จุลินทรีย์สุขภาพที่ได้รับจากช่องคลอดแม่ เปรียบเสมือนภูมิต้านทานตั้งต้นที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันให้กับสุขภาพของเด็กๆ แต่สำหรับเด็กผ่าคลอดจะพลาดโอกาสได้รับจุลินทรีย์สุขภาพนี้ไป จึงมีโอกาสเจ็บป่วยได้มากกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติได้ เช่น มีความเสี่ยงต่อการเป็นหอบหืดมากขึ้นได้สูงถึง 23% ซึ่งการเจ็บป่วยต่างๆนี้ อาจส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สมอง และ สุขภาพในระยะยาวของลูกรักได้
ดังนั้น 1000 วันแรกของเด็ก ซึ่งนับตั้งแต่ในครรภ์จนถึง 2 ขวบปีแรก จึงเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญมากต่อการเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้กับลูกน้อยในระยะยาว เนื่องจากภูมิต้านทานจะถูกพัฒนาได้สูงสุดในช่วง 2 ปีแรกของช่วงชีวิต
นอกจากนี้ภายในลำไส้นั้นยังเป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์หลายชนิด และที่สำคัญมากก็คือ จุลินทรีย์สุขภาพ หรือ โพรไบโอติก (Probiotic) ที่มีบทบาทต่อสุขภาพและระบบภูมิต้านทานร่างกายของลูกรัก หากจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้มีอยู่ในลำไส้ในจำนวนที่เหมาะสมและมีอาหารที่ช่วยหล่อเลี้ยงได้อย่างเพียงพอ จุลินทรีย์สุขภาพเหล่านี้ก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในลำไส้ เด็กๆ ก็จะมีภูมิต้านทานร่างกายที่ดี มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่เจ็บป่วยง่าย เมื่อต้องกับสัมผัสเชื้อโรคที่วนเวียนอยู่รอบตัว
แม้เด็กผ่าคลอด จะพลาดโอกาสการได้รับ จุลินทรีย์สุขภาพ หรือ โพรไบโอติก ที่ช่วยในการเสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกายตั้งต้นจากการผ่าคลอด แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยพัฒนาระบบภูมิต้านทานของลูกให้แข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการให้นมแม่ นมแม่นั้นอุดมไปด้วยสารอาหารอันทรงคุณค่า ซึ่งดีที่สุดในการช่วยเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้เด็กผ่าคลอดได้
นมแม่สามารถช่วยเสริมสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอย่างน้อย 2 ขวบแรกในช่วงชีวิตของลูกน้อย ซึ่งแม้แต่เด็กคลอดธรรมชาติ ที่ได้รับเกราะป้องกันสุขภาพชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่แรกคลอดผ่านทางช่องคลอดของคุณแม่อยู่แล้วนั้นก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วยง่าย ในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตเช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นั่นเอง ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกน้อยทานนมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น
การส่งเสริมสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ด้วยนมแม่ที่มี ซินไบโอติก (Synbiotic) เป็นอีกหนึ่งวิธี เร่งคืนภูมิต้านทาน และ เสริมสร้างระบบภูมิต้านทานในระยะยาวที่ได้ผลดี เนื่องจากในลำไส้เป็นที่อยู่ของเซลล์ภูมิต้านทานมากถึง 70 – 80 % ของร่างกาย โดยมี ซินไบโอติก (Synbiotic) ที่เป็นส่วนประกอบของการทำงานร่วมกัน ของ จุลินทรีย์สุขภาพ หรือ โพรไบโอติก (Probiotic) และ อาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ หรือ พรีไบโอติก (Prebiotic) พบได้มากในนมแม่ จึงแนะนำเด็ก ๆ ควรทานนมแม่อย่างเดียวต่อเนื่องนาน 6 เดือน หลังจากนั้น สามารถทานนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น ร่วมกับการพาลูกน้อยเข้ารับวัคซีนให้ครบตามช่วงวัย
ซินไบโอติก (Synbiotic) ซึ่งประกอบด้วย จุลินทรีย์สุขภาพโพรไบโอติก (probiotic) ทำงานร่วมกับ พรีไบโอติก (Prebiotic) ที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่ดีหลายชนิด โดยเฉพาะ Bifidobacteria และ Lactobacili มีส่วนช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ด้วยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่ดี ลดปริมาณจุลินทรีย์ก่อโรค และมีส่วนช่วยให้การขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ
ในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อเสริมภูมิต้านทานตั้งต้นให้กับลูกน้อย เช่น เสริมด้วยโภชนาการที่มีซินไบโอติก ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเราทราบแล้วว่า ซินไบโอติก (Synbiotic) คือคำตอบของการส่งเสริมภูมิต้านทานที่ดี และช่วยให้เด็ก ๆ มีสุขภาพแข็งแรงจวบจนโต แม่จึงควรดูแลให้ลูกรักได้รับ ซินไบโอติก (Synbiotic) ต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปีแรก เพื่อการพัฒนาระบบภูมิต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนะคะ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!