แม่เลี้ยงลูกทั้งคืน เผลอหลับไป ช่วงเช้าตื่นมาให้นมลูก ลูกไม่หายใจแล้ว จากการตรวจสอบเบื้องต้นสันนิษฐานว่า แม่เผลอนอนทับลูก ทำให้ไม่มีอากาศหายใจ ทำให้ทารกตายคาที่
เลี้ยงลูกจนเพลีย เผลอนอนทับลูกไม่รู้ตัว
ตำรวจหนองบัวลำภู สภ.ศรีบุญเรือง ได้รับแจ้งว่ามีเด็กทารกเพศหญิง อายุ 25 วัน ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต จากการสอบถาม นางสาวสะกาว แม่ของเด็ก ได้มีการทั้งน้ำตาว่า ตนมีลูกทั้งหมด 4 คน คนแรกเสียชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก และมีลูกสาวอีก 2 คน ส่วนน้องคนเล็กที่เสียชีวิตล่าสุดเป็นคนที่ 4 สามีของเธอทำงานอยู่ที่ กทม. สามีของเธอก็เพิ่งทราบข่าวเมื่อไม่นานมานี้
เธอได้บอกกับทางเจ้าหน้าที่ต่อว่า เธอกับลูกสาวได้มานอนบ้านแม่ ซึ่งอยู่คนละหมู่บ้าน เนื่องจากเธอมีธุระช่วงเช้าที่จะต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองของอำเภอ ก่อนนอนเธอก็ได้ให้ลูกนอนอยู่ข้าง ๆ และคอยให้นมลูก 2 ครั้ง ในช่วงค่ำ และในช่วงดึก แต่ด้วยความเพลียจากการเลี้ยงดูลูกทั้งวัน เธอก็ได้เผลอหลับไป ซึ่งเธอเองก็ไม่รู้ตัวว่านอนไปตั้งแต่เมื่อไหร่
จนกระทั่ง 6.00 น. เธอกำลังจะอุ้มลูกขึ้นมากินนม แต่เธอก็ได้พบว่าลูกไม่หายใจแล้ว เธอจึงรีบโทรแจ้งกู้ภัย อบต.นากอก เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบเรื่อง จึงรีบพาลูกสาวของเธอมาที่โรงพยาบาลศรีบุญเรืองทันที ผู้เป็นแม่ถึงกับปล่อยโฮ เข่าทรุด เมื่อแพทย์แจ้งว่า ลูกสาวของเธอได้เสียชีวิตก่อนที่จะมาโรงพยาบาลแล้ว แพทย์จึงทำการชันสูตรศพทารก จึงพบว่า ทารกเสียชีวิตเพราะระบบหายใจ เนื่องจากมีของหนักมาทับตัวทารกทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต
ทางด้าน ร.ต.อ. พิเชฐพงศ์ ฯ พนักงานสอบสวน สภ.ศรีบุญเรือง กล่าวว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุ ไม่พบคราบเลือด หรือร่องรอยบาดแผลใด ๆ ส่วนสาเหตุของการตายของเด็กทารกนั้น ได้มีการสันนิษฐานว่า ทารกอาจจะสำลักน้ำนมของแม่ หรือก็อาจจะถูกแม่นอนทับจนขาดอากาศหายใจ เนื่องจากผู้เป็นแม่เอง ก็ได้เผลอหลับสนิท จากความอ่อนเพลีย จึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือเหตุการณ์นี้อาจจะเกิดการกรรมพันธุ์ เพราะลูกคนแรกก็เสียชีวิตด้วยโรคเฉียบพลัน
จากเหตุการณ์นี้ก็ได้มีเจ้าหน้าที่สังเกต เกี่ยวกับนางสาวสะกาว ว่าเธอมีพฤติกรรมบางอย่าง คล้ายคนผิดปกติ อาจทำให้เธอไม่ค่อยระวัง หรือรอบคอบในการเลี้ยงลูกเท่าที่ควร และอาจจะเป็นสาเหตุที่เธอนอนทับลูกจนไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุที่แน่ชัดอาจจะต้องรอแพทย์สรุปผลและยืนยันอีกครั้ง
วิธีจัดที่นอน ป้องกันแม่นอนทับลูก หรือเบียดลูกตกเตียง
เด็กทารกแรกเกิด – 12 เดือน เป็นวัยที่บอบบาง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกคลาดสายตา เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายต่อเด็กทุกคนได้ และรวมถึงท่านอนของเด็กทารกเองที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้ทารกไม่มีอากาศหายใจ และเสียชีวิตได้
แรกเกิด – 12 เดือน ควรจัดที่นอน ดังนี้
- แยกที่นอนมาอยู่ด้านข้างคุณพ่อคุณแม่ ระยะห่างประมาณเอื้อมมือถึง ไม่เอาลูกนอนห่างหรือนอนใกล้คุณพ่อคุณแม่จนเกินไป เพราะอาจทำให้นอนเบียดหรือทับจนทารกหายใจไม่ออกได้
- ที่นอนควรสูง 2 ฟุต หากต้องการให้ลูกนอนเตียงนอน เตียงนอนควรมีที่กั้น ระยะซี่ห่างน้อยกว่า 15 เซนติเมตร เพื่อป้องกันทารกตกเตียง
- ไม่มีช่องว่างระหว่างขอบของเตียงนอน เพราะอาจทำให้ศีรษะของทารกติดค้าง และกดทับที่ใบหน้า และที่นอนไม่ควรนิ่มจนเกินไป
- ระวังผ้าห่ม หมอน และมุ้งให้ดี ๆ เพราะอาจปิดจมูกทำให้หายใจไม่ออกได้
- ไม่นั่งอุ้มจนหลับ เพราะคุณพ่อหรือคุณแม่อาจเผลอปล่อยทารกออกจากมือ ทำให้ทารกตกลงมาได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกนอนอย่างไรให้ปลอดภัย ท่านอนทารก เด็กแรกเกิด–4 เดือน วิธีจัดเตียงนอนที่ปลอดภัย
เด็กที่อายุเกิน 1 ปี ควรจัดที่นอน ดังนี้
- เตียงนอนของเด็กจะต้องมีราวกั้นเป็นแนวตรง และซี่ห่างกันไม่เกิน 15 เซนติเมตร
- ราวกันตกจะต้องมีความแข็งแรง และปลอดภัยต่อเด็ก เนื่องจากวัยนี้จะชอบหยิบจับ หรือลุกเดิน เขย่า ราวจะต้องไม่อ้า ไม่งอ หากราวไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เด็กหล่นจากเตียงได้
- เบาะนอนต้องพอดีกับเตียง ไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะ ราวกันตกต้องไม่แหลมคม
- เด็กที่มีความสูงกว่า 89 เซนติเมตร และด้วยวัยนี้อาจจะมีการปีนป่าย ทำให้เสี่ยงต่อการตกเตียงสูง ดังนั้นจากขอบบนของเบาะที่นอน ถึงราวตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร
บทความที่เกี่ยวข้อง : เบาะหรือเตียงนอนสำหรับเด็กอ่อน เลือกแบบไหนดี
ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ หากพบว่าเด็กนอนนิ่ง ตัวซีด ให้จับนอนหงาย พยายามปลุกให้ตื่น สังเกตการหายใจจากการเคลื่อนไหวของหน้าอก และหน้าท้อง หากไม่หายใจลองให้กดบริเวณทรวงอก สันอกทันที สลับกับการเป่าปาก หรือเป่าจมูก และรีบตามหน่วยฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลทันที
บทความที่คุณอาจจะสนใจ :
ให้ลูกนอนคนเดียว แยกห้องนอนลูก กี่ขวบดี ข้อดีVSข้อเสีย แยกเตียงนอนลูก
ลูกตกเตียง ลูกตกเตียงทำยังไง วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยตกเตียง
ที่มา : ch3plusnews , posttoday
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!