บางครั้ง “ความจ้ำม่ำ” ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูของลูกน้อยก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไปนะคะ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ เด็กชายวัย 5 ขวบคนหนึ่ง มีภาวะหัวใจผิดปกติที่เกิดจาก “การกรน” บวกกับ “ภาวะอ้วน” จนร่างกายขาดออกซิเจน จนล้มตึง หยุดหายใจ ต้องเข้าห้อง ICU นานถึง 1 เดือน โดยใส่ท่อช่วยหายใจตลอดเวลา เพราะหายใจเองไม่ได้ และต้องได้รับการผ่าตัดด่วน ดังนั้น อย่าประมาทคิดว่าเด็กอ้วนน่ารักน่าฟัดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตระหนักถึงภัยเงียบที่อาจแฝงมาด้วย มาดูกันค่ะว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภัยเงียบจาก ความอ้วนในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความรู้จักเป็นอย่างไร

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือ ภาวะการหายใจลดลง หรือหยุดหายใจขณะหลับ การหายใจหยุดชะงักเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ หรืออุดตัน มีผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายลดลง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อคุณภาพการนอน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ สมาธิ และการเรียนรู้ของเด็ก
โดยมีการศึกษาพบว่าโรคนี้พบได้ประมาณ 1–5% ของประชากร ส่วนการนอนกรนชนิดไม่หยุดหายใจ อยู่ที่ประมาณ 4–12% พบได้บ่อยในเด็กวัย 2 – 6 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็ก และมักมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อยๆ ดังนั้น อาจเรียกได้ว่า “อาการนอนกรน” นับเป็นสัญญาณเตือนขั้นเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตค่ะ
สาเหตุของการเกิดโรค ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
จริงๆ แล้ว ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภทค่ะ ได้แก่
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากการหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจแคบหรือตัน
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมการหายใจหรือกล้ามเนื้อ
แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จะพบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่เกิดจากการหายใจไม่ออก ได้บ่อยกว่า ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในเด็กมักเกิดจาก
- การอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้นในขณะหลับ ที่มักเกี่ยวข้องกับ ทอนซิลและอดีนอยด์มีอาการโต เนื่องจากมีการอักเสบซ้ำๆ เช่น จากการเป็นหวัดบ่อย ๆ
- โดยปกติขณะที่นอนหลับ ร่างกายมีการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ลำคอ ทำให้ช่องลำคอยวบตัว ส่งผลให้ทางเดินหายใจที่แคบอยู่แล้วเกิดการอุดกั้นโดยสิ้นเชิง เกิดการขาดออกซิเจนระหว่างการนอน ทำให้การนอนหลับไม่สมบูรณ์
- การรบกวนระหว่างการนอนนี้ ส่งผลให้เด็กมีความผิดปรกติทางพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์
- โรคอ้วน
- เด็กมีโครงสร้างทางเดินหายใจผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อที่คอยพยุงทางเดินหายใจด้วย

|
สัญญาณเตือน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่พ่อแม่ต้องสังเกต!
|
นอนกรนเสียงดัง |
เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะกรนเสียงดังเป็นจังหวะ หรือกรนจนสะดุ้งตื่น
- นอนกรน เกิดขึ้นเป็นบางช่วงของการหลับ
- นอนกรน ไม่ตลอดทั้งคืนในช่วงแรก
- กรนเป็นประจำ แต่อาจไม่ถึงกับทุกคืน
|
นอนกระสับกระส่าย |
พลิกตัวไปมาบ่อยๆ นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง |
นอนอ้าปากหายใจ |
หายใจทางปาก แม้ในขณะที่ “ไม่เป็นหวัด” หายใจเสียงดัง หายใจสะดุดหรือหยุดหายใจ มีอาการไอหรือสำลักขณะหลับ |
เหงื่อออกมาก ขณะนอนหลับ |
บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ |
ง่วงนอน ตอนกลางวัน |
สมาธิสั้น เรียนรู้ได้ช้า หงุดหงิดง่าย มีความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม |
ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจไม่นอนกรน แต่มีอาการอย่างอื่นข้างต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตนะคะ ห้ามละเลย ที่สำคัญคือ ในเวลากลางวันอาการของลูกมักแสดงออกไม่ชัดเจน แต่เด็กบางคนจะง่วงนอน หลับในที่โรงเรียน และปวดศีรษะตอนเช้าได้ค่ะ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภัยเงียบจาก ความอ้วนในเด็ก
เด็กที่มีภาวะอ้วนจะมีไขมันสะสมบริเวณช่องคอและทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง แต่ในขณะตื่นกลุ่มกล้ามเนื้อคอหอยซึ่งมีหน้าที่ขยายช่องคอทำงานชดเชยได้ จึงไม่เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนนี้ เมื่อนอนหลับกล้ามเนื้อจะคลายตัว การทำงานชดเชยของกล้ามเนื้อขยายช่องคอทำได้ไม่เพียงพอ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบขณะหลับ เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
|
ความอ้วน เกี่ยวข้องกับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังไง?
|
ไขมันสะสม |
เด็กที่มีภาวะอ้วน มักมีไขมันสะสมบริเวณคอ และทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง |
ต่อมทอนซิลและ ต่อมอะดีนอยด์โต |
บางรายอาจมีภาวะ “ต่อมทอนซิล และ ต่อมอะดีนอยด์ โต” ซึ่งกีดขวางทางเดินหายใจขณะหลับได้เช่นกัน |
โครงสร้างใบหน้า |
ในเด็กที่รูปร่างอ้วนบางคนอาจมี “โครงสร้างใบหน้า” ที่ “เสี่ยง” ต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น คางสั้น ขากรรไกรเล็ก |

ผลกระทบร้ายแรง ที่ไม่ควรมองข้าม!
ภาวะหยุดหายในขณะหลับ รวมไปถึงภาวะอ้วนในเด็กนั้น สามารถส่งผลต่อเนื่องที่ร้ายแรงต่อลูกน้อยในระยะยาวได้ อาทิ
- พัฒนาการช้า ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ สมาธิ และพฤติกรรม โดยลูกอาจมีการเจริญเติบโตต่ำกว่าปกติ เนื่องจากต้องใช้พลังงานมากขณะหายใจเวลานอน และการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตลดลง
- ปัญหาสุขภาพ หากลูกน้อยมีอาการป่วยด้วยโรค OSA โดยไม่ได้รับการรักษา และปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันเลือดในปอดสูง เบาหวาน และโรคอ้วนในระยะยาวได้
- คุณภาพชีวิต ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่ออารมณ์ การเรียน และกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น สมาธิสั้น มีพฤติกรรมรุนแรง ซนมาก ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้ ไม่เชื่อฟัง มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้
นอกจากนี้ หากปล่อยภาวะหยุดหายในขณะหลับไว้นานโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลถึงชีวิตของลูกน้อยได้นะคะ

ดูแลลูกน้อยอย่างไร? ให้ห่างไกล ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
-
ควบคุมน้ำหนัก
ในเด็กที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักสูงเกินกว่ามาตรฐาน การลดความอ้วนถือเป็นกุญแจสำคัญแรกในการป้องกัน และรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับค่ะ
-
ปรับพฤติกรรม
คุณพ่อคุณแม่ต้องส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา และควบคุมอาหาร โดยลดขนมหวาน น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว ของทอด อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ แล้วปรับมากินอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการของช่วงวัยลูก
-
ป้องกันไว้ก่อน
หากลูกน้อยมีอาการภูมิแพ้ ควรได้พบแพทย์เพื่อทำการรักษา แม้จะเป็นหวัดเพียงเล็กน้อยก็ควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย รวมทั้งหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมกับเด็กที่มีประวัติภูมิแพ้ หรือเป็นหวัดเรื้อรัง เช่น การว่ายน้ำเป็นประจำ ควรรอถึงอายุ 8 ปีขึ้นไปก่อน เพื่อให้ลูกมีภูมิต้านทานและกายวิภาคที่ดีขึ้นมากเพียงพอ
-
ปรึกษาแพทย์
หากสงสัยว่าลูกน้อยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง โดยการรักษาโรคนอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก มี 3 รูปแบบ คือ
- การรักษาด้วยยา ในกรณีต่อมทอลซิล อะดีนอยด์โต หรือภูมิแพ้ร่วมด้วย และอาการ OSA ไม่รุนแรง แพทย์จะเริ่มให้การรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ และทอลซิล เป็นการผ่าตัดรักษาหลักในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในกรณีรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ตรวจพบว่ามีอาการ OSA รุนแรงร่วมด้วย ซึ่งมากกว่า 90% พบว่าหลังการผ่าตัดแล้วอาการจะดีขึ้นมาก
- รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) ใช้ในผู้ป่วย OSA ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อร่วมประสาท มีโครงสร้างใบหน้ากะโหลกศีรษะผิดปกติ หรือตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อลูกน้อยอย่างมากนะคะ การรู้เท่าทัน หมั่นสังเกต และใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกอย่างใกล้ชิดของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นเกราะอันแข็งแกร่งที่จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีค่ะ
ที่มา : กรรมกรข่าว คุยนอกจอ , www.bangkokinternationalhospital.com , www.bumrungrad.com , www.bangkokhospitalkhonkaen.com , chaophya.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ เมื่อขนมหน้า ร.ร. อาจเพิ่มความเสี่ยงเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า
สรุป 10 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ “ไอกรน” สัญญาณเตือน ไอกรนในเด็ก และ วัคซีน
อันตรายจากการหอมแก้มเด็ก แม่โพสต์เตือน อย่าให้ใครหอมลูก ไม่งั้นจะเป็นเหมือนบ้านนี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!