โรคหัวใจโต โรคหัวใจประเภทหนึ่งถ้าหากเกิดกับลูกของเราแล้ว คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเกิดมาพร้อมกับโรคที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ยิ่งเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจด้วยแล้ว พ่อแม่ยิ่งกังวลและเป็นห่วงลูกน้อยอย่างมาก ว่าจะมีวิธีการรักษาอย่างไร แล้วลูกจะเติบโตมาเป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายแข็งหรือไม่ เราลองมารู้จักโรคหัวใจโตในเด็ก และวัยผู้ใหญ่ รวมถึงวิธีป้องกันและรักษากันดีกว่า
โรคหัวใจโต ในเด็กที่พ่อแม่ควรระวังและสังเกตลูกน้อยของตนเอง
โรคหัวใจโต (Cardiomegaly) เป็นอาการของโรคหัวใจที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ สามารถทราบได้จากการผลเอกซเรย์ปอด ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ
1. โรคหัวใจโต ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย
การตั้งครรภ์ ทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เสี่ยงโรคหัวใจได้ เพราะช่วงเวลานี้ร่างกายของคุณแม่ค่อนข้างเข้าสู่สภาวะอ่อนแอจึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หรือผู้ป่วยมีลิ้นหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด รวมไปถึงการที่ผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ มีหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งภาวะหัวใจโตนั้นสามารถตรวจพบได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงวัยสูงอายุซึ่งพบมากกว่าวัยอื่น สาเหตุมาจากเมื่อวัยที่มากขึ้นคนเราจะพบว่า ร่างกายมีความเสื่อมของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์ต่างๆ และรวมถึงการที่สูงวัยขึ้นมักจะมีโรคประจำตัวร่วมหลายโรคอีกด้วย
2. โรคหัวใจโต ที่เกิดจากผลพวงของโรคอื่นๆ
แม้ว่าคนเราเกิดมาร่างกายแข็งแรง ไม่มีปัญหาหรือความเสี่ยงโรคหัวใจตั้งแต่เล็ก แต่หากมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เพิ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพ ก็สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจด้านอื่นๆ ได้จากการทำ EKG, X-ray และ Echo จากนั้นก็สามารถรักษาได้ผ่านการผ่าตัด หรือใช้ยาร่วมกับการดูแลตนเอง แต่ทั้งนี้ ก็อย่าเพิ่งวงใจว่าเรามีสุขภาพดี หากพบว่าคนในครอบครัว มีประวัติเป็นโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคหัวใจเรื้องรัง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเช็คร่างกายอยู่เสมอๆ
อาการของโรคหัวใจโต ที่เห็นได้ชัดเจนในทุกวัย
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโต ส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยแสดงอาการเท่าไร สมารถใช้ชีวิตประจำวันปกติ ออกกำลังกายหนักๆ ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่หัวใจเริ่มโตและทำงานผิดปกติ เราสามารถสังเกตอาการได้ง่ายๆ คือ รู้สึกหายใจลำบาก ลองหายใจลึกๆ แล้วไม่อิ่ม ทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือหายใจเร็ว บางคนก็มีรู้สึกวิงเวียนเวียนศีรษะ วูบๆ ร่วมด้วย อ่อนเพลียง่าย ใจสั่น และอีกอย่างที่สังเกตุง่ายๆ คือ เท้ามักบวมบริเวณเท้าตอนสายๆ ดังนั้นเวลานอนลองยกเท้าขึ้นสูงๆ สัก 2-3 นาที อีกอย่างคนที่ชอบไอเวลานอน เนื่องจากนอนราบไม่ได้เพราะแน่นหน้าอก ทั้งนี้แบ่งอาการของผู้ป่วยได้อีก 2 ประเภทคือ
1. โรคหัวใจโตเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวกว่าปกติ
ภาวะอาการแบบนี้ อาจไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากโรคเรื้อรัง หรือการทำงานหนัก และออกกำลังกายมากเกินไป แปลกใจไหมว่า ทำไมการออกกำลังกายสามารถทำให้คนเราเป็นโรคหัวใจได้หรือ ทั้งนี้ลองสังเกตคนที่ออกกำลังกายหนัก นักเพาะกาย นักยกน้ำหนัก จะมีกล้ามเนื้อใหญ่มาก และค่อยๆ ใหญ่ขึ้นตามวิธีออกกำลังกายและดูแลกล้ามเนื้อ ซึ่งกลับมีผลทให้เขาเสี่ยงต่อโรคหัวใจโตได้ เพราะ หัวใจของนักกีฬาเหล่านี้ล้วนทำงานหนัก ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวมากๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือลิ้นหัวใจตีบ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอันตราย อีกสาเหตุโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ มาจากการที่คนเราดื่มแอลกอฮอล์มากไป
2. โรคหัวใจโตจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง บีบตัวไม่ดีนัก
ลองจินตนาการถึงลูกโป่งเวลาใส่น้ำลงไปเรื่อยๆ ลูกโป่งจะค่อยๆ โตขึ้น หนักขึ้น หนังลูปโป่งบางลงๆ เช่นเดียวกับหัวใจของคนเรา เวลามีเลือดคั่งในห้องหัวใจจะค่อยๆ โตขึ้นๆ ซึ่งมีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจขาดเลือดหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อีกสาเหตุมาจากผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน เช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง: โรคหัวใจพิการแต่กําเนิด ลูกผนังกั้นหัวใจรั่ว แม่ใจสลายต้องยุติการตั้งครรภ์ทันที
วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจโต
หากยังไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ใช่ว่าจะไม่สามารถเป็นโรคหัวใจโตได้ ทั้งนี้การป้องกันโรคหัวใจคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคหัวใจ เช่นพวกโรคป่วยเรื้อรังอย่างที่กล่าวมาข้างต้น คือคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น ไม่ชอบออกกำลังกาย ชอบรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง รับประทานยาบางชนิดมากเกินไป ไม่ค่อยบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่ดี ไม่มีไขมัน
อีกทั้งหากภายในครอบครัวมีประวัติเสี่ยงความดัน เบาหวาน ตรงนี้ก็ต้องระวัง ดูแลสุขภาพให้ดี และหากแม้ว่า เป็นความดันโลหิตสูง ก็ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพราะหากอยู่ในการควบคุมโรคประจำตัวที่ดี ก็จะไม่เกิดโรคหัวใจโต แต่จำไว้อยู่อย่างหนึ่งว่าสำหรับโรคทางพันธุกรรมคงจะหลีกเลี่ยงยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางรักษาเลย และหมั่นตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ในกรณีที่ยังสุขภาพปกติ
กรณีไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรคหัวใจโต
การตรวจด้วยวิธีฉายรังสี จะบอกได้ว่าคุณมีอาการหัวใจโตหรือไม่ แต่ไม่สามารถหาสาเหตุของหัวใจโตได้ เรียกว่าเป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้นคุณต้องรู้ว่า ในชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงหรือไม่ ทั้งการรับประทานอาหารและการพักผ่อน รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรม
- การตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จะเป็นการวัดหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าว่าหัวใจเต้นผิดปกติหรือไม่ และกล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่ ตอบสนองคลื่นได้มากน้อยแค่ไหน
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่ของการเต้นของหัวใจ สามารถบอกได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือไม่ การบีบตัวของหัวใจเป็นอย่างไร อีกทั้งยังสามารถดูลิ้นหัวใจว่ามีรั่วไหม การไหลเวียนของเลือดในหัวใจแต่ละห้องเป็นเช่นไร และดูความแข็งแรงของเยื่อหุ้มหัวใจได้ด้วย
- การตรวจโรคหัวใจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สแกน
เป็นการตรวจโรคหัวใจเกือบทุกประเภทเพราะให้ความแม่นยำสูง สามารถแสดงรายละเอียดของหัวใจค่อนข้างมาก ว่าผู้ป่วยมีหัวใจเป็นไร แข็งแรงหรืออ่อน มีตรงไหนที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจต่างๆ
- การเจาะเลือดตรวจโรคหัวใจโต
เป็นการตรวจหาระดับสารต่างๆ ในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจหาโรคหัวใจโดยตรง แต่เป้นการตรวจหาปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหงาน ไขมันในเลือด รวมไปถึงการปริมาณยาในเลือดที่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนหากแพทย์สั่งยาที่มีอยู่ในเลือดมากเกินไป
เป็นการตรวจโดยใช้สายสวนขนาดเล็ก เข้าไปตามหลอดเลือดแดง บริเวณข้อพับ ขาหนีบ จุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดแพทย์จะใช้สารละลายทึบสีฉีดเข้าหลอดเลือด เพื่อดูว่า มีความตีบและแคบ หรือตันไหม วิธีนี้ค่อนข้างแม่นยำแต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะดูอาการ ความเสี่ยง ซึ่งจะใช้วิธีการตรวจโรคหัวใจที่แตกต่างกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกเป็นเนื้องอกหัวใจตั้งเเต่ 24 สัปดาห์ ต้องผ่าตัดหัวใจก่อนคลอด
การรักษาภาวะโรคหัวใจโต
การรักษาด้วยการดูแลตนเอง คือการชีวิตที่ดีอย่างมีสติขั้นพื้นฐาน เช่น รู้จักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดแอลกอฮอล์ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และแบ่งเวลาการทำงานกับการใช้ชีวิตให้สมดุล นอกจากนี้การรักษาโรคหัวใจโตกับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น แพทย์มักจะสั่งยาให้รับประทานเพื่อลดอาการและไม่ต้องผ่าตัด เช่น
- ยาขับปัสสาวะ วัตถุประสงค์คือ ต้องรับประทานยานี้เพื่อลดปริมาณโซเดียมและน้ำในร่างกาย ช่วยให้ระดับความดันในเส้นเลือดและหัวใจลดต่ำลง ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่า โรคหัวใจโตมักมีอาการบวมร่วมด้วย
- ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE (Angiotensin-Converting Enzyme) คือกลุ่มยาใช้สำหรับลดความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
- ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ARBs (Angiotensin Receptor Blockers) หรือยาปิดกั้นการทำงานของแองจิโอเทนซิน รีเซฟเตอร์ เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย และโรคไตวายเรื้อรัง ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE ได้
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เป็นกลุ่มยาที่ลดอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยลดระดับความดันโลหิต ยากลุ่มนี้ลดอัตราการเต้นของหัวใจแล้วทำให้ความดันเลือดต่ำลงได้ ข้อดีคือในคนที่ใจสั่น มือสั่น ซึ่งนอกจากจะลดความดันได้แล้ว ยังทำให้อาการสั่นลดลงด้วย
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากลุ่มนี้ค่อนข้างสำคัญสำหรับการไหลเวียนของเลือดในหัวใจ เพราะเป็นยาที่ใช้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดสมอง
- ยาต้านการเต้นหัวใจผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจโต มักจะมีการเต้นของหัวใจที่ไม่ปกติ และเกิดแบบไม่รู้เวลาแน่นอน ซึ่งยานี้แพทย์สั่งเพื่อช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยกลับเป็นปกติ
การรักษาโรคหัวใจโตด้วยการผ่าตัด
- ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าช่วยประสานการบีบตัวของหัวใจฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
- ใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัตินี้เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเป็นปกติ
- หากต้องผ่าตัดลิ้นหัวใจแพทย์จะทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจเพื่อซ่อมแซม หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- แพทย์อาจจะต้องผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจในภาวะหัวใจโตเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ใช้เครื่องช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในหัวใจห้องล่างซ้ายหรืออาจเรียกว่าหัวใจเทียม ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเพื่อรอการปลูกถ่ายหัวใจต่อไป
- ทางเลือกสุดท้ายคือ “ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ”ซึ่งผู้ป่วยผ่านการรักษาด้วยยาและวิธีอื่นๆ มาแล้วแต่ไม่สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ป่วยและโชคดีที่มีผู้บริจาคเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจโตในเด็ก หรือในผู้ใหญ่ ล้วนมีวิธีรักษาที่คล้ายกัน แต่ในเด็กอาจจะใช้วิธีบายพาส ทำบอลลูนหัวใจ หรือผ่าตัด ส่วนในวัยผู้ใหญ่ ควรดูแลสุขภาพร่างกายดี เช่น ควบคุมความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และโรคเบาหวาน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลให้หัวใจโตและหัวใจล้มเหลวตามมาได้
บทความที่น่าสนใจ
เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง เลือกคลอดแบบไหน ทารกในครรภ์ อันตรายหรือไม่ วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด
โรคที่จะตามมาเมื่อ แม่ท้องเสี่ยงความดันโลหิตสูง
ที่มา : petcharavejhospital , vejthani , pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!