ปวดท้องคลอด เป็นอาการที่คุณแม่หลายคนกังวลใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาการปวดท้องคลอดเป็นอาการที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะก่อนคลอดนั้น คุณแม่จะได้พบกับสัญญาณเตือนใกล้คลอดต่าง ๆ รวมถึงยังมีวิธีรับมือกับความเจ็บปวดเมื่อปวดท้องคลอดอีกด้วย จึงถือเป็นเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรศึกษา และเตรียมตัวให้ดี วันนี้ theAsianparent Thailand มีข้อมูลดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่ได้พร้อมรับมือกับอาการปวดท้องเช่นนี้ค่ะ
ปวดท้องคลอด อาการเป็นอย่างไร?
ปวดท้องคลอดเกิดจากการบีบตัวของมดลูกเพื่อให้ทารกคลอดออกมา แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการปวดท้องในขณะคลอดได้ด้วย เช่น ขนาดตัวของลูก ตำแหน่งของลูก ระยะเวลาในการคลอด และความแรงในการบีบตัวของมดลูก เป็นต้น ซึ่งอาการปวดท้องคลอด สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
- อาการเจ็บท้องเตือน : การเจ็บท้องเตือนเกิดจากกล้ามเนื้อ เตรียมพร้อมในการคลอดที่กำลังมา โดยคุณแม่จะรู้สึกแน่นบริเวณช่องท้อง และรู้สึกเจ็บปวดเป็นช่วง ๆ ซึ่งบริเวณที่เจ็บนั้น อาจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อคุณแม่นั่งพัก เดิน หรือเปลี่ยนท่านั่ง
- อาการเจ็บท้องจริง : การเจ็บท้องจริงเกิดจากการบีบตัวของมดลูก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด โดยจะมีอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งอาการที่มักพบได้บ่อยนั้น จะมีลักษณะปวดบริเวณท้องน้อย และบริเวณหลัง แม่ท้องบางคนอาจมีอาการปวดบริเวณต้นขา และข้างลำตัว ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับปวดประจำเดือน และท้องเสีย แต่จะมีอาการปวดที่รุนแรงกว่ามาก ซึ่งอาการเจ็บท้องจริงนี้ จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และจะรุนแรงตามการบีบตัวของมดลูก อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บท้องจริงได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนท่าทาง หรือรับประทานยาแก้ปวดก็ตาม
ทั้งนี้ อาการปวดทั้งสองแบบ อาจไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าถึงเวลาใกล้คลอดแล้วหรือยัง แม่ท้องบางคนจึงอาจมีอาการปวดท้องติดต่อกันหลายวัน และไม่มีการเปลี่ยนบริเวณอุ้งเชิงกรานที่เป็นสัญญาณเตือนในการคลอดลูกนั่นเอง แต่หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องอย่างต่อเนื่อง เจ็บทุก 5 นาที ติดต่อกัน 1 ชั่วโมง และมีอาการน้ำเดิน มีปัสสาวะไหลออกมาจำนวนมาก และมีมูกเลือกออกมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ผิดปกติของการใกล้คลอดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บท้องหลอก ต่างจากเจ็บท้องจริงอย่างไร เจ็บแบบไหนเรียกว่าปวดท้องใกล้คลอด
เจ็บท้องเตือนต่างเจ็บท้องจริงอย่างไร?
เจ็บท้องเตือน |
เจ็บท้องจริง |
ปวดท้องไม่สม่ำเสมอ ปวดเป็นพัก ๆ | ปวดท้องสม่ำเสมอ ปวดทุก 10 นาที |
ปวดท้องเป็นช่วง ๆ ชั่วโมงละครั้ง | ปวดท้องเรื่อย ๆ จาก 10 นาที เป็น 5 นาที |
ปวดท้องไม่มาก | ปวดท้องขึ้นเรื่อย ๆ |
ปวดบริเวณช่องท้อง | ปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปวดบริเวณต้นขา และข้างลำตัว |
ปากมดลูกไม่เปิดขยาย | ปากมดลูกเปิดขยาย |
สามารถใช้ยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้ | ไม่สามารถใช้ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือให้มดลูกหยุดบีบตัวได้ |
รับมืออย่างไรกับอาการปวดท้องคลอด?
เมื่อมีอาการปวดท้องคลอด คุณแม่อาจไม่สามารถลดความรุนแรงในการปวดท้องได้ แต่คุณแม่สามารถใช้วิธีบรรเทาอาการปวดท้องได้เล็กน้อย ด้วยวิธีต่อไปนี้
-
ศึกษาการคลอดล่วงหน้า
คุณแม่สามารถศึกษาขั้นตอนการคลอดว่าต้องทำอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมทั้งการฝึกเบ่งคลอดเบื้องต้นก่อนวันคลอดจริง ก็สามารถช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลใจได้ค่ะ คุณแม่สามารถศึกษาด้วยตนเอง ปรึกษากับแพทย์ หรือเข้าคอร์สอบรมเตรียมคลอดได้
-
ฝึกควบคุมลมหายใจ
การฝึกควบคุมลมหายใจ เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระหว่างคลอดได้ค่ะ คุณแม่สามารถใช้การควบคุมจังหวะหายใจขณะออกกำลังกายได้ โดยอาจใช้วิธีหายใจลึก ๆ ช้า ๆ ให้ลมหายใจออกจากกะบังลม เป็นต้น
-
แช่น้ำอุ่น
คุณแม่สามารถอาบน้ำอุ่นด้วยฝักบัว เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และเป็นการนวดร่างกายอีกทางหนึ่ง รวมถึงยังสามารถใช้วิธีการแช่น้ำอุ่นเพื่อช่วยลดอาการปวดท้องขณะคลอดลูกได้ อย่างไรก็ตาม การแช่น้ำที่ลึกเกิน 4 เซนติเมตรอาจทำให้คลอดได้ช้าลง ดังนั้นคุณแม่อาจต้องปรึกษากับแพทย์ประจำตัวก่อนใช้วิธีนี้
-
ผ่อนคลายจิตใจ
วิธีผ่อนคลายจิตใจถือเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลใจได้ โดยคุณแม่สามารถนั่งสมาธิ เปิดเพลงฟัง ฝึกลมหายใจ หรือใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายได้มากขึ้นค่ะ
-
ใช้ยาบรรเทาอาการปวดท้อง
หากคุณแม่มีอาการปวดท้องคลอด อาจใช้ยาบรรเทาอาการปวดท้องได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาบางชนิดให้สรรพคุณ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน โดยอาจมียาที่ทำให้คุณแม่รู้สึกง่วง และส่งผลกระทบต่อการหายใจของลูกน้อยได้ ทั้งนี้การใช้ยาบรรเทาอาการปวดท้องคลอด เป็นวิธีที่คุณแม่ควรศึกษาอย่างเข้าใจ และควรอยู่ในความใกล้ชิดของแพทย์เสมอ
-
ออกกำลังกายเบา ๆ
การออกกำลังกายเบา ๆ และการเคลื่อนไหวไปมา อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องขณะคลอดได้ อย่างไรก็ตามคุณแม่ไม่ควรใช้แรงมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และการกลับหัวของลูกในครรภ์ได้เช่นกันค่ะ
-
นวดขณะคลอด
แน่นอนว่าการนวด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถบรรเทาอาการปวดท้องขณะคลอดได้เช่นกัน โดยคุณแม่อาจให้สามีนวดบริเวณขมับมือ บริเวณแผ่นหลัง และบริเวณเท้าได้ เพราะนอกจากการนวดจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้คุณแม่แล้ว ยังสามารถช่วยผ่อนคลายได้อีกเช่นกัน
-
ให้สามีอยู่ใกล้ ๆ เวลาคลอด
หากคุณแม่มีสามี คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทอยู่ด้วยในเวลาคลอด ก็จะช่วยคลายความกังวลใจได้เป็นอย่างดี เพราะคนใกล้ชิดจะสามารถช่วยคุณแม่สื่อสารกับแพทย์ และช่วยควบคุมลมหายใจได้ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องปวดท้องน้อย เจ็บท้องน้อย เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์หรือไม่?
สัญญาณเตือนเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด
เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด คุณแม่จะมีอาการปวดท้อง และอาการอื่น ๆ แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่แต่ละคน ซึ่งบางคนอาจมีน้ำเดิน และปวดท้องอย่างรุนแรง โดยคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณเตือนใกล้คลอด ได้ดังนี้
-
อาการท้องลด
อาการท้องลด เป็นอาการที่ทารกในครรภ์จะเริ่มเคลื่อนศีรษะมาอยู่ที่อุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกโล่ง หายใจสะดวกขึ้น ไม่อึดอัด และท้องมีขนาดเล็กลง ซึ่งอาการท้องลดจะเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หรือชั่วโมงก่อนคลอด อย่างไรก็ตามคุณบางคนอาจไม่มีอาการท้องลดเลยเมื่อถึงเวลาคลอดลูก
-
มีเมือกไหลออกทางช่องคลอด
ในช่วงตั้งครรภ์ บริเวณปากมดลูกจะมีเมือกที่คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิด และบางลง ทำให้เมือกนี้หลุดออกมา ซึ่งบางครั้งก็อาจมีเลือดปนออกมาอีกด้วยค่ะ
-
ปวดหลัง
แม้ว่าอาการปวดหลัง จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ กับแม่ท้อง แต่หากคุณแม่มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนในการใกล้คลอดได้เช่นกัน เพราะอาจมาจากการที่ศีรษะของทารกในครรภ์ ไปสัมผัสกับกระดูกสันหลังของคุณแม่นั่นเอง
-
ท้องเสีย
การท้องเสีย ก็เป็นอีกสัญญาณในการใกล้คลอดเช่นกันค่ะ โดยเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด ร่างกายจะปล่อยสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งทำให้มดลูกหดตัว ซึ่งเมื่อคุณแม่มีอาการท้องเสีย ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเสี่ยงของการบีบตัวมดลูก ที่จะนำไปสู่การคลอดได้เช่นกัน
-
ถุงน้ำคร่ำแตก
ถุงน้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่ามดลูกเริ่มบีบตัวเล็กลง เพื่อให้ศีรษะของทารกเคลื่อนตัวสู่อุ้งเชิงกราน โดยน้ำคร่ำจะมีลักษณะใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ ซึ่งแม่ท้องจะมีโอกาสน้ำเดินมากถึง 80% ในช่วงเวลาใกล้คลอด หากคุณแม่มีอาการเช่นนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันถุงน้ำคร่ำแตกก่อนปวดท้องคลอด
- ไม่พยายามทำงานหนัก
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น
- รักษาความสะอาดของช่องคลอด
- ดูแลรักษาไม่ให้ฟันผุ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกี่ยวกับถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการปวดท้องคลอด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ถุงน้ำคร่ำรั่ว น้ำเดินก่อนคลอด ถุงน้ำคร่ำแตก แม่ท้องทำยังไงดี?
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?
หากคุณแม่มีสัญญาณเหล่านี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อเข้ารับการคลอดบุตรอย่างทันท่วงที
- อาเจียนไม่หยุด
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยกว่าปกติ
- น้ำคร่ำเป็นสีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สีใส และสีชมพู
ปวดท้องคลอด เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่ควรศึกษาอย่างเข้าใจ และไม่ควรกังวลใจจนเกินไป เพราะอาการนี้ มักมีสัญญาณเตือน และวิธีที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ แต่หากคุณแม่เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำคร่ำแตก และมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ท้องอ่อนๆ ปวดท้องน้อย ทำไมปวดมาก เสี่ยงแท้งหรือเปล่า?
10 อาหารที่ทําให้ท้องอืด อาหารที่ทำให้ปวดท้อง ยิ่งกินยิ่งปวดท้อง!
ปวดท้องหลังคลอด ปวดมดลูกหลังคลอดเกิดจากอะไร มีวิธีลดอาการปวดไหม
ที่มา : pobpad, nakornthon, bangkok3, nestlemomandme