12 เรื่องควรรู้ ! สำหรับคุณแม่ ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 ท้องนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

หากวางแผนจะมีลูกคนที่ 2 คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องสอง ต้องรู้ 12 เรื่องต่อไปนี้ค่ะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือครรภ์นี้อย่างมั่นใจ
คุณแม่มือโปรที่ผ่านการตั้งครรภ์และคลอดลูกคนแรกมาแล้ว และกำลังจะมีลูกคนที่ 2 อาจอยากรู้ว่า การตั้งครรภ์ท้องสอง มีความเหมือนหรือแตกต่างจากการตั้งครรภ์ครั้งแรกอย่างไรบ้าง จะรู้สึกเหมือนกันมั้ย? ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากหรือเปล่า เพราะแม้จะมีประสบการณ์แล้ว แต่เชื่อเถอะค่ะว่า ท้องที่ 2 จะยังมีเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้อยู่ดี บทความนี้รวบรวม 12 เรื่องควรรู้ สำหรับคุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 มาให้ เพื่อคุณแม่เตรียมตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง พร้อมต้อนรับลูกน้อยคนใหม่ได้อย่างมั่นใจ
▼สารบัญ
12 เรื่องควรรู้ ! สำหรับคุณแม่ ตั้งครรภ์ท้องที่ 2
โดยปกติแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 มักจะรู้สึกแตกต่างจากการตั้งครรภ์ครั้งแรกเสมอค่ะ ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ เนื่องจากในท้องสองนั้นร่างกายของคุณแม่เคยผ่านกระบวนการตั้งครรภ์มาแล้ว และเรียนรู้วิธีการทำงานของทุกขั้นตอนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลค่ะหากสิ่งที่คุณแม่ไม่ได้สังเกตเห็นจนกระทั่งเข้าสู่เดือนที่ 6 ในการตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจปรากฏให้รับรู้เร็วกว่ามากในคุณแม่ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 มาดูกันดีกว่าค่ะว่า 10 เรื่องที่ คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องสอง ควรรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือนั้นมีอะไรบ้าง
-
ร่างกายเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
คุณแม่ที่มีประสบการณ์ตั้งครรภ์มาแล้วย่อมทราบดีว่าร่างกายคนท้องนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติอย่างมาก แต่รู้มั้ยคะว่าสำหรับคุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 การเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้นกับท้องแรกนั้นจะเกิดอย่างรวดเร็วขึ้นในท้องที่ 2 โดยเฉพาะขนาดและความนูนของหน้าท้องที่จะเห็นชัดเจนเร็วกว่าท้องแรก ซึ่งท้องแรกคุณแม่อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของขนาดหน้าท้องในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่กับท้องสองจะเห็นเร็วขึ้น เนื่องจากร่างกายเคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว กล้ามเนื้อหน้าท้อง rectus abdominis และมดลูกมีแนวโน้มที่จะยืดหยุ่นเร็วกว่าเดิม ผิวหนังหน้าท้องไม่กระชับเท่าที่ควร ทำให้ท้องของคุณแม่เริ่มนูนเร็วกว่าตอนตั้งครรภ์ครั้งแรกค่ะ
-
อาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องในแต่ละครั้งอาจไม่เหมือนกัน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในท้องที่สองอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือแพ้อาหารชนิดที่แตกต่างจากการตั้งครรภ์ครั้งแรก ซึ่งหากท้องนี้มีอาการแพ้รุนแรงคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำวิธีบรรเทาอาการอย่างเหมาะสมค่ะ
-
ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 อาจรู้สึกเจ็บปวดและกดดันมากขึ้น
ในการตั้งครรภ์ครั้งที่สองคุณแม่จะพบว่าตัวเองรู้สึกปวดเมื่อยและรู้สึกกดดันมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อหน้าท้องและเอ็นมดลูกที่คลายตัว และไม่รองรับมดลูกที่กำลังเติบโตเหมือนกับการตั้งครรภ์ครั้งแรก ทำให้อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัวอาจรุนแรงขึ้น รวมถึงอาการคลื่นไส้หรืออ่อนเพลียอาจปรากฏเร็วกว่าท้องแรก เพราะกล้ามเนื้อและกระดูกที่เคยยืดหยุ่นจากการตั้งครรภ์ครั้งแรกจะไม่ฟื้นตัวทันที ร่างกายจึงตอบสนองเร็วขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายเบาๆ และพักผ่อนให้เพียงพอนะคะ
-
รู้สึกถึงลูกดิ้นเร็วขึ้น
คุณแม่อาจรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้เร็วกว่าการตั้งครรภ์ครั้งแรก เนื่องจากผนังหน้าท้องและกล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น ลูกน้อยจึงมีอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น นอกจากนี้ ตัวคุณแม่เองก็คุ้นเคยกับความรู้สึกลูกดิ้นมาแล้ว ไม่สับสนระหว่างอาการลูกดิ้นกับอาการทางร่างกายอื่นๆ จึงรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้เร็วกว่านั่นเองค่ะ ซึ่งการนับลูกดิ้นเป็นสิ่งสำคัญใรช่วงตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ควรสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกอย่างสม่ำเสมอนะคะ
-
เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
แม้ว่าการตั้งครรภ์ครั้งแรกจะช่วยเสริมความมั่นใจในท้องสองให้คุณแม่ได้ แต่เชื่อเถอะค่ะว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องสองส่วนใหญ่ก็ยังคงรู้สึกวิตกกังวลหรือกดดันและมีความเครียดจากการจัดการหลายๆ อย่างในชีวิตได้ โดยเกี่ยวกับการสมาชิกใหม่ในครอบครัวที่จะเพิ่มขึ้นมา เช่น การดูแลลูกคนแรก งานบ้านที่ต้องจัดการ หรือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับทารกน้อยคนที่ 2 ดังนั้น การดูแลสุขภาพจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณแม่ควรหาวิธีผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ หรือการหากิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจค่ะ
-
อาจมีปัญหาการนอนหลับพักผ่อนตามมา
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 เมื่อท้องโตขึ้น การหาท่าทางการนอนที่สบายอาจยากขึ้น รวมทั้งการมีลูกคนแรกก็อาจทำให้คุณแม่ต้องตื่นบ่อยเพื่อดูแล หรือทำกิจกรรมต่างๆ กับลูก ระยะเวลาของการพักผ่อนในตอนกลางคืนจึงอาจลดน้อยลง ในการตั้งครรภ์ครั้งแรก คุณแม่อาจมีอิสระในการงีบหลับ พักผ่อน หรือเข้านอนทันทีหลังจากอาหารเย็น แต่สำหรับท้องที่สองแล้ว ลูกคนแรกในวัยหัดเดิน หรือวัยเรียนก็ตาม จะทำให้เวลาที่จะงีบพักของคุณแม่หมดไป ดังนั้น เตรียมรับมือและจัดการเรื่องการนอนของท้องนี้ให้ดีนะคะ
นอกจากนี้ ในกรณีที่ท้องแรกกับท้องสองไม่ห่างกันมาก ร่างกายของคุณแม่อาจยังคงไม่ฟื้นตัวจากการตั้งครรภ์ครั้งแรก สารอาหารที่จำเป็นอย่าง “ธาตุเหล็ก” อาจลดลงหรือไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่เหนื่อยล้ามากกว่าปกติ รวมถึงเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางด้วย
-
เจ็บท้องหลอก อาจมาเร็วกว่าเดิม
อาการเจ็บท้องเตือน (Braxton Hicks contractions) ที่คุณแม่เคยรู้สึกในช่วงท้ายๆ ของท้องแรก อาจพบว่ามาเร็วขึ้นมากในท้องที่ 2 และอาจรู้สึกรุนแรงกว่าท้องแรกด้วย เนื่องจากความรู้สึกและการรับรู้ร่างกายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้คุณแม่ไม่สบายใจ สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าหากรู้สึกเจ็บท้องก่อน 36 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ คุณควรติดต่อแพทย์ทันที
-
เวลาที่ใช้ในการคลอดลดลง
โดยทั่วไป การคลอดครั้งที่สองจะใช้เวลาน้อยกว่าการคลอดครั้งแรกค่ะ เพราะร่างกายเคยผ่านการคลอดมาแล้ว ซึ่งโดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการคลอดระยะออกแรงจากปากมดลูกเปิด 6-10 เซนติเมตร มักจะสั้นลงประมาณครึ่งหนึ่งในการคลอดครั้งที่สอง (หรือครั้งต่อๆ ไป) และเวลาของการเบ่งก็จะสั้นลงเช่นกันค่ะ
-
ภาวะแทรกซ้อนอาจต่างจากท้องแรก
อย่าชะล่าใจว่าท้องแรกไม่มีภาวะแทรกซ้อนแล้วท้องหลังจะเป็นเช่นเดียวกันนะคะ เพราะบางที คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องสอง อาจต้องประสบกับอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ หรือท้องแรกคุณแม่อาจมีความเสี่ยงการตั้งครรภ์มาก แต่ท้องสองไม่เป็นอะไรเลยก็ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- มีอาการไซนัสอักเสบจากการตั้งครรภ์อย่างรุนแรงในท้องแรก แต่ไม่รู้สึกถึงอาการนี้เลยในการตั้งครรภ์ครั้งที่สอง
- ครั้งแรกอาการแพ้ท้องสามารถบรรเทาได้ แต่ในท้องสองกลับมีอาการแพ้ท้องคลื่นไส้ตลอด 9 เดือน
- อาจพบภาวะรกเกาะต่ำในการตั้งครรภ์ครั้งที่สอง
- มีความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษในท้องแรก แต่หายไปในท้องสอง เป็นต้น
-
การฟื้นตัวหลังคลอดอาจแตกต่างกัน
การฟื้นตัวหลังคลอดในแต่ละครั้งอาจไม่เหมือนกัน ในการคลอดครั้งที่ 2 คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยล้า หรือปวดเมื่อยมากกว่าการคลอดครั้งแรก คุณแม่บางคนรู้สึกเจ็บท้องหลังคลอดหรือปวดเกร็งหลังคลอดไม่กี่วันในท้องแรก เนื่องจากมดลูกกำลังกลับคืนสู่ขนาดเดิม ซึ่งอาการปวดเกร็งนี้มีความเป็นไปได้มากกว่าอาจรุนแรงขึ้นในการคลอดลูกคนที่สอง แต่โดยมากการฟื้นตัวของการตั้งครรภ์ครั้งที่สองจะดีกว่าท้องแรกค่ะ คุณแม่บางคนเจ็บ ปวด แต่ในระยะเวลาไม่นานเท่าท้องแรก และสามารถลุกเดินเคลื่อนไหวได้เร็วกว่าด้วย
-
แม่ตั้งครรภ์ท้องสอง ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับลูกคนโต
การดูแลลูกคนแรกควบคู่กับการตั้งครรภ์ท้องสอง อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยและเครียดกว่าปกติ บางกรณีลูกคนโตอาจรู้สึกสับสน หรืออิจฉา เมื่อรู้ว่าจะมีน้องคนใหม่เกิดมานครอบครัว ดังนั้น คุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูกให้เข้าใจ เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมตัวต้อนรับน้อง และควรจัดสรรเวลาให้กับลูกคนโตอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าถูกละเลยค่ะ
-
คุณแม่จะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อ ตั้งครรภ์ท้องที่ 2
ไม่ได้มีแค่เรื่องที่น่ากังวลนะคะ แต่การตั้งครรภ์ที่ 2 ยังมีเรื่องราวดีๆ ในการทำให้ความน่ากลัว ความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์ที่เคยมีจากท้องแรกหายไป เพราะทุกอย่างคุณแม่เคยผ่านมันมาได้หมดแล้ว ทำให้การตั้งครรภ์ครั้งที่สองเป็นไปด้วยความมั่นใจมากขึ้น การตัดสินใจต่อภาวะต่างๆ และการจัดการปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดระหว่างการตั้งครรภ์ก็ดีขึ้นด้วยค่ะ
12 เรื่องควรรู้ ! สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ท้องที่ 2 ที่เรานำมาฝากครั้งนี้ ไม่ได้จะมาสร้างความกังวลให้คุณแม่นะคะ แต่เพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในท้องสองนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลตัวเองของคุณแม่ ทั้งการพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตใจ และไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้คุณแม่มีพลังในการดูแลครอบครัวและเตรียมตัวรับมือกับการตั้งครรภ์และการคลอดกำลังจะมาถึงค่ะ อ้อ… อย่าลืม วางแผนการเงินล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจตามมาหลังจากการเป็นคุณแม่ลูกสองด้วยนะคะ
ที่มา : www.thebump.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตั้งครรภ์ ท้องนิ่มหรือแข็ง ? คุณแม่มือใหม่กดท้องเองได้มั้ย? เช็กขนาดท้องแม่แต่ละเดือน
คนท้องเป็นร้อนใน ส่งผลต่อครรภ์ไหม? ใช้ยาอะไรได้บ้าง รับมือยังไงให้หายไว
คนท้องไอกินอะไรถึงหาย คนท้องไอบ่อย อันตรายมั้ย แก้ไขยังไงดี?