แผล รักษาเบื้องต้นได้ยังไงบ้าง เด็กเป็นวัยซน ชอบเล่นสนุก ไม่ชอบอยู่กับที่ ซึ่งก็อาจจะมีบางครั้ง ที่เขาสะดุดล้มจนเป็นแผลตามร่างกาย หรือไปโดนอะไรข่วนจนบาดเจ็บ วันนี้เราจะมาดูวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่คุณแม่สามารถทำได้กัน
แผลมีกี่ประเภท
แผล เกิดจากภาวะที่เนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำลาย ซึ่งอาจมาจากการผ่าตัด หกล้ม การเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ หรือจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนเรา ปกติแล้ว แผลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แผลปิดและแผลเปิด โดยแผลปิดนั้น จะเป็นแผลที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อสัมผัสกับสิ่งเร้าภายนอก และหายได้ไว ส่วนแผลเปิด จะเป็นแผลที่ทำให้เนื้อเยื่อมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กชายวัย 3 ขวบ เสียชีวิตปริศนา พ่อลั่นไม่เชื่อหกล้ม เพราะบาดแผลผิดธรรมชาติ
วิธีปฐมพยาบาลและรักษาเบื้องต้นเมื่อเด็กเกิดแผล
หากเด็กไม่ได้มีอาการรุนแรง เป็นแผลเพียงเล็กน้อย คุณแม่อาจทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้
- ก่อนปฐมพยาบาลทุกครั้ง ให้ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าสู่แผลเด็กจนอาจทำให้เด็กติดเชื้อ หลังจากนั้น ให้สวมถุงมือที่สะอาด เพื่อเริ่มปฐมพยาบาล
- ล้างแผลด้วยน้ำเย็น 2-3 นาที เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและดินออกจากแผล
- ไม่ควรล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ชนิดใด ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองและปวดแผลได้
- ทำความสะอาดรอบ ๆ แผลด้วยสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว
- พยายามห้ามเลือดโดยใช้ผ้าก็อซหรือผ้าขนหนูกดไว้ที่แผล
- หากเลือดซึมผ่านผ้าก็อซจนผ้าก็อซเปียก ให้เอาผ้าก็อซแผ่นใหม่มากดทับเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องเอาแผ่นเก่าออก
- หากสังเกตเห็นว่าเลือดหยุดไหลแล้ว ให้รออีกสัก 1-2 นาทีค่อยเลิกกดแผล
- ยกบริเวณที่เกิดแผลให้อยู่สูง เป็นเวลาประมาณ 15 นาที เพื่อไม่ให้เลือดไหลได้อีก
- หลังจากเลือดหยุดไหลแล้ว ให้ทาแผลด้วยยาฆ่าเชื้อชนิดครีมวันละ 1-3 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากเป็นแผลที่เท้าหรือที่มือ ให้ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลไว้ในช่วงกลางวัน เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าสู่แผล และเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแคะหรือแกะเกาแผล จนทำให้แผลอักเสบ
- หมั่นตรวจดูว่าแผลบวมแดง มีหนอง หรือน่าจะติดเชื้อหรือไม่
หลังจากเป็นแผลแล้ว ร่างกายจะทำการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้แผลบวมแดง และอาจทำให้เด็กรู้สึกเจ็บได้ ในระหว่างนี้ ให้รักษาแผลของเด็ก ๆ ให้สะอาดและแห้งอยู่ตลอดเวลา หากแผลเกิดการตกสะเก็ด ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะนี่เป็นกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังที่ถูกทำลายของร่างกาย เพื่อให้เนื้อเยื่อใหม่ได้เกิดขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลังจากที่สะเก็ดหลุดออก เด็กจะมีแผลเป็นขึ้นที่บริเวณนั้น และต้องรอ 2-3 เดือนแผลเป็นถึงจะจางไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกเป็นแผลร้อนใน สาเหตุเกิดจากอะไร พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?
การปฐมพยาบาล ข้อควรปฏิบัติในระหว่างการรักษาแผล
ในระหว่างที่รักษาแผล หรือรอให้แผลหาย คุณแม่อาจมีวิธีดูแลลูก ๆ เพื่อให้แผลหายได้ไวขึ้น ดังนี้
- ให้ลูกรับประทานอาหารที่มีโปรตีน เพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เช่น ถั่ว ผักใบเขียว เต้าหู้ เนื้อปลา หมู ไก่ หรือเนื้อวัวที่ไม่ติดมัน เนยถั่ว ชีส โยเกิร์ต ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เป็นต้น
- ให้ลูกรับประทานอาหารที่มีคารโบไฮเดรต เช่น ขนมปังธัญพืช เมล็ดธัญพืช มันฝรั่ง ข้าว พาสต้า เป็นต้น
- ให้ลูกรับประทานผลไม้อย่างสตรอเบอรี่ และแคนตาลูป
- ป้องกันไม่ให้แผลโดนแสงแดด เพราะอาจทำให้บริเวณที่เป็นแผลมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยคุณแม่อาจให้เด็กใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเพื่อปิดแผลเอาไว้
- หากอยากให้แผลเป็นสมานได้ไว ให้ลองนวดแผลเบา ๆ ด้วยได้
- หมั่นให้เด็ก ๆ ล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเมื่อเผลอไปจับหรือสัมผัสแผล
- ระมัดระวังไม่ให้บาดแผลได้รับการกระทบกระเทือน หรือกระแทกเข้ากับสิ่งของใด ๆ
- ให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ และให้ทานของว่างที่มีประโยชน์อย่างแครกเกอร์ แซนด์วิช หรือกราโนล่าแบบแท่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : การห้ามเลือดหากลูกบาดเจ็บ หรือเป็นแผลต้องทำอย่างไร
แผลแบบไหน ที่ต้องไปพบแพทย์
ปกติแล้ว คุณแม่สามารถรักษาแผลที่เป็นรอยบาดเล็ก ๆ หรือรอยถลอกให้น้อง ๆ ได้เองที่บ้าน อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเขาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
- เด็กมีอาการขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อยครั้ง ฉี่มีสีเข้ม ปากแห้ง หรือ เบ้าตาลึก เป็นต้น
- แผลเริ่มส่งกลิ่นเหม็น และมีหนองไหลออกมาจากแผล ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- แผลบวมขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีรอยริ้วสีแดงขึ้นรอบ ๆ แผล
- เป็นแผลจากของมีคม และขนาดแผลใหญ่เกิน 1/2 นิ้ว
- เด็กยังรู้สึกปวดแผล แม้จะรับประทานยาแก้ปวดไปแล้วก็ตาม
- เด็กโดนสิ่งของมีคมปักเข้าตามร่างกาย และไม่สามารถเอาออกได้
- มีแผลรอยบาดจากของมีคมที่ตา ใบหน้า กระดูกอ่อนบริเวณจมูก หรือหู
- แผลเริ่มลุกลาม ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น
- ไม่สามารถห้ามเลือดที่แผลเด็กได้
- มีเลือดออกเยอะมาก
- มีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต
- เด็กมีแผลเหวอะ
หากเด็ก ๆ โดนของมีคมปักเข้าที่ร่างกาย ไม่ควรพยายามดึงเอาสิ่ง ๆ นั้นออกเอง วิธีที่ดีที่สุด คือ การกดแผลไว้ เพื่อไม่ให้เลือดไหล และให้รีบโทรหาหน่วยงานแพทย์ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : เคล็ด(ไม่)ลับ วิธีดูแลบาดแผลลูก ให้หายเร็ว
ทำยังไงไม่ให้เด็กเกิดแผล
การห้ามไม่ให้เด็กซุกซนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเด็ก ๆ อยู่ในวัยที่ชอบเล่นสนุกและวิ่งเล่น ขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น และชอบสำรวจโลก แต่หากคุณแม่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กเกิดแผลได้ง่าย ก็อาจทำตามวิธีต่อไปนี้ได้
- หากเด็ก ๆ ต้องการปั่นจักรยาน ควรสวมหมวกกันน็อกให้เด็ก ๆ เพื่อที่ว่าเวลาล้ม จะได้ช่วยป้องกันศีรษะเด็กได้
- ไม่ให้เด็กวิ่งเล่นในเวลาพลบค่ำ เพราะเด็กอาจมองไม่เห็นสิ่งกีดขวาง ที่อาจทำอันตรายเขาจนได้รับบาดเจ็บ
- แต่งตัวให้เด็ก ๆ อย่างมิดชิดในระหว่างการเล่น เพื่อไม่ให้รับบาดเจ็บทางผิวหนังได้ง่าย
- เก็บเครื่องมือหรือของมีคมไว้ให้ห่างจากเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้ไม่หยิบมาเล่น
- เฝ้าดูเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิดเมื่อเด็กกำลังเล่นสนุก
โดยทั่วไปนั้น แผลของเด็กหายได้ไวมาก ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่อย่างเรา จึงไม่ใช่สิ่งที่คุณแม่ต้องกังวลใจ หากคุณแม่ปฐมพยาบาลให้ลูก ๆ เสร็จแล้ว ก็ยังต้องดูแลรักษาความสะอาดแผลของเด็กให้ดีจนกว่าแผลจะหาย หรือหากไปพบคุณหมอมาแล้ว ก็ควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้เด็ก ๆ แผลหายไว และกลับมาสดใสร่าเริงได้อย่างเดิม
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ไฟฟ้าช็อต ป้องกันได้อย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเมื่อโดนไฟช๊อต
สัตว์มีพิษกัด ต้องทำอย่างไร สอนวิธีปฐมพยาบาล และ สอนลูกน้อยให้รู้จักสัตว์ร้าย
น้ำร้อนลวก ไฟไหม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับเด็กๆ ภายในบ้าน คุณแม่ควรระวัง
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้ที่นี่!
การปฐมพยาบาล เบื้องต้น ตอนลูกมีแผล ทำอย่างไรได้บ้างคะ
ที่มา : WebMD , kidshealth , britannica , advancedtissue , intermountainhealthcare , parents