รู้จักหรือไม่ ? โรคคลั่งผอม หรือ อะนอเร็กเซีย เป็นโรคทางจิตเวชที่มีปัจจัยในการเกิดโรคที่หลากหลายมาก เป็นโรคที่น่ากลัว มีความรุนแรง และรักษาได้ยาก เพราะผู้ป่วยมักต่อต้านการรักษา จากการที่กลัวว่าน้ำหนักตนเองจะขึ้น คุณแม่หลังคลอดที่ไม่พอใจรูปร่างตนเอง หากไม่ระวังในความพอดี ก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคนี้เช่นกัน เรามาทำความรู้จักโรคนี้ไว้ก่อนดีกว่า
อะนอเร็กเซีย คืออะไร ?
สำหรับโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) หรือที่ใครหลายคนอาจรู้กันดีในชื่อ “โรคคลั่งผอม” ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ถือเป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวกับอาหารที่ทานเข้าไป แต่เป็นพฤติกรรมการทานอาหารที่น้อยกว่าปกติ เพราะให้ความสำคัญกับรูปร่างมากเกินไป กลัวอ้วนจนเกินไป อาการที่เห็นได้ชัด คือ รูปร่างของผู้ป่วยจะผอมบางมากกว่าคนทั่วไป, ใช้ยาในการลดน้ำหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป ไปจนถึงล้วงคอเพื่อให้อาเจียนอาหารที่ทานเข้าไปออกมา เป็นต้น
แม้โรคนี้จะดูเหมือนไม่อันตราย แต่ด้วยเป็นอาการทางจิตจึงรักษาได้ไม่ง่าย นอกจากนี้โดยส่วนมากจะพบว่าผู้ป่วยมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมการทานอาหารที่น้อยเกินไปนั้น ส่งผลให้มีกระดูกพรุน, เสี่ยงโลหิตจาง และส่งผลรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจ ดังนั้นโรคนี้จึงส่งผลร้ายกว่าที่คิด และรุนแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิตนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำหนักแม่น้อยไปไหม? น้ำหนักตั้งครรภ์ควรขึ้นเท่าไหร่ น้ำหนักคนท้องควรขึ้นกี่กิโล
วิดีโอจาก : Thai PBS
สาเหตุของการเกิดโรคคลั่งผอมคืออะไร ?
การเกิดโรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia) หรือโรคคลั่งผอม เป็นโรคที่มีความเสี่ยงในการเกิดรอบด้าน โดยมากจะเกิดได้จากสิ่งเร้า หรือความคิดของผู้ป่วยที่ต้องการรูปร่างที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ไม่สามารถจำกัดความพอดีได้ ดังนี้
- เกิดจากสภาพจิตใจ : เกิดจากความรู้สึกที่ไม่ดี หรือความกังวลที่มากจนเกินไป ทั้งโรคซึมเศร้า, ความวิตกกังวลมากเกินไป, มีความเครียดในการใช้ชีวิต หรือเป็นคนที่มีความคิดยึดติดกับความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคนี้ทั้งหมด
- สภาพแวดล้อมที่ชักนำ : เดิมทีผู้ป่วยอาจไม่ได้สนใจในเรื่องรูปร่างเลยก็ได้ แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมอาจทำให้ผู้ป่วยหันมาสนใจ และอาจมากเกินไป เพราะสังคมกดดัน เช่น กลุ่มเพื่อนที่นิยมในเรื่องรูปร่างผอม, การถูกกลั่นแกล้ง เพราะมีน้ำหนักมาก หรือทำอาชีพที่ต้องใช้รูปร่างเป็นสำคัญ เป็นต้น
- พันธุกรรม : มีข้อสันนิษฐานว่า แม้จะมีสภาพจิตใจปกติ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปร่าง แต่ความสนใจ หรือนิสัยความชอบบางอย่าง อาจถูกส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าหากมีการใช้สารเสพติด ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นด้วย
อาการที่สังเกตได้ของโรคคลั่งผอม
สำหรับอาการที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุด คือ น้ำหนักตัวที่ลดลงไปอย่างมาก และผู้ป่วยก็ไม่ยอมหยุดลดด้วย อาจผอมถึงขั้นเห็นหนังหุ้มกระดูก ดูไม่มีกล้ามเนื้อ และไขมันเลย นอกจากนี้ยังมีอาการร่วมที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- รู้สึกเมื่อยล้า ไม่ค่อยมีแรง รู้สึกว่าตนเองเป็นลมได้ง่าย
- ผิวหนังเกิดความปกติ เช่น ผิวหนังมีลักษณะแห้ง, นิ้วมีสีเขียวซีด หรือแขนขาบวม เป็นต้น
- การทำงานของหัวใจมีปัญหา เช่น รู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ หรือเต้นช้าลง
- หากไปรับการตรวจร่างกายจะพบความผิดปกติของเลือด เช่น มีจำนวนเลือดน้อยลง หรือความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
- ไม่สามารถทนความหนาวได้ เพราะกล้ามเนื้อกับไขมันแทบไม่เหลือเลย, นอนหลับได้ยากขึ้น และมีอาการท้องผูก
- หากผู้ป่วยเป็นผู้หญิงจะพบว่าประจำเดือนจะไม่มาตามปกติ
ในส่วนของสภาพอารมณ์นั้นจะพบว่าผู้ป่วยจะมีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ มีอาการซึมเศร้าบ่อย ๆ มีความสนใจ และอยากจะศึกษาวิธีการลดน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าตนเองจะมีรูปร่างที่ผอมไปมากแล้วก็ตาม
รักษาโรคคลั่งผอมได้อย่างไร ?
การรักษาโดยปกติสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายนี้ คือ การเข้ารับการบำบัด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนัก และรูปร่าง ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาเป็นปกติให้ได้ ก่อนที่ร่างกายจะเกิดอันตราย แต่อุปสรรคที่สำคัญในการรักษาโรคนี้ คือ โรคนี้เป็นโรคทางจิตเวช จึงมักพบเจอว่าผู้ป่วยจะมีความกลัว และไม่ยอมรับในการรักษา ยิ่งถ้าการบำบัดมีเป้าหมายเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรักษา เพราะไม่ต้องการให้ตนเองมีน้ำหนักเพิ่มนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาก็ยังจำเป็นต้องทำ ปัจจุบันมีการบำบัดหลายรูปแบบ เพื่อรองรับผู้ป่วยตามความเห็นสมควรของแพทย์ เช่น จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy: IPT), ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy: CBT) หรือ การจัดการปมขัดแย้ง (Focal Psychodynamic Therapy: FPT) เป็นต้น ในส่วนของคนรอบตัว ก็มีส่วนอย่างมากในการผลักดัน และคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจตลอดการรักษา
คนท้องเป็นโรคคลั่งผอมอันตรายแค่ไหน ?
โรคนี้อันตรายแน่นอนไม่ว่ากับใคร ยิ่งกับคนท้องยิ่งต้องระวัง แม้โรคนี้จะไม่ได้พบเจอได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่ถ้าหากคนท้องมีแนวโน้มจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ อันตรายที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ จะส่งไปสู่ทารกในครรภ์ด้วย โดยเฉพาะสารอาหารที่ทารกควรได้รับ แต่กลับไม่ได้ ส่งผลต่อพัฒนาการ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ทารกเสียชีวิตได้ หากคุณแม่คลั่งผอมอย่างหนัก นอกจากนี้โรคร้ายนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดโรคอื่น ๆ กับร่างกายของคุณแม่ได้ด้วย เช่น ภาวะโลหิตจาง, เป็นโรคทางหัวใจ, ระบบย่อยอาหารเกิดความผิดปกติ ไปจนถึงขั้นอาจอยากฆ่าตัวตายด้วย
แม้ว่าเราอาจไม่เคยเห็นคนท้องที่เป็นโรคนี้ผ่านสื่อต่าง ๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว คนท้องจะมีความอยากอาหารจากอาการแพ้ท้อง แต่ด้วยโรคนี้มีปัจจัยในการเกิดโรคที่หลากหลาย การเฝ้าระวังโดยเฉพาะหลังตั้งครรภ์ ที่คุณแม่อยากกลับไปมีหุ่นแบบเดิมให้ไว้ที่สุด หากเกินพอดีก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้เหมือนกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
น้ำหนักตัวคนท้อง แต่ละเดือนน้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลถึงจะดี
ท้อง 6 เดือนน้ำหนักควรขึ้นกี่กิโล ต้องขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละสัปดาห์ ถึงจะดี
ความสำคัญของ น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักก่อนท้อง สำคัญยังไง ?
ที่มา : rama, pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!