-
เด็บบี้ เอลนาทัน คุณแม่ชาวอิสราเอลรู้ว่า โรเทม ลูกชาย มีอาการสมองพิการ เมื่อเขาอายุได้ 2 ขวบ เขาไม่สามารถเดินได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยว่า ขาไร้ความรู้สึก และโรเทมเอง ก็ไม่อาจรับรู้ได้ว่า ขาของเขามีไว้เพื่ออะไร เด็บบี้ จึงสลัดความเจ็บปวด และสิ้นหวังนี้ทิ้ง แล้วเริ่มออกแบบเครื่องมือช่วยเดินที่เรียกว่า ไฟร์ฟลาย อัพซี (Firefly Upsee) ซึ่งเป็น เครื่องมือช่วยลูกสมองพิการ ให้มีโอกาสเดินได้แบบคนอื่น ๆ
คุณแม่ประดิษฐ์ เครื่องมือช่วยลูกสมองพิการ ให้เดินได้ ขอบคุณภาพจาก abcnews
เครื่องมือนี้ช่วยให้โรเทมที่ได้แต่นั่งอยู่บนวีลแชร์ ให้กลับมายืนตัวตรงได้ ด้วยการคล้องส่วนบนของเครื่องมือเข้ากับเอวของเด็บบี้ และให้ลูกสวมรองเท้าแบบพิเศษที่มีสายรัดเท้าของพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน แม่กับลูกจึงก้าวเดินไปด้วยกันได้ โดยมือสองข้างเป็นอิสระ พร้อมสนุกกับกิจกรรมอื่น
เด็บบี้ยังเลือก เลคกี บริษัทสัญชาติไอริชให้ผลิตเครื่องมือช่วยเดินนี้ เพื่อจำหน่ายให้แก่พ่อแม่คนอื่น ๆ ที่ลูกมีความพิการทางร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน มี 20 ครอบครัวจากทั่วโลกตัดสินใจซื้อเครื่องมือนี้ไปทดลองใช้
ครอบครัวที่กลับมายิ้มอีกครั้งหลังลูกเดินได้
สเตซี่ วาร์เดน และ โนอาห์ ลูกชายวัย 5 ขวบคือหนึ่งในผู้ทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าว โนอาห์มีอาการโรคสมองพิการแบบหดเกร็ง คลาน นั่ง ยืน เดิน หรือกินอาหารเองไม่ได้ หลังจากใช้เครื่องมือช่วยเดิน เขาสามารถเคลื่อนไหวในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน สเตซี่บอกว่า “เขาหัวเราะและส่งเสียงคิกคัก ซึ่งเขาไม่เคยทำแบบนี้กับเครื่องมือช่วยเดินแบบอื่น ๆ ที่เคยเห็นมา”
โนอาห์รับรู้น้ำหนักที่ทิ้งลงบนขาสองข้าง และเริ่มเลียนแบบท่าเดินที่เป็นธรรมชาติ ด้วยการสลับขาไปมาเพื่อก้าวไปข้างหน้า นอกจากนั้นเขาและลุค น้องชายวัย 3 ขวบยังกอดกันได้เป็นครั้งแรก จากการที่โนอาห์สามารถยืนตัวตรงได้ด้วยเครื่องมือช่วยเดินนี้
“นี่เป็นครั้งแรกที่เราทำอะไรหลาย ๆ อย่างไปด้วยกันได้ ในฐานะครอบครัวเดียวกัน” สเตซี่กล่าว เธอหวังว่าการฝึกเดินจะทำให้โนอาห์สามารถเดินได้ด้วยตัวเองในอนาคต และเครื่องมือช่วยเดินนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกคน
สมองพิการ เรื่องที่ไม่มีแม่คนไหนอยากให้เกิดกับลูก
บทความ : สมองพิการ เรื่องที่ไม่มีแม่คนไหนอยากให้เกิดกับลูก
สาเหตุของการเกิดสมองพิการ เกิดได้ตั้งแต่ในระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในช่วงระยะเวลาที่มีการเจริญเติบโตของสมอง คือ ตั้งแต่ช่วงที่ทารกอยู่ในท้องแม่ จนถึงอายุ 7-8 ปี อย่างไรก็ตาม มีประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด
1. ระยะก่อนคลอด
อาจเกิดจากความผิดปกติของสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเกิดจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน หรือเชื้อไวรัสอื่น ๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือในระหว่างตั้งครรภ์นั้นคุณแม่ท้องอาจจะได้รับสารพิษบางอย่าง เป็นต้น
2. ระยะระหว่างคลอด
อาจเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด คลอดยาก รกพันคอ ขาดออกซิเจนในช่วงแรกคลอด สมองได้รับการกระทบกระเทือน มีภาวะตกเลือด หรือมีเลือดออกในสมองขณะคลอด เป็นต้น
3. ระยะหลังคลอด
อาจเกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาจเกิดจากการที่ศีรษะมีการกระทบกระเทือนหลังคลอด เป็นต้น
สมองพิการ เรื่องที่ไม่มีแม่คนไหนอยากให้เกิดกับลูก
ลักษณะของเด็กสมองพิการ
อาการของเด็กสมองพิการนั้น สามารถสังเกตได้จาก
- มีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป
- หยิบจับสิ่งของได้ไม่สะดวก แขนขาเกร็ง เดินลำบาก เดินปลายเท้าเขย่ง เด็กบางคนอาจจะเกิดความเจ็บปวดจากการเกร็งมาก เด็กบางคนอาจจะมีกระดูกและข้อผิดรูป จนอาจเกิดภาวะข้อเคลื่อน หรือข้อหลุดตามมาได้
- อาจมีอาการตัวอ่อนปวกเปียก ทำให้ไม่สามารถทรงตัวในท่านั่ง ยืน หรือเดินได้
- มีปัญหาในการดูดนมแม่ กลืนยาก เคี้ยวอาหารไม่ได้ เสี่ยงต่อการสำลักบ่อย ๆ
- มีปัญหาด้านการพูด พูดช้า พูดไม่ชัด
- สติปัญญาบกพร่อง เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป
- มีปัญหาการมองเห็น และการได้ยิน
- อาจมีอาการซึมเศร้า หรือมีอาการชัก ร่วมด้วย
ส่วนใหญ่พ่อแม่มักพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ปี สังเกตได้จากเด็กจะมีท่านอนผิดปกติจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกร็ง เด็กอายุมากกว่า 5 เดือน กำมือมากกว่าแบมือ หรือในเด็กที่มีอายุมากว่า 2 ปียังไม่สามารถเดินได้ เป็นต้น จำเป็นต้องพาเด็กเข้ารับการตรวจรักษาทันทีเมื่อสังเกตพบความผิดปกติ
สมองพิการ รักษาอย่างไร
อาการสมองพิการ แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่หากมีการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ ก็จะช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากกว่าการที่จะดูแลรักษาเมื่อเด็กมีอายุมากแล้ว โดยแนวทางการดูแลรักษาเด็กที่มีภาวะสมองพิการ ทำได้โดย
- การรักษาทางกายภาพบำบัด
- ฝึกกิจกรรมบำบัด เพื่อเพิ่มทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกการดูดกลืน ทักษะการทำกิจวัตรประจำวัน และการช่วยเหลือตัวเอง เป็นต้น
- การรักษาด้วยยา
- การรักษาด้วยการผ่าตัด
- ฝึกการพูด
- การรักษาอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาสายตาและการได้ยิน การรักษาภาวะชัก และการรักษาด้านจิตเวช
แปล และเรียบเรียงจาก : abcnews.go.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาหารที่มีไอโอดีนสําหรับคนท้อง ความต้องการไอโอดีน หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันลูกในท้องสมองพิการ
5 นิสัยอันตรายที่ทำให้ ลูกพิการแต่กำเนิด ระวังเด็กพิการแต่กำเนิด
เปิดตู้เย็น!! อาหารสําหรับคนท้อง 8 เดือน ได้เวลาบำรุงครรภ์เฮือกสุดท้ายก่อนคลอด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!