แพทย์แนะ พ่อแม่ไม่ควรสอน เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง
แพทย์แนะ พ่อแม่ไม่ควรสอน เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง ได้ยินประโยคที่ว่ามานานค่อนชีวิต จากใจคนเป็นพี่ไม่เคยแฮปปี้กับประโยค และ ความคิดแบบนี้ของผู้ใหญ่เลยจริง ๆ ค่ะ
เคสที่เกิดขึ้นจริง
คุณแม่ลูกสอง ที่มีลูกในวัย 6 ขวบ และ 3 ขวบ เล่าให้หมอฟังว่า พี่เป็นคนหวงของมาก เวลาน้องมาแย่งของเล่น ก็จะร้องโวยวาย ตีน้องแรง ๆ จนน้องร้องไห้
หมอถามว่า แล้วคุณแม่ทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในบ้านนี้ คือ
“ให้น้องไปสิ น้องร้องไห้ จะได้จบ ๆ”
“ทำไมก้าวร้าวแบบนี้ ตีน้องทำไม”
บางทีแม่โมโหมาก ๆ ก็ตีพี่ไปด้วย โทษฐานที่ไปตีน้อง และ จบท้ายด้วยประโยคคลาสสิค
“เป็นพี่ต้องรู้จักเสียสละให้น้องนะ”
คุณแม่ อาจจะคิดแค่ว่าให้เรื่องมัน จบๆ แต่อาจจะไม่จบ สำหรับคนเป็นพี่ และจะกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต
ความในใจลูกคนโต
สิ่งที่เกิดซ้ำ ๆ คงสร้างความสับสนในใจให้กับคนพี่ไม่น้อย
….หนูผิดอะไร ผิดที่เกิดเป็นพี่คนโต ?
…หนูต้องยอมจำนนน้องทุกครั้งเลยหรือ ?
…อันนี้เรียกว่า เสียสละ อย่างที่แม่บอกหรือ ?
…ความเสียสละ ไม่เห็นดีเลย ทำให้หนูถูกคุณแม่ตี
ของเล่นก็ถูกแย่ง หนูไม่ชอบน้องเลย
มันไม่ได้จบอย่างที่พ่อแม่คิด
“ให้น้องไปสิ น้องร้องไห้ จะได้จบ ๆ”
ถึงเหตุการณ์จะจบสำหรับแม่ จะได้ไม่ต้องทนรำคาญเห็นพี่น้องทะเลาะกัน แต่ประโยคดังกล่าว ไม่จบในความรู้สึกของคนเป็นพี่แน่ ๆ อาจกลายเป็นบาดแผลทางใจ
เพราะเขาจะเริ่มมีความเชื่อว่า ตัวเองไม่เป็นที่รัก แม่รักน้องมากกว่า โกรธที่แม่ไม่ยุติธรรม ระยะยาวจึงไม่สามารถแก้ปมขัดแย้งพี่น้องได้ หรืออาจพัฒนากลายเป็นภาวะซึมเศร้า และ คนน้องอาจติดนิสัยกลายเป็นคนเอาแต่ใจ ไม่เคารพพี่
พ่อแม่ควรทำแบบนี้
หมอแนะนำว่า ต่อไปให้แม่ทำแบบนี้ ย่อตัว สบตาคุยในระดับสายตาเดียวกับลูกคนโต สัมผัสตัว พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ไม่โมโหว่า
“แม่รู้ว่า หนูรู้สึกโกรธ ที่น้องแย่งของ ลูกโกรธได้ แต่ลูกโกรธแล้วตีน้องไม่ได้นะครับ” (แน่นอน ว่าแม่เองก็ต้องไม่ใช้วิธีตีลูกเวลาโกรธเป็นตัวอย่างเช่นเดียวกัน) “เดี๋ยวลูกอารมณ์ดีขึ้น เราคุยกันอีกที”
หลังจากอารมณ์สงบขึ้น เข้าสู่ช่วงสอน ให้แม่หันมาทางน้อง
“เวลาลูกอยากเล่น ไปแย่งของพี่แบบนั้นไม่ได้นะลูก ต้องขออนุญาตก่อน”
“เดี๋ยวแม่สอนให้ …ขอพี่แบบนี้นะคะ (สาธิต)”
แล้วหันมาทางพี่
“น้องคงอยากเล่นกับลูกด้วย แต่ยังพูดขอไม่ค่อยเป็น หนูจะช่วยน้องยังไงดีลูก”
“แม่ดีใจนะ ที่เห็นลูกแบ่งของเล่นให้น้อง ลูกเป็นคนมีน้ำใจมากจ้ะ”
การรู้จักแบ่งปัน เสียสละ ที่เกิดจากความเต็มใจ โดยไม่ถูกบังคับ
เลิกยัดเยียดคำว่า “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” กับคนพี่เสียที
ความเสียสละ ควรออกมาจากใจ ไม่ใช่ถูกบังคับให้ทำ มันไม่ได้ประโยชน์เลย ถึงแม้เขาจะเอาของเล่นให้น้อง แต่ทำไปด้วยความคับข้องใจ หรือกลัวถูกตี
ความเสียสละ ต้องไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน แต่สามารถแบ่งปัน ไปด้วยความอิ่มใจ ที่ปรารถนาจะช่วยคนอื่นหากข้างในใจ เขาถูกเติมเต็มด้วยความสุข ความรู้สึกเป็นที่รัก ความยุติธรรมไม่ลำเอียงที่แม่แสดงให้เขาเห็น
เมื่อนั้น เขาจึงพร้อมที่จะเสียสละ หรือ แบ่งปันให้น้องเอง โดยไม่จำเป็นต้องสอนด้วยประโยคว่า “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง”
อย่ายัดเยียดบังคับ คำว่า “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” ให้กับลูกคุณเลย
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพ และ สังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ เอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่ และ เด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และ ผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และ สื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่ และ เด็ก โภชนาการแม่ และ เด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และ จิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้ และ มีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “ พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง ”
souce หรือ บทความอ้างอิง :
dailymilk.co.uk
แฮปปี้คิดส์ คลินิกเวชกรรม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
11 เคล็ดลับสอนให้พี่น้องรักกัน (ไม่ใช่เรื่องยาก)
พี่อิจฉาน้อง ป้องกันลูกไม่ให้อิจฉากันตั้งแต่ในท้อง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!