครั้งยังแต่งตัวเองทั้งหมดไม่ได้ กินข้าวเองยังเลอะเทะ อาบน้ำต้องมีคุณแม่ช่วย แล้วคุณพ่อคุณแม่จะคาดหวังให้ลูกที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้แบบ 100% นี้ มีความเก่งกาจเหนือธรรมชาติตามวัยของเขาได้อย่างไร ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กถูกเร่งรัด คือ
-
เข้าใจพัฒนาการและให้โอกาสลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเด็ก และให้เวลาลูกได้เป็นเด็ก อนุญาตให้ลูกได้เล่นและทำกิจกรรมที่สนใจ ได้แสดงความคิดเห็น และลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ใช้จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ไปกับการเล่น หรือกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยคุณพ่อคุณแม่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของสภาพแวดล้อม และส่งเสริมกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกทักษะร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม อย่างสนุกสนาน ต่อยอดจนเกิดทักษะใหม่ๆ ตามมา
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก สนับสนุนและให้กำลังใจลูกเสมอ เพียงให้ลูกได้เล่นอย่างเต็มที่ในวัยเด็กเล็ก เพื่อสร้างทักษะความพร้อมตามวัยผ่านการเล่นและการเลี้ยงดูที่ดีของพ่อแม่ ลูกจะมีความมั่นใจ รู้ความต้องการของตัวเอง เห็นตัวตนตัวเองอย่างชัดเจน ลูกก็จะมีความพร้อม เมื่อถึงจุดที่ถูกเร่งด้วยระบบใดๆ ก็ตามในสังคม ลูกจะแข็งแกร่งพอที่จะก้าวต่อไปได้
-
มีพื้นที่แห่งความผ่อนคลาย
เด็กทุกคนต้องการเวลาสำหรับการพักผ่อนและเป็นอิสระจากคำสั่งค่ะ เพื่อให้สมองได้พัก ดังนั้น เราควรคงสภาพให้ลูกได้แสดงความเป็นเด็ก มีความสนุกสนาน มีความสุขในการใช้ชีวิต และมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ถึงแม้ว่าลูกยังไม่สามารถทำไปถึงระดับที่พ่อแม่ต้องการได้ก็ตาม
-
ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
หากพบว่าปัญหาการถูกเร่งรัดของลูกรุนแรงขึ้น แม้จะปรับวิธีการเลี้ยงดูต่างๆ ไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปปรึกษาแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็กนะคะ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กถูกเร่งรัดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และมีความมั่นใจในตัวเองได้
การเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่คือสิ่งที่จะส่งผลต่อพัฒนาการและบุคลิกภาพของลูกน้อยไปตลอดชีวิตของเขานะคะ และผลจากการเร่งรัดมักทำให้ลูกกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพแบบแข่งขันสูง ชอบเปรียบเทียบ และไขว่คว้าหาความสำเร็จที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ก็จะสะสมความเครียดและความวิตกกังวลไปตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วค่ะที่เราจะกลับมาทบทวนว่าได้มอบช่วงเวลาวัยเด็กอันมีค่าเหมาะสมกับพัฒนาการตามช่วงวัยให้กับลูกหรือเปล่า
ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ , ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย , www.bangkokbiznews.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 วิธี สอนลูกให้มี Logical Thinking รู้ถูกผิด รู้หน้าที่ อยู่เป็น คิดได้
ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?
อย่าเพิ่งตื่นตูม! ลูกพูดคำหยาบ กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!