ความแตกต่างของเด็กกรุงเทพกับเด็กต่างจังหวัดมีอะไรบ้าง แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่มีความเจริญมากที่สุด จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งโอกาส ที่คนต่างก็มุ่งมาเพื่ออยากจะหางานทำ สร้างเนื้อสร้างตัว ไขว่คว้าหาโอกาสในชีวิต แต่สำหรับคนที่มีครอบครัวมีลูกแล้ว หรือกำลังวางแผนจะมีลูกเคยคิดหรือไม่ว่านี่เป็นที่ ๆ เหมาะจะให้ลูกเราเติบโตหรือเปล่า? เพราะอย่างที่เรารู้กันว่ากรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบ และการแข่งขันสูง รถติด สภาพอากาศนับวันก็จะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ จะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็กจริง ๆ หรอ? วันนี้เราเลยจะมาเปรียบเทียบ ความแตกต่างของเด็กกรุงเทพกับเด็กต่างจังหวัด ให้ดูกัน
4 ความแตกต่างของเด็กกรุงเทพกับเด็กต่างจังหวัด
ความเร่งรีบ
อย่างที่รู้กันว่ากรุงเทพนั้นเป็นเมืองที่รถติดมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องความเร่งรีบนั้นไม่ต้องพูดถึง การจะไปโรงเรียนได้นั้นหากใครโรงเรียนอยู่ไกลจากบ้านหน่อย ก็ต้องเผื่อเวลากันเป็นชั่วโมง ทำให้ทั้งพ่อแม่ลูกต่างก็ต้องพากันตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเตรียมตัวไปเรียนไปทำงาน ตอนเย็นกลับบ้านก็ต้องเผชิญรถติดอีกรอบ ยิ่งถ้าใครมีเรียนพิเศษกว่าจะได้อาบน้ำ กินข้าว ทำการบ้านก็ดึกแล้ว นอกจากจะเสียเวลาไปกับการเดินทางแล้วการนอนดึก ตื่นเช้ายังอาจจะทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้พักผ่อนมากเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกายและทางสมองโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
กลับกันเด็กต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะไม่ต้องพบปัญหานี้เท่าไหร่นัก เพราะการจราจรไม่ติดขัดเท่าในกรุงเทพ ทำให้เด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องตื่นเช้ามากจนเกินไป และไม่ต้องกลับบ้านดึก ทำให้มีเวลาเหลือไปเล่นหรือทำอย่างอื่นได้ และไม่รบกวนการนอนของเด็กด้วย
การแข่งขัน
ถึงแม้ว่ากรุงเทพจะมีสถานศึกษาดี ๆ ให้เลือกเรียนมากมาย แต่ก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่สูงมาก บางโรงเรียนต้องสอบเข้าตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถม หรือแม้กระทั่งระดับของมัธยม ทำให้เด็ก ๆ ต้องเจอกับความกดดันตั้งแต่เล็ก (โดยเฉพาะในครอบครัวที่พ่อแม่กดดัน) เลิกเรียนแทนที่เด็กจะได้เล่น ได้ใช้เวลากับพ่อแม่ตามที่เด็กวัยนี้ควรจะเป็น กลับต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม ซึ่งไม่ดีต่อพัฒนาการของเด็ก ในขณะที่ต่างจังหวัดนั้นการแข่งขันไม่สูง ทำให้ไม่ค่อยพบปัญหานี้เท่าไหร่นัก เด็กส่วนใหญ่เลิกเรียนก็กลับบ้านใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หรือเล่นกีฬากับเพื่อน ๆ ไม่ต้องมาเครียดโดยไม่จำเป็นตั้งแต่เด็ก
ค่าครองชีพ
มาที่เรื่องของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สำหรับข้อนี้ยังไงต่างจังหวัดก็ชนะกรุงเทพแน่นอน เพราะหลาย ๆ จังหวัดนั้นค่าครองชีพต่ำกว่ากรุงเทพค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าเงินเดือนจะน้อยกว่า แต่พอหักลบกับส่วนต่างของค่าใช้จ่ายแล้วก็ถือว่าถูกกว่าอยู่ดี เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีเรื่องของการอวดของกันในโรงเรียน หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินหรือเจอมากับตัวเองเรื่อง “เพื่อนมีฉันต้องมี” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะในโรงเรียนที่เด็กส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะอย่างโรงเรียนในกรุงเทพเป็นต้น ที่ต้องมีของใหม่ ๆ แพง ๆ มาอวดกันเสมอ ซึ่งภาระก็จะไปตกอยู่กับพ่อแม่ว่าจะสอนลูกยังไงดี ให้ลูกเข้าใจ ไม่เช่นนั้นก็ต้องเลือกระหว่าง จ่ายเงินตามใจลูก หรือปล่อยให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ในขณะที่ต่างจังหวัดจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการอวดของแบบนี้นัก แต่ถึงมีก็ยังน้อยกว่าในเมืองหลวง
โอกาสทางการศึกษา
สำหรับข้อนี้คงต้องยกให้เด็กกรุงเทพได้เปรียบกว่า เนื่องจากในกรุงเทพนั้นเด็ก ๆ จะมีตัวเลือกในการศึกษาที่หลากหลายกว่า ในทุก ๆ ระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นทางโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนอินเตอร์ สอบที่แรกไม่ติดก็ยังมีอีกหลายที่ดี ๆ ให้เลือก ยังไม่รวมโรงเรียนกวดวิชาดัง ๆ อีกหลายสถาบัน ทำให้เด็กกรุงเทพสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากกว่า
ต่างจากเด็กต่างจังหวัด ที่มีโรงเรียนให้เลือกไม่กี่โรงเรียนเท่านั้น งบประมาณสถานศึกษาก็ไม่ทั่วถึง โรงเรียนรอบนอกขาดการพัฒนา คุณภาพการเรียนการสอนไม่เทียบเท่าโรงเรียนอื่น ๆ บางจังหวัดถึงขั้นถ้าหลุดจากโรงเรียนประจำจังหวัดไปก็ต้องเรียกว่าโชคร้ายเลยทีเดียว
เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบไอคิวของเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า เด็กกรุงเทพนั้นมีค่าเฉลี่ยไอคิวสูงกว่าเด็กต่างจังหวัดถึง 10 จุด โดยเด็กต่างจังหวัดนั้นมีค่าเฉลี่ยไอคิวไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานด้วยซ้ำ ซึ่งสาเหตุนั้นก็มาจากหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงดู โภชนาการ และโรงเรียนต่างจังหวัดที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอและไม่ได้มาตรฐาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ต่างจังหวัดแล้วจะหมดโอกาสนะ เพราะในยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตทั่วถึงทุกพื้นที่แบบนี้ ขอแค่เด็กมีความตั้งใจและขวนขวายก็สามารถประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ต่อให้อยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นปัญหา
นี่ก็เป็น ความแตกต่างระหว่างเด็กกรุงเทพกับเด็กต่างจังหวัด ที่เห็นได้ชัดและเกิดกับครอบครัวส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าทั้งสองแบบต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป แต่ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นตามนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองและการเลี้ยงดูของแต่ละบ้านด้วย และยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เด็กกรุงเทพและเด็กต่างจังหวัดมีความแตกต่างกัน คือการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมกลางแจ้ง เรามีดูกันว่าความแตกต่างเป็นเช่นไร และกีฬาสามารถฝึกอะไรได้บ้าง
ความแตกต่างในการเล่นกีฬาของเด็กเมืองกรุงและเด็กต่างจังหวัด
การเล่นกีฬาของเด็กในเมืองกรุงนั้นส่วนมากแล้วจะไปเล่นตามสนามให้เช่า หรือเพียงแค่ในโรงเรียนเท่านั้น ส่วนเด็กต่างจังหวัดสามารถเล่นได้ทุกที่เพราะส่วนใหญ่แล้วพื้นที่เล่นกีฬา หรือจัดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กต่างจังหวัดมักจะมีค่อนข้างเยอะกว่าและ ค่อนข้างไม่ต้องมีค่าให้จ่ายใด ๆ ยกตัวอย่างเช่น การเล่นฟุตบอลเด็กกรุงเทพอาจจะเช่าสนานเล่น แต่เด็กต่างจังหวัดเล่นที่ลานหน้าบ้านตัวเอง หรือกลางทุ่งนา และไม่ต้องได้เสียค่าใช้จ่าย นี้ก็เป็นความแตกต่างของเด็กเมืองกรุง และเด็กต่างจังหวัดอย่างหนึ่งเช่นกัน และเรามาดูกันว่าการเล่นกีฬาดีอยางไร และฝึกทักษะทางด้านใดบ้าง
กีฬาช่วยฝึกทักษะอย่างไรบ้างของเด็ก ๆ
กีฬาไม่เพียงดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กเท่านั้น แต่ยังดีต่อจิตใจ ทั้งยังช่วยสอนทักษะสำคัญ ๆ ในชีวิตให้แก่เด็กได้ด้วย พัฒนาการจากกีฬามีมากกว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทางกายภาพ เพราะกีฬาช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับมือกับช่วงเวลาแห่งความตกต่ำ และสูงส่งในชีวิต เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้ว่าจะแพ้ยังไงให้เป็น การแพ้สอนให้เด็กก้าวข้ามความผิดหวัง และรับมือกับประสบการณ์ไม่น่าพึงพอใจ นอกจากนั้นการเล่นกีฬายังช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ และแปลงความรู้สึกแง่ลบออกมาในทางบวก ทั้งยังช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักถึงความอดทน
ผลดีต่ออารมณ์และสังคม
กีฬามีผลดีต่ออารมณ์ เพราะกิจกรรมทางร่างกายกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ดังนั้นการเล่นกีฬาเป็นประจำจึงทำให้เด็กอารมณ์ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการวิจัยที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการเล่นกีฬา กับการที่เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากทีม คำพูดที่ให้กำลังใจจากโค้ช และการเล่นอย่างสุดฝีมือ ล้วนช่วยให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเอง
การเล่นเป็นทีมช่วยให้เด็กมีพัฒนาทักษะมากขึ้นทางสังคมเช่นกัน เพราะสอนให้เด็กรู้จักร่วมมือ เห็นแก่ตัวน้อยลง ฟังเด็กคนอื่น และช่วยให้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ นอกเหนือจากเพื่อนที่โรงเรียน
สิ่งสำคัญในการเล่นเป็นทีม คือการยอมรับระเบียบวินัย เพราะการเล่นกีฬาหมายความว่าเด็กต้องทำตามกฎและกติกาของกีฬานั้น ๆ ยอมรับการตัดสินใจของผู้อื่น และเข้าใจว่าอาจถูกลงโทษหากแสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมา ทั้งยังสอนให้รู้จักฟังคำสั่งจากโค้ช กรรมการ และผู้ใหญ่คนอื่น ๆ นอกจากนั้น ยังสอนเกี่ยวกับทีมเวิร์คด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะมีประโยชน์มากเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่า “เล่น”ในส่วนไหน
พ่อแม่มีบทบาทสำคัญ
หากอยากให้ลูกสนใจและชอบเล่นกีฬา พ่อแม่ต้องสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้แก่ลูก ด้วยการเน้นที่ความสนุก หรือการได้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเน้นที่การแพ้หรือชนะเพียงอย่างเดียว พ่อแม่สามารถสร้างทัศนคติแง่บวกให้แก่ลูกได้ด้วยการเอ่ยปากชมทีมนักกีฬาแม้ในกรณีที่แข่งไม่ชนะ โดยอธิบายให้ลูกฟังว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ความพยายามทำให้ดีที่สุด
ยิมนาสติกกับความเชื่อมั่น
การสนับสนุนให้ลูกชื่นชอบกีฬา เป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งดูมีพลังงานเหลือเฟือในการเล่นซน กีฬาสนุก ๆ ที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ มีตั้งแต่ ยิมนาสติก ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไปจนถึงคาราเต้ ซึ่งทักษะพื้นฐานของกีฬาเหล่านี้ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนกีฬาประเภทอื่น แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสอนให้เด็กรู้จักการควบคุมตัวเอง เรียนรู้จังหวะการเคลื่อนไหว และมั่นใจในร่างกายของตนเอง ซึ่งเด็กที่มั่นใจในร่างกายของตัวเองจะเริ่มมีความมั่นใจในการเข้าสังคมด้วย นอกจากนั้น ศิลปะการป้องกันตัวอย่างคาราเต้ ยังสอนให้เด็กรู้จักเคารพผู้อื่น เริ่มจากการโค้งคำนับฝ่ายตรงข้าม
ฟุตบอลกับทักษะการสื่อสาร
เด็กหรือวัยรุ่นสมัยนี้อาจคิดว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเขาอยู่ในโลกโซเชียล และพออยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง นักรบคีย์บอร์ดก็ไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร หากอยากเติมเต็มจุดอ่อนของลูกด้านการสื่อสาร พ่อแม่อาจสนับสนุนให้ลูกเล่นกีฬาที่เป็นทีม อย่างเช่นฟุตบอล รักบี้ บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เพราะในการทำหน้าที่สมาชิกที่ดีในทีม ลูกต้องเกี่ยวพันกับทุกคนในทีมรวมถึงโค้ช ทั้งยังต้องเรียนรู้เทคนิควิธีการเล่น และการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อจะได้รู้ทางหรือเล่นเข้าขากัน ในทีมที่ประสบความสำเร็จนั้น ผู้เล่นจะพูดคุยหรือสื่อสารกันตลอดเวลาว่าตอนนี้อยู่จุดไหนและควรไปให้ถึงจุดไหน นั่นคือการมองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และจะแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างไร นอกจากนั้น ลูกยังสามารถเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนทั่วไป อย่างเจ้าหน้าที่ คนดู หรือกองเชียร์อีกด้วย หากลูกฝีเท้าหรือฝีมือดี ก็อาจได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งจะเป็นสนามอย่างดีสำหรับเรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะการสร้างทีม นอกเหนือจากทักษะการสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ทั้งตอนอยู่ในโรงเรียน หรือตอนเรียนจบมีงานทำ ไปจนถึงตอนติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
เทนนิสกับสมาธิ-ความบากบั่น
บรรดานักเทนนิสฝีมือดี น่าจะเป็นนักกีฬาที่มีสมาธิ และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะพวกเขาไล่เก็บไปทีละแต้ม จนกระทั่งสามารถพลิกกลับมาเอาชนะได้ในหลายแมทช์ทั้งที่แพ้ไปแล้วหลายเซ็ต ขณะที่ถ้าเป็นคนทั่วไปคงยกธงขาวและเก็บของกลับบ้านไปนานแล้ว นอกจากมีสมาธิกับการเล่น และมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าแล้ว พวกเขายังมองภาพในมุมกว้าง คือมองภาพรวมด้วย นั่นคือคำนึงถึงผลลัพธ์ของการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา การจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า การค่อย ๆ เก็บค่อย ๆ ทำไปอย่างไม่ลดละ พร้อมกับไม่ลืมเป้าหมายระยะยาว ถือเป็นทักษะล้ำค่าสำหรับเด็กสมัยนี้ ซึ่งอาจจดจ่อกับอะไรได้ไม่นานนัก หรือบางครั้งทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้ายังไม่เสร็จ ก็หันไปหยิบจับอย่างอื่นแล้ว ดังนั้นหากอยากให้ลูกมีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำ และไม่ล้มเลิกความพยายามอะไรง่ายๆ เทนนิสเป็นกีฬาที่น่าสนใจเลยทีเดียว
แหล่งอ้างอิงจาก : edium.com/@pimploy.rungsaung
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกเข้าโรงเรียน ใช้เอกสารอะไรบ้าง ไม่มีเอกสารพ่อ หรือแม่ ควรทำอย่างไรดี
เลือกโรงเรียนให้ลูก พ่อแม่ควรเลือกแบบไหน อย่างไรดี?
ปัญหาวัยเรียน ที่พ่อแม่ต้องเจอแน่ๆ รับมือและแก้ไขยังไงดี
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!