วิธีบอกลูกพ่อแม่เลิกกัน คุยเรื่องหย่ากับลูก คงเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้กับคนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าบทบาทระหว่างสามีภรรยาจะจบลง แต่หน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ยังคงอยู่ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ทำเพื่อลูกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อครอบครัวที่เคยพร้อมหน้าพร้อมตาต้องจบลง เหลือเพียงพ่อที่เลี้ยงลูก หรือแม่ที่เลียงลูกคนเดียว การที่จะบอกให้ลูกเข้าใจไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วพ่อแม่ต้องทำอย่างไร เพื่อให้ลูกน้อยปรับตัวได้ในวันที่ครอบครัวไม่เหมือนเดิม พ่อแม่รู้ไหมว่าลูกต้องเจอกับอะไรหลังจากพ่อแม่เลิกกัน
เป็นความจริงที่ว่าเด็กๆ จะดูดซับอารมณ์ของพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า internalize แปลว่าเอาเข้าไป ตามจิตวิเคราะห์คือ การเอาเข้าไปไว้ในจิตใต้สำนึก ทำให้เด็กต้องแบกรับน้ำหนักแห่งความตึงเครียดนี้ไปเรื่อยๆ จนโต โดยที่ไม่มีวันจางหายโดยง่าย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางจิตเวชที่สำคัญคือภาวะอิดโรยเรื้อรัง (chronic fatigue) และอารมณ์เศร้า (depression)
การทะเลาะกันของพ่อแม่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำให้ความมั่นคงในจิตใจของลูกเสียหายแตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ จึงเกิดเป็นตัวตนที่ไม่มั่นคง หรือการแยกตัวตนแยกออกเป็นสองบุคคลิก เช่น เขาจะเติบโตเป็นคนที่โหยหาความรักแต่ก็จะทำลายความรักที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เขาอยากมีเพื่อนแต่จะยังคงใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว เขาอาจจะฉลาดและทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพแต่จะทำลายผลงานของตัวเอง เป็นต้น และจะทำให้เขาพัฒนาต่อไปไม่ได้ต้องติดชะงักอยู่ที่จุดนี้ตลอดไป
เด็กๆ จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่โหยหาความรักแต่ไม่กล้าเข้าใกล้ และทุกครั้งที่มีโอกาสใกล้ชิดกับใครจะถอยหนี รวมทั้งทุกครั้งที่เกิดเรื่องขัดแย้งกับคนรักหรือคู่ครองเขาจะกระทำซ้ำสิ่งที่พ่อแม่เคยกระทำนั่นคือสร้างความสัมพันธ์ที่เสียหาย เท่ากับดึงโลกทั้งใบกลับคืนสู่วัยเด็กอีกครั้งหนึ่ง วัยที่พ่อแม่ทะเลาะกันตลอดเวลาและตัวเองมีข้าวกินมีที่นอนก็พอแล้ว
เด็กจะมีอารมณ์เศร้าเรื้อรัง มองโลกในแง่ร้าย พัฒนาไปสู่บุคลิกภาพผิดปกติ การใช้สารเสพติด และรู้สึกหมดหวังอยู่ตลอดเวลา เด็กจะข้ามวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว จริงจัง ไม่ผ่อนปรน ไม่สามารถสนุกสนาน
บางครั้งพ่อแม่ก็คิดไปเองว่า เลิกกันไปทั้งแบบนี้นั่นแหละไม่ต้องยอกลูกหรอก บอกไปเด็กก็ไม่เข้าใจแถมยังต้องมานั่งอธิบายซ้ำอีก ซึ่งอยากที่จะอธิบายว่าทำไม เพราะอะไร นั่นเป็นการกระทำที่ผิดมาก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือคิดว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความผิดของตัวเอง ทำให้กลายเป็นเด็กมีปัญหาได้ ซึ่งวิธีการที่ต้องบอกลูกมีดังนี้
1. ให้ความมั่นใจกับลูก
พ่อแม่ต้องบอกลูกเสมอว่า การที่พ่อแม่ต้องแยกทางกันไม่ใช่มีสาเหตุมาจากลูก เนื่องจากเด็กเล็กๆ บางคนจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่แยกทางกัน เช่น ทำตัวไม่ดีบ้าง ได้คะแนนสอบน้อยบ้าง หรือเพราะตัวเองดื้อ ไม่ยอมเชื่อฟังพ่อแม่ การบอกย้ำในว่าลูกไม่ได้ผิดอะไรเป็นสิ่งสำคัญมาก และลูกไม่ได้ทำให้พ่อแม่เลิกกัน ซึ่งคุณต้องอธิบายให้ลูกได้ฟังว่สที่พ่อแม่แยกทางกัน หรือไม่ได้อยู่ด้วยกันนั้น แต่ไม่ได้แปลว่าพ่อหรือแม่ไม่รักลูก พ่อแม่ยังรักลูกเหมือนเดิมเพียงแต่พ่อกัยแม่อยู่ด้วยกันอีกไม่ได้
2. การบอกเด็กเรื่องหย่าร้าง
ทั้งพ่อและแม่ควรร่วมกันพูดคุยเรื่องหย่าร้างกับลูก จะทำให้เด็กปรับตัวได้ดีกว่าในระยะยาว เป้าหมายคือให้ข้อมูลที่เด็กควรต้องรู้ ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับอนาคตและเปิดโอกาสให้เด็กได้ถามในสิ่งที่อยากจะรู้ เนื่องจากเด็กอาจจะอยากรู้ว่าเพราะอะไรพ่อและแม่ถึงหย่ากัน พ่อแม่ควรตอบโดยกว้าง ๆ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากจนกลายเป็นการด่าว่าอีกฝ่ายหนึ่ง อธิบายว่าการหย่าร้างนั้นเป็นการตัดสินใจร่วมกันอย่างมีเหตุผล เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อและแม่นั้นจะยังคงดำเนินต่อไป พ่อและแม่ก็ยังคงเป็นพ่อและแม่ของลูกอย่างเดิม
บอกให้เด็กรู้ถึงการเลิกกัน เพื่อให้เด็กได้ปรับตัวในระยะยาว
3. อย่าเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่
เมื่อก่อนเป็นอย่างไร หลังจากหย่าแล้วควรใช้ความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงชีวิตเดิมของลูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในระยะแรก ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าเมื่อพ่อหรือแม่แยกไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สิ่งนี้ยิ่งจะทำให้เด็กปรับตัวได้ยากขึ้น ดังนั้นหากเด็กยังสามารถเรียนที่โรงเรียนเดิม เจอเพื่อน เจอครูคนเดิม หรือยังได้ดูหนังทุกวันอาทิตย์เหมือนเดิมที่ผ่านมา ก็จะช่วยให้เด็กไม่เครียดมากจนปรับตัวไม่ได้
4. ปฏิบัติต่อลูกด้วยความรัก
พ่อแม่ต้องให้ความรักความอบอุ่มเหมือนเดิมอย่างที่ผ่านมา ไม่ว่าลูกจะอยู่กับใครก็ตาม แรก ๆ เด็กอาจจะมีปฏิกิริยาแปลก ๆ หรือแสดงความไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจ นิ่ง และปฏิบัติต่อเขาเหมือนเดิม เด็กก็จะค่อย ๆ เข้าใจและรู้ได้ว่าเขายังเป็นที่รักเหมือนเดิม
พ่อแม่ต้องทำอย่างไรในวันที่เลิกกัน
นอกจากที่พ่อแม่ต้องบอกหาวิธีทที่บอกลูกแล้ว พ่อแม่ต้องเตรียมตัวในวันที่ทั้งสองแยกออกจากกัน เพราะเมื่อสถานะไม่เหมือนเดิม ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม การเตรียมตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าจึงมีความสำคัญ ดังนั้น สามีหรือภรรยาควรปฏิบัติตามดังต่อไปนี้
คุยเรื่องหย่ากั บลูก
1. เตรียมตัวสำหรับเรื่องเงินทอง
ปัญหามักจะเกิดเมื่อก่อนที่จะหย่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่มักไม่ได้ทำงาน ทำให้มีปัญหาในการหาเลี้ยงตัวเองและลูก สิ่งที่ควรทำคือการตกลงกันตามกฎหมาย คือจะมีการให้ค่าเลี้ยงดูเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรคิดเผื่อหาทางช่วยเหลือตัวเองไปด้วย ในกรณีที่ลูกเข้าโรงเรียนไปแล้ว อาจคิดหางานพิเศษหรืองานประจำทำไปด้วย ต้องเน้นว่าปัญหาเรื่องการเงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากอันหนึ่ง ต้องวางแผนให้ดี แรก ๆ อาจจะติดต่อขอคำปรึกษาจากญาติ ๆ หรือเพื่อนฝูงไปด้วย
2. มั่นใจว่าไม่มีเขา/เธอ เราก็อยู่ได้
เมื่อหย่าร้างกันใหม่ ๆ คนส่วนใหญ่จะรู้สึกคล้าย ๆ กันคือ เหมือนว่าอะไรบางอย่างมันหายไปจากชีวิต หลายคนขาดความมั่นใจ ไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตใหม่ลำพังได้ บางครั้งความรู้สึกเหล่านี้ทำให้ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าหางาน ไม่กล้าเริ่มชีวิตใหม่ เลี้ยงลูกก็ไม่มั่นใจ ดังนั้นอย่าลืมดูแลจิตใจตัวเองให้ดี เพื่อที่จะสามารถเป็นเสาหลักให้กับทั้งตัวเองและลูกได้
3. ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น
ยอมรับว่าการหย่าร้างกำลังจะเกิด หรือเกิดแล้ว เพื่อให้ไม่ต้องเก็บมาคิด มาทำให้ใจหมกมุ่น ระลึกถึงอดีต หรือติดค้างแต่ความคาดหวังในตัวของอดีตสามี/ภรรยา เพื่อชีวิตจะได้อยู่กับปัจจุบันและพร้อมจะเดินต่อไปข้างหน้า
4. ออกจากความรู้สึกที่ไม่ดี
ภายหลังการหย่าร้างใหม่ ๆ บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ดี ตัวเองไร้ค่า ถูกทิ้ง รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้ หากเกิดขึ้นให้พยายามเข้าใจว่า แท้จริงแล้วการหย่าร้างนั้นไม่ได้แปลว่าเราไม่ดี เราไร้ค่า ไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินคุณค่าของเรา การหย่าร้างนั้นเป็นเพียงการบอกว่า เราสองคนเข้ากันไม่ได้ อยู่แล้วมีปัญหา ไม่มีความสุข การยุติการอยู่ด้วยกันนั้นจะช่วยให้ทั้งสองคนยุติปัญหา และสามารถมีความสุขได้มากขึ้น
เลิกกันแล้ว อย่าเอาอารมณ์ขุ่นมัวของตัวเองมาทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีไปด้วย
5. พยายามปรับสังคมใหม่ๆ
การหย่าร้างนั้นสภาพสังคมนั้นย่อมเปลี่ยน จากอยู่กันหลายคน เลิกงานก็กลับบ้านอยู่กลับครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ หลังหย่าบางคนอาจต้องอยู่คนเดียว บางคนอาจได้อยู่กับลูก ในคนที่อยู่คนเดียวนั้นย่อมรู้สึกแปลก ๆ เหงา ๆ โหวงเหวง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ชิน ดังนั้นอาจจะต้องปรับสังคมใหม่ ควรไปพบปะเพื่อนฝูงหรือญาติ ๆ ให้มากขึ้น ไปเที่ยวบ้าง ซึ่งจะช่วยให้เราตระหนักได้ว่า ถึงแม้ไม่มีเขา/เธอ แต่เราก็ยังมีคนอื่น
6. ควรหากิจกรรมงานอดิเรกทำ
เพื่อลดความรู้สึกเศร้า เหงา เปล่าเปลี่ยว เช่นอาจไปเรียนหนังสือ เรียนภาษา เล่นเกมส์ เข้าชมรม เล่นกีฬา อ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้ไม่ว่างเกินไปแล้ว ยังอาจได้ความรู้ความสามารถมากขึ้น ได้เจอเพื่อนเจอคนใหม่ ๆ มากขึ้นไปด้วย
7. จัดกาเรื่องการแยกกันอย่างสงบ
เมื่อสามีหรือภรรยาแยกออกจากกัน แต่คงความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะพ่อของลูก และแม่ของลูก ซึ่งไม่ได้แปลว่าคุณกับเขาต้องสนิทสนมกันเหมือนก่อน แต่ร่วมมือกันเพื่อเลี้ยงลูกให้ได้ดีตามสมควร การหย่าร้างนั้นไม่ใช่สงคราม เราไม่จำเป็นต้องทำลายล้างอีกฝ่ายจนกว่าจะตายกันไปข้างนึง ซึ่งมีแต่จะยิ่งนำความไม่สงบในใจให้คงอยู่ไปเรื่อย ๆ
8. อย่ารีบหาใครมาทดแทนคนรักเดิม
เวลาที่หลังแยกกันใหม่ ๆ ยามเหงา เศร้า อารมณ์ไม่ปกติ บางครั้งจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ดี ทำให้บางครั้งเลือกคนที่ไม่ค่อยเหมาะสม ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้แทนที่จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น กลายเป็นเอาไปเอามาทำให้เกิดแผลในใจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
สุดท้าย ความตึงเครียดที่เกิดจากการหย่าร้างพบได้ในทุก ๆ ครอบครัว และมักก่อให้เกิดความยากลำบากสำหรับเด็กทุกคน สิ่งสำคัญที่พ่อและแม่ควรจะต้องพิจารณาก่อนการหย่าร้างคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กมีบาดแผลในใจน้อยที่สุด มีการปรับตัวและพัฒนาการเป็นไปอย่างเหมาะสม ทำให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามวัย อย่างเท่าที่เด็กคนหนึ่งพึงจะมี อย่าให้ถึงกับว่า หย่าแล้วทำให้ชีวิตทุกคนพังพินาศไปหมด
ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะเลิกกันแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การช่วยกันสนับสนุนลูกของคุณต่อไป
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพ และ สังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และ เอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่ และ เด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และ ผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และ สื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่ และ เด็ก โภชนาการแม่ และ เด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และ จิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้ และ มีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “ พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง ”
source หรือ บทความอ้างอิง : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
นิสัยของลูกคนโต คนกลาง คนเล็ก และลูกคนเดียว พี่น้อง นิสัย เหมือนหรือต่างกัน
วิธีพัฒนาสมองลูกให้ฉลาด พ่อแม่สร้างได้เพียงแค่ 15 นาที