อาการคนท้อง 6 เดือน ก็ยังเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นขนาดของท้องและน้ำหนักของคุณแม่เอง ไปดูกันค่ะว่า อาการคนท้อง 6 เดือน มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกบ้าง
ท้อง 6 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- น้ำหนัก
จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกหิวมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 500 แคลอรี่ต่อวัน
- ปริมาณเลือด
ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของครรภ์ ซึ่งปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นเป็นพลาสมาที่จะไปเจือจางเลือด อาจส่งผลให้คุณแม่เกิดภาวะโลหิตจางขึ้นได้
- มดลูกหดรัดตัว
เป็นก้อนแข็งนูนขึ้นมาเป็นระยะๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ
- ตะคริว
ในคุณแม่ท้องบางรายก็ยังพบว่ามีอาการตะคริวเกิดขึ้นอยู่บ้าง แนะนำว่าเมื่อเกิดอาการตะคริวขึ้นบริเวณน่อง ต้นขา และปลายเท้า ให้คุณแม่กระดกปลายเท้าขึ้น จะทำให้กล้ามเนื้อที่จับตัวเป็นก้อนนั้นตึงและค่อยๆ คลายตัวออก ทำให้อาการเป็นตะคริวดีขึ้น
- ปวดชายโครง
ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้ขยายไปจนเกือบเข้าใกล้ชายโครง บวกกับการดิ้นของทารก อาจทำให้คุณแม่ท้องมีอาการเสียดชายโครงขึ้นมาได้
พัฒนาการของทารกในครรภ์
ทารกอาจจดจำเสียงจากภายนอกได้ และเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อเสียงที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเสียงของคุณแม่ ปอดของทารกจะเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอด เพื่อช่วยให้ถุงลมภายในปอดขยายตัว ป้องกันถุงลมยุบตัวมากเกินไปจนเป็นอันตราย ทารกมีระบบประสาทที่เจริญเติบโตมากขึ้น และผิวหนังดูเนียนนุ่มยิ่งขึ้นเพราะเริ่มมีไขมันในร่างกาย คุณแม่หลายท่านสงสัยว่า ท้อง6เดือนลูกอยู่ท่าไหน ถ้าดูตามอัลตราซาวด์แล้วทารกในครรภ์จะอยู่ในท่านอนขวาง หรือหัวอยู่ค่อไปทางบน และจะเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนทิศทางมาทางช่องคลอดมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้กำหนดคลอด
ความแตกต่างของมิติอัลตราซาวด์
- ภาพที่ได้จากการตรวจอัลตราซาวด์ทั่วไปจะเป็นภาพ 2 มิติ คือ เป็นภาพตัดขวางทีละภาพ ตามแนวของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกไปในแนวระนาบ (มิติที่ 1 คือความกว้าง มิติที่ 2 คือ ความยาว) ในการสร้างภาพ 3 มิติ หัวตรวจและอุปกรณ์ประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยหัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบพร้อมกัน ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลติดต่อกัน จากนั้นข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังหน่วยประมวลผลของเครื่องและทำการสร้างเป็นภาพ 3 มิติ
- สำหรับมิติที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาคือความลึก ซึ่งจะทำให้ภาพนั้นเสมือนวัตถุจริงไม่ใช่ภาพตัดขวางของวัตถุ
- ส่วนการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ การประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพแล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับภาพยนตร์ซึ่งมีมิติที่ 4 หรือก็คือ เวลานั่นเอง ในการตรวจทารกในครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ จะสามารถเห็นภาพทารกเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์ ตลอดจนเห็นกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำอยู่ในขณะตรวจได้ เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้าไปมา ยกแขน ขยับนิ้ว
คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร
- อาหารบำรุงครรภ์ ควรเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์จะเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางสูง
- อาหารที่ช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง เช่น น้ำขิง และยังช่วยเร่งการผลิตน้ำนมได้เป็นอย่างดี
- ผักผลไม้ โดยเฉพาะผักสีเขียว ผักสีส้ม เพราะมีประโยชน์ให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างสมวัยและช่วยให้สุขภาพของคุณแม่แข็งแรงอีกด้วย
- อาหารเร่งน้ำนม เช่น แกงเลียง ยำหัวปลีและผัดขิง เป็นต้น
- การเดิน การนั่ง การนอน ต้องระมัดระวังมากขึ้น
- การนอนคว่ำ ในช่วงไตรมาสแรกอาจไม่ได้ส่งผลอะไร แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ท้องเริ่มใหญ่ขึ้นควรนอนตะแคงด้านซ้าย เพราะจะช่วยพยุงท้องได้ดีและช่วยให้คุณแม่หายใจได้สะดวกมากขึ้น
- การทานยา จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
- ผิวแตกลาย เป็นผลข้างเคียงจากการที่ท้องคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว การป้องกันโดยทาครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของมอยเจอไรเซอร์ อาจช่วยลดรอยแตกลายได้บ้าง
- อึดอัด แน่นท้อง สามารถบรรเทาได้ด้วยการทานอาหารให้น้อยลงแต่แบ่งเป็นหลายมื้อ ๆ
- การออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็น เพราะส่งเสริมให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ แข็งแรงขึ้นและช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบายวันละประมาณ 7-9 ชั่วโมง ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ท้องไม่ผูก การพักผ่อน ให้มากกว่าปกติและควรได้พักผ่อนในช่วงกลางวันด้วย
- การแต่งกาย ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม ไม่รัดรูป ปรับขนาดยกทรงให้พอเหมาะกับเต้านมที่เพิ่มขนาดขึ้น รองเท้าควรใส่ไม่มีส้น
ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ดีต่อคุณแม่อย่างไร
- ช่วยป้องกันน้ำหนักขึ้นมากเกินระหว่างตั้งครรภ์
- ช่วยป้องกันภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- ช่วยลดอาการปวดหลัง
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปัสสาวะเล็ด
- ช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าหรือทำให้อาการความเครียดดีขึ้น
- ช่วยคงสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ช่วยป้องกันระยะการพักฟื้นและการดูแลหลังคลอดที่ฟื้นตัวนานเกินไป
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด
ออกกำลังกายในน้ำดีอย่างไร
- แรงลอยตัวของน้ำ ช่วยพยุงร่างกาย ลดแรงกระทำต่อข้อ ทำให้มีแรงกระแทกต่ำและเพิ่มอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น
- แรงต้านของน้ำ ขึ้นอยู่กับทิศทาง ความเร็ว และลักษณะการเคลื่อนไหวในน้ำช่วยให้การออกกำลังกายจำพวกเสริมความแข็งแรงให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- แรงดันน้ำ ขึ้นอยู่กับระดับน้ำว่าอยู่ที่ระดับใดของร่างกาย ส่วนที่อยู่ในน้ำจะมีการไหลเวียนโลหิตที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดบวมตามส่วนปลายของร่างกาย และมีการปรับตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอุณหภูมิของร่างกายขณะออกกำลังกายขึ้นสูงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการออกกำลังกายบนบก
- การนำความร้อนของน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสม ควรอยู่ที่อุณหภูมิห้อง โดยอยู่ที่ประมาน 28-33 องศา ซึ่งปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ให้ร้อนเกินไป จนส่งต่ออุณหภูมิร่างกายของคุณแม่ซึ่งอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้อุณหภูมิที่เหมาะสม ยังช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการปวดเมื่อยล้าได้ เช่น ปวดหลัง เชิงกราน ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย เป็นต้น
ทั้งนี้ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ควรได้รับคำแนะนำหรือปรึกษาสูตินรีแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูก่อน เพื่อประเมินข้อห้ามหรือข้อควรระวังก่อนการออกกำลังกาย
ข้อห้ามการออกกำลังกายของคุณแม่ตั้งครรภ์
- มีโรคหัวใจหรือปอดอย่างรุนแรง
- มีภาวะปากมดลูกหลวม
- มีตั้งครรภ์แฝดหลายคนที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
- มีเลือดออกปากช่องคลอดในไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ หรือมีเลือดออกจากปากช่องคลอดใด ๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
- มีภาวะรกเกาะต่ำหลังอายุครรภ์ 26 สัปดาห์
- มีถุงน้ำคร่ำแตก
- มีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- มีภาวะซีดรุนแรง
- มีภาวะทารกโตช้าในครรภ์
- มีโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไทยรอยด์ที่รุนแรงและควบคุมไม่ได้
- มีภาวะโรคหัวใจที่ยังไม่คงที่
- มีการติดเชื้อใด ๆ ที่อาจส่งผลต่อการแพร่เชื้อทางน้ำได้ เช่น การติดเชื้อทาง ผิวหนัง บาดแผลเปิด เป็นต้น
- กลั้นอุจจาระ/ปัสสาวะไม่ได้
- มีภาวะลมชักรุนแรง
- ผู้ป่วยที่ยังมีความคิดจะฆ่าตัวตาย
ท่านอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ท่านอนตะแคงซ้าย
โดยสอดหมอนไว้ใต้ท้องและระหว่างเข่าทั้งสองข้าง เนื่องจากท่านี้จะไม่ทำให้มดลูกไปกดทับเส้นเลือดแล้ว ยังช่วยให้สารอาหารที่อยู่ในเลือดไหลไปเลี้ยงทารกในครรภ์ผ่านสายรกได้ง่ายขึ้น และเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำหนักของครรภ์ไปกดทับบริเวณตับ ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่อยู่ค่อนไปทางด้านขวา
ท่านอนที่คุณแม่ควรเลี่ยง
- ท่านอนหงาย
ไม่ใช่ท่านอนที่ดีและสบายอีกต่อไปสำหรับคนท้อง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 6 ที่ท้องเริ่มขยายใหญ่ มีน้ำหนักและแรงกดที่เพิ่มมากขึ้น การนอนหงายจะเพิ่มแรงกดที่บริเวณเส้นเลือดใหญ่ หลอดเลือดดำ และทางเดินเลือดบริเวณท้อง ซึ่งจะทำให้การหมุนเวียนเลือดภายในร่างกายผู้เป็นแม่ช้าลง อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หายใจถี่ หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดลดต่ำลง รวมทั้งเลือดและสารอาหารจะถูกลำเลียงส่งไปยังทารกช้าลง
- ท่านอนคว่ำ
นอกจากการนอนคว่ำจะทำให้ผู้เป็นแม่หายใจลำบากแล้วยังเป็นการกดทับบริเวณมดลูก อาจเป็นอันตรายต่อทารกที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ภายใน ท่านอนคว่ำจึงเป็นท่าที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับคนท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุครรภ์ 4-9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่หากคุณแม่กำลังนอนหลับสบายในท่าที่ถนัด ก็ไม่จำเป็นต้องปลุกตัวเองให้ลุกขึ้นมากลางดึกเพื่อเปลี่ยนกลับไปนอนในท่าตะแคงซ้าย คุณแม่ควรนอนในท่าที่ตนรู้สึกสบายเพื่อให้ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ควรระลึกไว้เสมอว่า แม้ไม่ได้นอนในท่าที่ดีที่สุด แต่วิธีนอนที่ดีที่สุด คือ ไม่นอนในท่าใดท่าหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพแม่และเด็กเป็นเวลานาน ๆ
ที่มา : (ram-hosp),(pobpad),(Bangkok Hospital)
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บท้องคลอด วิธีสังเกต และแยกระหว่างปัสสาวะรั่วกับถุงน้ำคร่ำแตก
แกงเลียงหัวปลี เมนูง่ายๆ แต่หาทานยาก อร่อย แถมได้ประโยชน์