วิถีการดูแลสุขภาพของคุณแม่มือใหม่นั่นคือ อยู่ไฟหลังคลอด การอยู่ไฟเป็นการฟื้นฟูร่างกายจากความบอบช้ำ ความเหนื่อยล้าจากการคลอดลูก ซึ่งการอยู่ไฟจะทำให้คุณแม่กลับสู่ความสดชื่น แจ่มใสโดยเร็ว โดยจะใช้ความร้อนกระตุ้นกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น บริเวณกล้ามเนื้อหลัง จากการถูกกดทับมาเป็นเวลานานในช่วงตั้งครรภ์ อีกทั้งยังช่วยลดความปวดเมื่อยตามร่างกายอีกด้วย
อยู่ไฟหลังคลอด สมัยโบราณเป็นอย่างไร
การอยู่ไฟ ภาพในสมัยก่อนเวลาผู้หญิงหลังคลอดอยู่ไฟ จะใช้วิถีแบบชาวบ้านแท้ ๆ เช่น
- จะมีการสร้างเรือนเล็ก ๆ หรือกระท่อม
- คุณแม่จะต้องนอนผิงไฟในกระโจมที่อยู่ในกระท่อมนั้น โดยที่ลูกจะถูกวางไว้ในกระด้ง
- การนอนของคุณแม่จะต้องนอนบนผืนกระดานแผ่นเดียวทุกวัน
- ห้ามอาบน้ำ ห้ามดื่มน้ำเย็น ห้ามรับประทานอาหารแสลง กินแต่ข้าวกับปลาเค็มหรือเกลือ
- คุณแม่จะต้องอยู่ไฟประมาณ 1-2 สัปดาห์และห้ามออกจากกระท่อมหรือเรือนที่สร้างขึ้น
- ต้องอยู่เพื่อปรับอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย เช่นมีอาการหนาวสะท้านไปถึงกระดูกหากมีอากาศเปลี่ยนแปลง
อยู่ไฟหลังคลอด การอยู่ไฟหลังคลอดมีประโยชน์อย่างไรต่อผู้หญิง
สำหรับการอยู่ไฟหลังคลอดนั้น คือการพักฟื้นร่างกาย ดูแลสุขภาพของผู้หญิงแบบโบราณ ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยน วิธีการ รูปแบบ ให้สะดวกสบายมากขึ้น เพราะในเมืองใหญ่ เราคงไม่มีกระโจมหรือกระท่อม หรือการสร้างเรือนไฟให้ผู้หญิงพักฟื้นสักเท่าไหร่ อีกทั้งยังมีการร่นระยะเวลาของการอยู่ไฟสั้นลง เพื่อให้ทันสมัยและฟื้นฟูร่างกายอย่างรวดเร็ว ซึ่งยังย้ำความเชื่อเดิมคือ การอยู่ไฟหลังคลอด นั้นมีประโยชน์ มากมาย เช่น
- การอยู่ไฟจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต
- ร่างกายจะมีการเพิ่มอุณหภูมิ ช่วยเพิ่มความอบอุ่น เพราะส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดมักจะรู้สึกหนาวเข้ากระดูกเวลาอากาศเย็นลง
- การอยู่ไฟสามารถลดอาการอ่อนเพลีย จากการคลอดและการเสียเลือดในช่วงคลอดลูก
- ความร้อน ความอบอุ่น สามารถลดการปวดเมื่อยตามข้อต่อต่าง ๆ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นแข็งแรง
- การอยู่ไฟ อบสมุนไพร จะช่วยให้ผิวพรรณดี ผุดผ่อง สุขภาพดีขึ้น
- การปรับอุณหภูมิด้วยความร้อน จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- การอยู่ไฟจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้เป็นปกติ เลือดลมไหลเวียนดี
- การปรับอุณหภูมิในร่างกายช่วยให้หน้าท้องยุบเร็ว หน้าท้องแบนเร็วขึ้น
- การอยู่ไฟหลังคลอด จะช่วยลดความเจ็บปวด เมื่อมดลูก เกิดภาวะบีบรัดตัวให้เข้าสู่ภาวะปกติ หรือที่คนโบราณมักจะพูดว่า การอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกเข้าอู่
บทความที่เกี่ยวข้อง : การอยู่ไฟ ตำราโบราณเพื่อคุณแม่ แบบไหนดีและเหมาะกับคุณแม่มือใหม่
การอยู่ไฟหลังคลอด คุณแม่ต้องปฏิบัติอย่างไร
สำหรับข้อแนะนำในการดูแลตัวเองขณะอยู่ไฟหลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ จนไปถึง คุณแม่ที่ผ่าคลอดลูกควรปฏิบัติดังนี้
- หากคุณแม่หลังคลอดที่ผ่านการคลอดลูกแบบธรรมชาติ คุณแม่สามารถอยู่ไฟได้ทันที หลังจากพักฟื้นได้ประมาณ 1 สัปดาห์ไปแล้ว
- สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ทำการผ่าคลอด ต้องรอก่อนสักระยะ เพราะยังไม่สามารถอยู่ไฟได้ทันที เนื่องจากต้องรอและดูแลให้แผลผ่าตัดหายเสียก่อน จนกว่าแผลจะแห้งสนิท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องรอประมาณ 1 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันอันตราย และไม่ให้แผลผ่าตัด มีภาวะอักเสบ ขณะที่อยู่ไฟ แผลอาจเน่า หายช้ามาก
การดูแลตัวเองในช่วง อยู่ไฟหลังคลอด มีขั้นตอนอย่างไร
- ขั้นตอนพื้นฐานคือ การใช้ลูกประคบสมุนไพรประกอบการอยู่ไฟ คือการนำลูกประคบร้อน ผ้าห่อด้วยสมุนไพรต่าง ๆ เช่น ตะไคร้ ขมิ้น ใบส้มป่อย การบูร และอื่น ๆ มานวดคลึง กดจุดไปตามบริเวณร่างกาย และคลึงเบา ๆ บริเวณเต้านม เพื่อลดอาการปวดเมื่อย คลายกล้ามเนื้อ
- จะมีวิธีการอาบน้ำต้มสมุนไพร ที่ประกอบไปด้วย ขมิ้น ตะไคร้ ไพล ลูกมะกรูด ใบส้มป่อย ใบมะขาม ในน้ำอุ่น ๆ เพื่อให้สมุนไพรซึมผ่านผิวหนัง สามารถทำให้สดชื่น มีความกระปรี้กระเปร่า
- สำหรับการทับด้วยหม้อเกลือ คือ นำเอาเกลือเม็ดใหญ่ ๆ ใส่ในหม้อดินแบบโบราณ ตั้งไฟจนเกลือร้อนและสุก แล้วห่อด้วยใบพลับพลึง และห่อทับด้วยผ้า จากนั้นนำมาประคบตามจุดต่าง ๆ ตามร่างกาย ซึ่งความร้อนจากหม้อเกลือ จะทำให้รูขุมขนตามผิวหนังเปิด ซึ่งสมุนไพรจะซึมผ่านลงผิวหนังลงไป เป็นส่วนหนึ่งของการขับของเสียออกมา
- สำหรับการอบตัว โดยการเข้ากระโจมสมุนไพร วิธีนี้จะช่วยให้รูขุมขนตามผิวหนังเปิดเพื่อขับของเสียออกมา ทำให้คุณแม่สดชื่น ผ่อนคลาย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 ความเชื่อหลังคลอดลูก เกี่ยวกับอาการหลังคลอด เข้าใจผิดแบบนี้ไม่ดีแน่!!
สิ่งที่ไม่ควรทำสำหรับการอยู่ไฟหลังคลอด
การอยู่ไฟหลังคลอดเป็นการปฏิบัติที่ดี แต่ก็มีข้อห้ามและสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้หญิงหลังคลอดได้
- ก่อนอื่นต้องจำไว้ว่า ห้ามสระผมประมาณ 1 เดือนครึ่งหรือ 45 วัน ซึ่งการเว้นระยะการสระผม จะส่งผลดีต่อแม่ ในระยะยาว คุณแม่ต้องพยายามอดทนหลีกเลี่ยงการสระผม แต่หากอยากสระผมจริง ๆ แนะนำให้ใช้น้ำอุ่นชำระล้างเส้นผม ที่สำคัญ คุณแม่ไม่ควรอาบน้ำเย็น ควรอาบน้ำอุ่นเท่านั้น ระยะเวลาก็ประมาณเท่ากับห้ามสระผม
- หากคุณแม่ต้องทำงาน ไม่ควรใช้สายตาทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือเวลาว่าง หรือทำงานต้องใช้คอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาจากการทำงานหนักประมาณ 1 เดือนครึ่งหรือ 45 วัน
- โบราณว่า ห้ามคุณแม่โดนฝน ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ควรระวัง เมื่อแก่ตัวไปหรือเรียกว่าเข้าสู่วัยทอง หากเจอน้ำฝนและความเย็นจากอากาศเย็นจากภาวะฝน จะทำให้คุณแม่รู้สึกหนาวยะเยือก เข้ากระดูก
- สำหรับคุณแม่สายซิ่ง ไม่ควรขับรถเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง หรือ 45 วัน เพราะจะทำให้รู้สึก วิงเวียนหน้ามืดได้
- สำหรับคุณแม่ผ่าคลอด สิ่งที่ควรระวังคือ ห้ามนั่งยอง ๆ เด็ดขาด เพราะจะทำให้มดลูกเข้าอู่ช้า
- คุณแม่ไม่ควรรับประทานของแสลง เพราะจะทำให้แผลหายช้าหรือเกิดการอักเสบได้ เช่น ของหมักดอง ผลไม้ดอง ไก่ ของที่มีโซเดียมสูง ๆ เป็นต้น
- ไม่ควรดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้น้ำนมไม่ค่อยออก หรือไขมันสลายตัวช้า เป็นต้น
- โบราณว่า ห้ามหวีผม เพราะจะทำให้เลือดคั่งบนใบหน้า ลองเอานิ้วนวด ๆ สาง ๆ ผมเท่านั้น
- ห้ามรับประทานของเย็น ๆ เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง เต้าหู้เย็น เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนช้า มดลูกเข้าอู่ช้า อาจเป็นสาเหตุให้การขับน้ำคาวปลาผิดปกติ หรือออกมาไม่หมด
สำหรับแม่หลังคลอดที่ต้องการดูแลสุขภาพด้วยการอยู่ไฟอาจต้องเตรียมหาข้อมูลของสถานที่ให้บริการอยู่ไฟหลังคลอดไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และที่สำคัญผู้ที่จะทำเรื่องการอยู่ไฟให้ต้องมีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการอยู่ไฟ จะต้องสะอาดและปลอดภัยกับตัวแม่หลังคลอดด้วยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำความเข้าใจ Baby Blue ทำไมหลังคลอด คุณแม่ไม่ร่าเริง
ท้องลายหลังคลอด ปัญหาหนักใจของคุณแม่ ป้องกัน และแก้ไขได้
ทำไมแม่หลังคลอดถึงผมร่วง ปัญหาที่คุณแม่ส่วนใหญ่เจอ และวิธีแก้ผมร่วง