ลูกมีพัฒนาการทางอารมณ์ตามวัยหรือไม่
การชิงดีชิงเด่นของเหล่าแม่ ๆ
อาจจะเรียกว่าเป็นการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการในหมู่คุณแม่ทั้งหลายก็ว่าได้ เพราะแม่ทุกคนกลัวที่สุดถ้าลูกตัวเองจะด้อยกว่าหรือมีพัฒนาการที่ช้ากว่าลูกคนอื่นในวัยเดียวกัน จนทําให้แม่บางคนพยายามผลักดันลูกตัวเองเกินกว่าวัย แม่ทุกคนตั้งความหวังไว้ว่าลูกตัวเองต้องฉลาดที่สุด เก่งที่สุด และมีพัฒนาการในทุกด้านได้เร็วกว่าเด็กคนอื่น โดยที่ไม่พยายามเข้าใจว่าการพัฒนาในทุก ๆ ด้านต้องเป็นไปตามวัย และถ้าลูกคุณยังทําไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอับอายขายหน้าหรือตระหนกตกใจจนเกินกว่าเหตุ
หน้าที่ที่สําคัญที่สุดของคนที่เป็นแม่ก็คือการให้ความรัก ความอบอุ่นอย่างเต็มที่ ให้เขามีสุขภาพที่ดี ให้เขารู้สึกว่าคุณพร้อมที่จะปกป้องเขาให้ปลอดภัย ไม่รู้สึกว่าโดนทอดทิ้งให้เขาได้เติบโตไปตามวัยในสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่
กระตุ้นและผลักดันพัฒนาการทางอารมณ์
คุณแม่สามารถทั้งการกระตุ้นและการผลักดัน ทั้ง 2 วิธีนี้มุ่งหวังให้ลูกของคุณมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีตามวัย ต่างวิธีก็ให้ผลที่ต่างกัน คุณแม่ควรเข้าใจในพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกตามวัย ส่งผลต่อการพัฒนาของเด็ก เราขอยกตัวอย่างให้คุณเห็นได้ชัดเจนว่าการกระตุ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ในเด็กนั้นแตกต่างกับการผลักดันอย่างไร
ตัวอย่างการกระตุ้นเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ตามวัย
- อ่านนิทานให้ลูกฟัง
- ร้องเพลงให้ลูกฟัง
- พูดคุยกับลูกในลักษณะที่เป็นการสื่อสารให้รู้ความหมายของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก
- แนะนําให้เด็กเรียนรู้สภาพแวดล้อมภายนอกโดยการพาไปตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสัตว์ สวนสาธารณะ
- ฝึกให้เด็กนอนคนเดียว
- ไม่ปกป้องเขาเหมือนไข่ในหิน ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าการหกล้มเจ็บอย่างไร ควรเดินอย่างไร จึงจะไม่หกล้มแล้วเจ็บอีก
- ให้เขาเข้าสังคมเด็กวัยเดียวกัน โดยคอยดูอยู่ห่าง ๆ
- ให้เขาได้ตัดสินใจเองบ้างในบางเรื่อง เช่นวันนี้เขาอยากใส่เสื้อตัวไหน สีอะไร
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นคือตัวอย่างของการกระตุ้นเพื่อให้มีพัฒนาการทางอารมณ์ตามวัย ซึ่งจะแตกต่างกันไปบ้างตามสภาวะความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว
คราวนี้เราลองมาดูกันว่าการผลักดันเด็กให้มีพัฒนาการทางอารมณ์ตามวัยมีอะไรบ้าง
- ให้เด็กเล่นของเล่นที่ไม่เหมาะกับวัยและไม่ช่วยในการพัฒนา เคี่ยวเข็ญให้เด็กเล่นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ผู้ใหญ่ต้องการ ซึ่งเด็กทําไม่ได้ นอกจากจะเป็นการบังคับจิตใจเด็กแล้ว ยังอาจทําให้เด็กเกิดความรู้สึกต่อต้านอยู่ในใจ
- เคี่ยวเข็ญอย่างหนักเกินกว่าวัยของเด็กจะรับได้ โดยให้ฝึกทักษะบางอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ
- ทําโทษเด็กที่ไม่สามารถทําได้
- เปรียบเทียบเขากับเด็กคนอื่น ทําให้เด็กรู้สึกด้อยค่า ขาดความมั่นใจและหมดกําลังใจ
- ติดสินบนเด็ก เช่นให้เงินหรือของเล่น เพื่อให้เขาทําให้ดีขึ้น
- สัญญาว่าจะมีรางวัลให้ถ้าทําได้
*2 ตัวอย่างสุดท้ายมีความใกล้เคียงกันมาก แต่จะมีผลเสียเหมือนกัน คือทําให้เด็กมองทุกอย่างในรูปผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เมื่อเด็กคิดว่าผลประโยชน์ที่จับต้องได้มีคุณค่ามากกว่าจิตใจและศักดิ์ศรี จะทําให้เด็กไม่พัฒนาตัวเองในทางที่ถูกต้องแต่จะเรียกร้องผลประโยชน์ทุกเรื่องที่ทํา
การกระตุ้นและการผลักดันจะทําให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกของตัวเองเป็นคนที่สังคมยอมรับ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี ดังนั้นความรัก ความอบอุ่นที่คุณพร้อมที่จะให้กับลูกวบคู่ไปกับความเข้าใจที่ถูกต้องด้านพัฒนาการทางอารมณ์ที่เหมาะสมตามวัยของเด็กจึงสําคัญมากที่จะทําให้ลูกของคุณประสบความสําเร็จเมื่อโตขึ้นและคุณย่อมมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกที่คุณได้เป็นพลังสําคัญที่ทําให้เขาเติบโตสมวัยอย่างมีคุณภาพ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!