การปกป้องลูกรักจากควันพิษในบุหรี่ นับเป็นภารกิจสำคัญของพ่อแม่ ในยุคที่บุหรี่ไฟฟ้าแพร่ระบาด แฝงตัวในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งยังเข้าถึงง่าย เป็นภัยร้ายที่กำลังคืบคลานเข้าคุกคามสุขภาพรวมถึงอนาคตของเด็กๆ และตอนนี้ความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กๆ อยากทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็อาจมายืนรออยู่ที่หน้าโรงเรียนแล้วก็ได้ ในรูปแบบ “ขนม” ต่างๆ บทความนี้จะชวนมาดู “ประสบการณ์จริง” ของผู้ปกครองท่านหนึ่ง ที่พบว่า ขนมหน้า ร.ร. อาจเพิ่มความเสี่ยงเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งนำวิธี สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ มาฝากด้วยค่ะ
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Drama-addict
จับสังเกต เมื่อขนมหน้า ร.ร. อาจเพิ่มความเสี่ยงเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า
ต้นเรื่องของบทความนี้มาจากเพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” ที่โพสต์ภาพ “ขนมหน้าโรงเรียน” ของลูกเพจท่านหนึ่ง พร้อมแสดงความกังวลใจว่าขนมดังกล่าว อาจเป็นชนวนที่จะดึง หรือชี้นำลูกน้อยและเด็กๆ เข้าไปสู่วังวนของ “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งข้อความจากเพจ Drama-addict มีดังนี้ค่ะ
“ลูกเพจฝากมา อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือโรงเรียนต่างๆ ตรวจสอบหน่อย อันนี้เป็นขนมที่เขาเจอขายที่หน้าโรงเรียน โดยตัวขนมไม่มีอะไรผิดแปลก น่าจะเป็นพวกขนมที่กินได้ตามปกติ เป็นผงรสเปรี้ยวๆ แต่วิธีการกินขนมมันแปลก คือ เด็กที่จะกิน จะใช้วิธีเปิดหลอดออกมา ดูดเข้าปาก แล้วพ่นออกมาเป็นควัน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นแล้ว รู้สึกเหมือนว่าวิธีการกินขนมตัวนี้คล้ายการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาก เลยกังวลว่าเด็กที่กินขนมแล้วจะสนใจ และนำไปสู่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอนาคตหรือไม่”
แน่นอนค่ะ… โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่มีผู้สนใจและเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เห็นด้วย และเห็นต่าง โดยความเห็นส่วนใหญ่นั้นรู้ดีถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แต่มองว่าการที่เด็กๆ จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ ไม่ได้เกิดจากการกินขนมเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนของคุณพ่อคุณแม่แต่ละครอบครัวด้วย อาทิ
- อยู่ที่ครอบครัวและตัวเด็กด้วยนะ สมัยก่อนก็มีขนมแนวนี้ แต่ไม่เห็นจะสูบเลย สักปื๊ดก็ยังไม่เคย
- ถ้าคนในครอบครัวสูบ ต่อให้สอนให้ห้ามยังไง ลูกก็สูบ แต่ถ้าครอบครัวไม่สูบลูกก็ไม่ยุ่ง
- ร้านที่รับมาขาย คิดได้ไง คนที่ผลิต ผ่านการตรวจสอบมาได้ยังไง ไล่เช็คให้หน่อยค่ะ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง!
- คนที่ทำขนมสมัยนี้ จริงๆ ชอบทำอะไรชี้นำเด็กๆ มาก ทั้งที่พ่อแม่คุณครูเองก็พยายามสอนว่าสิ่งนี้ไม่ดี (บางทีลูกซื้อเองพ่อแม่ไม่รู้ คือถ้าเดินไปพร้อมลูกก็ไม่ซื้อให้อยู่แล้ว อะไรที่มันดูชี้นำแบบนี้)
- เห็นด้วยครับ มันส่งผลจริงๆ เด็กไม่ได้รู้อะไรควรไม่ควร นำพาไปสู่การแอบสูบบุหรี่ในวัยเด็ก สุดท้ายเพื่อนๆ ตอนนี้ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ประถม ตอนนี้มีปัญหาสุขภาพกันทุกคน

ทำไม? ต้อง สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่
การสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต และไม่เพียงส่งผลเสียด้านสุขภาพต่อผู้สูบเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้รับควันบุหรี่ด้วย หากงดการสูบบุหรี่ จะช่วยลดการสูญเสียก่อนวัยอันควรได้
จากผลสำรวจเมื่อปี 2566 พบว่าในภาพรวมของประเทศไทย มีเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการถูกชักชวนให้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจากคนรอบข้าง ส่วนใหญ่ถูกชักชวนจากเพื่อน 92.2% จากญาติ 3.2% และจากคนในครอบครัว 1.6 % นอกจากนี้ ยังพบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่มวน จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วย สูงถึง 43.9% ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เคยมีเหตุการณ์ คุณแม่ใจแทบสลายเมื่อทราบว่า ลูกสาววัย 9 ขวบ สูบบุหรี่ไฟฟ้ากับเพื่อนที่โรงเรียน แสดงให้เห็นว่าเด็กที่สูบบุหรี่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ นำมาสู่เหตุผลว่า ทำไม? ต้อง สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ ซึ่งเป็นไปเพื่อ
-
เพื่อปกป้องสุขภาพของลูก
ควันบุหรี่มีสารพิษกว่า 7,000 ชนิด เช่น นิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ สารหนู เบนซีน ฯลฯ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ
- โรคทางเดินหายใจ: เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด
- โรคหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคมะเร็ง: เช่น มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก
- ปัญหาสุขภาพอื่นๆ: เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ ฟันเหลือง ผิวพรรณเสีย แก่เร็ว
โดยเด็กจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ในการได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ เนื่องจากร่างกายและอวัยวะต่างๆ ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่งผลเสียต่อโรคทางเดินหายใจ การติดเชื้อ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (SIDS) ในทารก ไปจนถึงปัญหาพัฒนาการ เช่น พัฒนาการทางสมอง และ การเรียนรู้ช้ากว่าปกติ
-
ป้องกันการเสพติด
- นิโคติน: สารนิโคตินในบุหรี่ เป็นสารเสพติด ทำให้ ติด และ เลิกยา
- เริ่มต้นเร็ว เสี่ยงสูง: เด็ก และ เยาวชน ที่เริ่มสูบบุหรี่ มีแนวโน้มที่จะติดบุหรี่ และสูบต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่
- บุหรี่รูปแบบใหม่: ในปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง มีรูปลักษณ์ และ กลิ่น ที่ดึงดูดใจ และ ทำให้ “เข้าใจผิด” ว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา
-
สร้างทัศนคติที่ดี
การปลูกฝังให้ลูกมีทัศนคติว่า การสูบบุหรี่ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เท่ ไม่น่าสนใจ จะช่วยลดโอกาสในการลองสูบ หรือติดบุหรี่
-
สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม
การสอนให้ลูก รู้จัก วิเคราะห์ แยกแยะ และตระหนักถึงผลเสียของบุหรี่ จะช่วยให้ลูกสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และไม่ตกเป็นเหยื่อของการชักจูง หรือแรงกดดัน

8 กลยุทธ์! สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ ลดความเสี่ยงอยากทดลองสูบ
ก่อนอื่นต้องยอมรับนะคะว่าสภาพสังคมไทยในปัจจุบันนั้น จำนวนเด็กและวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีมากขึ้นจริง คุณพ่อคุณแม่ของลูกน้อย “ทุกวัย” จะประมาทคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวต่อไปอีกไม่ได้ เพราะสังคมรอบตัวของลูกมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมาก และอาจมีค่านิยมสนับสนุนว่าเป็นเรื่องทันสมัย จนมีโอกาสที่ลูกจะคล้อยตามและอยากลองสูบเมื่อถูกชักชวน ดังนั้น เราต้องสร้างเกราะป้องกันด้วยกลยุทธ์ สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ ต่อไปนี้ค่ะ
-
Role Model สำคัญที่สุด
จุดแรกที่สำคัญที่สุดในการ สอนลูกให้รู้เท่าทันควันบุหรี่ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของการไม่สูบบุหรี่ และมีทัศนคติในการปฏิเสธบุหรี่อย่างชัดเจนค่ะ ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่มีความรู้สึกอย่างไรกับการสูบบุหรี่ ลูกก็จะสบายใจเมื่อรู้ว่าตัวเองมีขอบเขตที่จะทำสิ่งต่างๆ อย่างไร ซึ่งหากพ่อแม่ไม่สูบบุหรี่อยู่แล้วจะเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะผลวิจัยพบว่าลูกที่พ่อแม่สูบบุหรี่ ส่วนใหญ่จะสูบตามเช่นเดียวกัน แต่หากคุณสูบมาก่อน แนะนำว่าพยายามเลิกค่ะเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเอง ลูก และคนรอบตัว
-
ปลูกฝังให้ลูกกล้าตัดสินใจ
เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ให้โอกาสลูกได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง พร้อมปลูกฝังการรู้จักตัดสินใจให้เป็นแก่ลูก สร้างภาวะผู้นำ สนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจ เพื่อให้ลูกกล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง สามารถแยกแยะสิ่งที่ควรและไม่ควรได้ตั้งแต่ยังเด็ก
-
สื่อสารพูดคุยกับลูกเสมอ
การที่ลูกสามารถพูดคุยทุกเรื่องกับพ่อแม่ได้เป็นสิ่งสำคัญนะคะ เพราะเขาจะเปิดเผย ไม่มีความลับ ดังนั้น ควรฝึกให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ยังเล็ก มีเวลาคุณภาพของครอบครัวในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ รวมไปถึงเรื่องโทษของบุหรี่ เพื่อให้ลูกรู้จักเลือกและตัดสินใจ จากนั้นก็ค่อยๆ ให้ข้อมูลและความรู้เพิ่มเติมตามสมควรเมื่อลูกโตขึ้น
-
ทำความรู้จักกับเพื่อนลูก
“เพื่อน” เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการสูบหรือไม่สูบบุหรี่ของเด็กค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรลองทำความรู้จักกับเพื่อนๆ ของลูกบ้าง พร้อมสังเกตพฤติกรรมว่ามีใครสูบบุหรี่หรือเปล่า และควรฝึกให้ลูกรู้จักปฏิเสธ โดยอาจยกตัวอย่างสุขภาพร่างกายของผู้ที่สูบบุหรี่ รวมถึงร่วมพูดคุยเรื่องเพื่อนเพื่อให้ลูกรู้จักคบเพื่อนที่ดีได้ค่ะ
-
ชี้แนะเรื่องผลเสียของการสูบบุหรี่
เช่น บอกลูกว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติด และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสมองที่กำลังพัฒนาของเด็ก สมองของเด็กมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นหากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อนอายุ 14 ปี คนที่สูบบุหรี่จะดูแก่กว่าวัย ผิวพรรณไม่สดใส ฟันเป็นครบ เป็นต้น นอกจากนี้ พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบสูงถึง 3-4 เท่า
-
สอนให้ลูกรู้ทันการตลาดของบุหรี่
ไม่ว่าจะเป็นตามสื่อที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ร้านค้าแบ่งขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อุตสาหกรรมซีรีส์ ภาพยนตร์ ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้เด็กๆ ได้ว่าพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่เท่ เก๋ และมีสไตล์ ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นตรงกันข้าม เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่รังเกียจและไม่สนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้
-
หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก
คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักอุปกรณ์สำหรับสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่รูปแบบใหม่อื่นๆ เช่น ล็อกเก็ตห้อยคอสีสวยงาม แต่ต้องหลีกเลี่ยงการทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกจับผิด หากพบว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ก้าวร้าว สนใจการเรียนลดลง รวมทั้งพฤติกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น มีกลิ่นหอมผิดปกติติดตัว ควรรีบปรับทัศนคติและพฤติกรรมลูก โดยปรับอารมณ์ของตนเองให้เยือกเย็น การเปิดใจพูดคุย บอกให้ลูกรู้ว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกทำ ให้เหตุผลที่แสดงถึงความรักความห่วงใยว่าบุหรี่ทำร้ายลูกและจะทำให้สุขภาพของลูกแย่ลง
-
ลดความเครียดที่ไม่จำเป็น
ความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้น ควรลดสภาวะเครียดที่ไม่จำเป็นของลูกออกไป เช่น การตำหนิลูกทุกเรื่องพร่ำเพรื่อ เปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น การกดดันเรื่องการเรียน แล้วเปลี่ยนเป็นการสร้างความนับถือตนเองให้ลูก ให้ภาคภูมิใจในตนเอง จึงจะช่วยป้องกันปัญหาการเสพติดได้เป็นอย่างดีค่ะ

การสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่อง “เท่” หรือ “ทันสมัย” อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นการ “ทำลายตัวเอง” ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ หวังว่าบทความนี้ จะเป็นคู่มือสำคัญสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ที่ต้องการปกป้องลูกจากภัยร้ายของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า อย่างรู้เท่าทัน และเข้าใจ เพื่อร่วมกันสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้ลูก เติบโตอย่างแข็งแรง ปลอดภัย และมีอนาคตที่สดใส ปราศจากควันบุหรี่กันค่ะ
ที่มา : Drama-addict , resourcecenter.thaihealth.or.th , www.trc.or.th , www.smokefreezone.or.th , www.thecoverage.info
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ควันบุหรี่มือสองในบ้าน ทำร้ายลูก-เมีย เสี่ยงโรคในผู้หญิงและเด็ก
คุณแม่ไทยตั้งเป้าหมายอะไรในปีใหม่นี้? ผลสำรวจชี้ เป้าหมายปีใหม่ 2025 ที่น่าสนใจ
ออกจากงานมาเลี้ยงลูก ดีมั้ย? ควรทำงานประจำ หรือเป็นแม่ Full Time
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!