คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่คะ ปัจจุบันนี้เด็กไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหา “Learning Disorder” หรือที่เรียกกันว่าความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อทักษะการอ่าน การเขียน การคำนวณ และพฤติกรรม แต่น่าเศร้าที่เด็ก LD หลายคนไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที หนึ่งในสาเหตุหลักนั้นมาจากผู้ปกครองไม่มีเวลาหรือติดงาน สุดท้ายปัญหานี้กลับส่งผลร้ายแรงต่ออนาคตของเด็ก ทำให้ เด็ก LD ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจสูญเสียความมั่นใจ เกิดปัญหาทางอารมณ์ และเรียนรู้ได้ยากขึ้น
Learning Disorder คืออะไร
Learning Disorder หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า โรค LD คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่มีปัญหาในการเรียนรู้เฉพาะด้าน โดย เด็ก LD สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
1) ความบกพร่องด้านการอ่าน
ความบกพร่องด้านการอ่านเป็นประเภทที่พบได้มากที่สุดของเด็ก LD ทั้งหมด เด็กประเภทนี้จะมีความบกพร่องในการจดจำ พยัญชนะ สระ และขาดทักษะในการสะกดคำ ทำให้อ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านช้า อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้ อ่านข้าม อ่านเพิ่มคำ หรือจับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ ทำให้มีทักษะความสามารถในการอ่านหนังสือต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
2) ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ
ความบกพร่องด้านนี้ส่วนใหญ่จะมาร่วมกับความบกพร่องด้านการอ่าน ซึ่งเด็กประเภทนี้จะมีความบกพร่องในการเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง เรียงลำดับอักษรผิด จึงเขียนหนังสือและสะกดคำผิด ทำให้เด็กกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการเขียนสะกดคำต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
3) ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์
ความบกพร่องด้านทักษะและความเข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน การจำสูตรคูณ การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถคำนวณการบวก ลบ คูณ หาร ตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความสามารถด้านการคำนวนเลขต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ทั้งนี้เด็ก LD แต่ละประเภทอาจมีอาการร่วมกัน หรืออาจพบเพียงประเภทเดียวก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเด็กจะมีความฉลาดมากกว่าปกติ แต่มีพฤติกรรมไม่สนใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานช้า ไม่เสร็จ ซึ่งในเด็กไทยสามารถพบได้ร้อยละ 6-10 ของเด็กวัยเรียน
Learning Disorders ส่งผลกระทบยังไง
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า เด็ก LD มักจะมี ความสามารถในการเรียนรู้ต่ำกว่า เพื่อนนักเรียนในชั้นเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลต่อ ผลการเรียน อย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญเด็ก LD ในบางรายอาจมี ปัญหาทางจิตเวช ร่วมด้วยถึงร้อยละ 40-50 เช่น
- โรคสมาธิสั้น โดยที่เด็กจะหุนหันพลันแล่น ควบคุมอารมณ์ได้ยาก
- มีความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร ทำให้พูดช้า พูดไม่ชัด หรือเข้าใจภาษาได้ยาก
- มีปัญหาในการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตา ทำให้เด็กเขียนหนังสือไม่สวย หรือทำงานประณีตได้ยาก
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่งผลต่อ การเรียนรู้ พัฒนาการ และความมั่นใจ ของเด็ก LD เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์ จิตแพทย์เด็ก จากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital ยังได้เผยอีกว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยคือเด็ก LD ได้เข้ารับการรักษาและการช่วยเหลือของโรงพยาบาลเป็นจำนวนน้อยมาก เนื่องจากว่าผู้ปกครองบางคนต้องไปทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาพาลูกเข้ารับการรักษา หรือบางคนอาจมองว่าภาวะนี้ไม่ได้หนักหนาสาหัสหรือเป็นอะไรมาก จึงปล่อยไปในที่สุด ทั้ง ๆ ที่เด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และนับได้ว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต ถ้าหากได้รับการพัฒนาที่ดีและตรงจุดอย่างเหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นโรคแอลดี LD คือ ? รักษาได้หรือไม่ ทำยังไงดีเมื่อลูกเป็นเด็ก LD
วิธีแก้ปัญหาในการช่วยเหลือ เด็ก LD
ทางด้าน รศ.นพ.มนัท ได้กล่าวว่า วิธีการที่แก้ปัญหานี้ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มจากการเปิดใจ การที่ลูกเป็นโรคนี้ ไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเด็กที่เกเรหรือขี้เกียจ แต่หมายความว่าลูกต้องการความช่วยเหลือ การหลบเลี่ยงเป็นผลที่ปลายเหตุโดยกระบวนการรักษาจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย
การช่วยเหลือจากโรงเรียน
1) โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนสำหรับรายบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็ก แต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็กให้ถี่ถ้วน
2) ช่วยเสริมทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียน อาจสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน
3) ช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงเนื้อหา ความรู้ ได้เร็วขึ้น
4) ให้เวลาในการทำข้อสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กได้มีเวลาเพียงพอในการ อ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยตอบโจทย์ให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น
5) ส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
การช่วยเหลือจากครอบครัว
1) อธิบายให้สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และตัวเด็กเอง ทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
2) เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ และสนับสนุนในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก
3) ชื่นชมเมื่อลูกน้อยทำสำเร็จแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
หากตัวเด็กได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และถูกวิธี ก็จะทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นและสามารถหายได้แต่ต้องอาศัยความรักและความเข้าใจ รวมไปถึงการให้กำลังใจอีกด้วย
โดยสรุปแล้ว เด็ก LD ในไทยนั้นมีจำนวนมาก แต่กลับเข้าถึงการรักษาได้น้อย ส่งผลต่อการเรียนรู้และอนาคต หากพ่อแม่ ครู และสังคม ช่วยกันร่วมมือกัน สร้างความเข้าใจ สนับสนุน และ ส่งเสริมปัญหานี้ ให้เด็ก LD ได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะไปช่วยปลดล็อกศักยภาพของเด็ก ๆ ให้เติบโตไปสู่ อนาคตที่สดใสได้ค่ะ
ที่มา : bangkokbiznews.com, samitivejhospitals.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคสมาธิสั้นคืออะไร? มาทำความรู้จักกับโรค ADHD โรคที่ซับซ้อนกว่าที่คุณคิด
เด็กสายตาสั้น ต้องระวัง! อาจเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว
อย่าปล่อยให้ลูกของคุณตกเป็นเหยื่อ: แนวทางป้องกันเด็กถูก คุกคามทางเพศ ออนไลน์