ลูกเกลียดฉันหรือเปล่า?
อย่าถือโทษโกรธ
อาจจะพูดง่าย ทำยาก เพราะเรารู้ว่าคนเป็นพ่อแม่ย่อมเสียความรู้สึกเมื่อลูกน้อยที่เคยอ่อนหวานน่ารักกลับตะโกนใส่หน้าคุณว่า “เกลียดแม่” หรือ “แม่ใจร้าย” แต่จำไว้ว่า คุณเป็นผู้ใหญ่ และเขาเป็นเด็ก เขาไม่ได้เกลียดคุณจริง ๆ หรอกค่ะ เขาอาจจะคิดว่าคุณใจร้ายจริง ๆ เพราะคุณไม่ตามใจเขา แต่นั่นไม่ใช่ความใจร้าย มันคือการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องต่างหาก เด็ก ๆ แค่ยังแยกแยะความแตกต่างไม่ออกเท่านั้น
อันที่จริง เด็กในวัยนี้รักคุณมากกว่าอะไรในโลกเสียอีก พวกเขารู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับคุณ พวกเขาต้องการให้คุณสนใจ ต้องการเวลา และต้องการให้คุณอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลา
ทำไมลูกถึงใช้คำพูดรุนแรง?
สาเหตุที่เด็กใช้คำพูดรุนแรงต่าง ๆ นานา เพราะเขารู้ว่าไม่ว่าเขาจะพูดอะไร คุณก็จะยังรักเขาเหมือนเดิม ลูกของคุณไม่รู้วิธีรับมือกับความรู้สึกที่พวกเขากำลังเผชิญ พวกเขาก็เลยเหวี่ยงใส่สิ่งเดียว (นั่นก็คือคุณ) ซึ่งเขารู้ว่าจะไม่มีวันเหวี่ยงเขากลับ
อย่างไรก็ตาม คุณก็ไม่ควรปล่อยให้พวกเขาพูดจารุนแรงไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทำอะไร เพราะพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนปัญหาบางอย่าง คุณควรหาวิธีแก้ที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพราะวัยดังกล่าวเป็นช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาลักษณะนิสัย ทักษะการเข้าสังคมและการสื่อสาร การสอนให้เขารู้จักแสดงออกอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
หาสาเหตุ
ก่อนอื่นคุณต้องพยายามหาสาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวเล็กของคุณเครียด หงุดหงิดหรือโมโห สาเหตุมักมาจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (หรือหลาย ๆ อย่างรวมกัน) ดังต่อไปนี้:
- พักผ่อนไม่เพียงพอ ลูกเข้านอนเป็นเวลาหรือไม่? เขาได้นอนกลางวันหรือเปล่า? เขาหลับสนิทหรือไม่ หรือเขาฝันร้ายตลอดคืน?
- อาหาร เจ้าตัวเล็กกินอาหาร ได้รับสารอาหารที่สมดุลย์ทั้งโปรตีน ผักและผลไม้หรือไม่? เขาได้รับวิตามินและเกลือแร่ครบถ้วนหรือไม่? เด็กที่ได้รับน้ำตาลหรือคาเฟอีนมากเกินไปมักมีอารมณ์รุนแรงกว่าเด็กทั่วไป
- เขาเครียดกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่? เด็กอาจรู้สึกเครียดหากเขาไม่สามารถทำบางอย่าง เช่น ระบายสีให้อยู่ในกรอบ หรือตัดแปะกระดาษได้ และถูกกดดัน ความกดดันอาจนำไปสู่ความก้าวร้าว อย่าคาดหวังว่าลูกจะต้องทำทุกอย่างให้ได้ดั่งใจคุณ ลองปล่อย ๆ เขาบ้างและสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมดีขึ้นหรือไม่
- ลูกกำลังหวาดกลัวอะไรบางอย่างหรือไม่? มีการหย่าร้าง หรือความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่? เด็กในวัยนี้มักไม่รู้วิธีแสดงความกลัวเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว
- เขามีปัญหาด้านอารมณ์หรือสุขภาพที่คุณไม่รู้หรือไม่? เด็ก ๆ ที่มีปัญหาทางสายตาหรือทางการได้ยินมักแสดงออกอย่างก้าวร้าวเพราะรู้สึกเครียดกับภาวะด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกตำหนิหรือทำโทษที่ไม่ฟังหรือไม่ทำตามที่คุณบอก เขาอาจจะทำไม่ได้โดยที่คุณไม่รู้และเขาเองก็ไม่รู้จะบอกคุณอย่างไร ถ้าไม่แน่ใจ ลองพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
- ลูกกำลังเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า? ถ้าคุณไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก นี่อาจจะเป็นวิธีที่เขาใช้บอกคุณว่าเขาอยากได้เวลาและความสนใจจากคุณเท่านั้น
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว…
เมื่อคุณรู้สาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะ 1) แก้สถานการณ์ต้นเหตุ และ/หรือ 2) สอนให้ลูกรู้จักแสดงความรู้สึกอย่างถูกต้อง
สาเหตุอย่างการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการกินอาหารไม่ครบสามารถแก้ได้ง่าย ๆ โดยการให้ลูกเข้านอนให้เป็นเวลาหรือเปลี่ยนอาหาร
แต่ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความเครียดจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ความบกพร่องทางอารมณ์หรือกายภาพบางอย่าง คุณจำเป็นต้องให้คำแนะนำและช่วยฝึกฝนลูก ให้เวลากับเขา หากคุณต้องทิ้งบางอย่างเพื่อให้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น คุณก็อาจจำเป็นต้องทำ เพราะลูกคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของคุณ
หยุด, แนะ, ฝึก
หยุดพฤติกรรม: เมื่อลูกเหวี่ยงใส่คุณ คุณต้องดึงเขามากอดไว้ หรือนั่งใกล้ ๆ เขา จับมือและมองตาลูก คุณต้องอธิบายให้เขาฟังอย่างใจเย็นว่าคำพูดของลูกทำให้คุณเสียใจ บอกเขาว่าคุณจะไม่มีวันพูดอะไรแบบนั้นกับเขา และคนอื่น ๆ ก็ไม่พูดเช่นนั้นใส่กัน คุณต้องสอนให้ลูกรู้ว่าเขาทำร้ายจิตใจคุณและนั่นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ถามเขาว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่คุณบอกเขาหรือไม่
แนะนำ: หลังจากที่คุณสอนลูกว่าการกระทำของเขาไม่เหมาะสม คุณต้องสอนวิธีแสดงออกที่ถูกต้องให้แก่เขา เช่น “แม่รู้ว่าลูกอาจจะไม่อยากทำทุกอย่างตามที่แม่บอก แต่ลูกต้องบอกแม่ดี ๆ อย่าพูดว่า “เกลียดแม่” แต่ให้พูดว่า “หนูไม่ชอบ” หรือ “หนูโมโห” แทน
แน่นอนว่าครั้งต่อไป หากคุณได้ยินลูกพูดว่า “หนูโมโห” ฯลฯ คุณต้องหยุดคุยกับเขา ให้เวลาและโอกาสเพื่อให้ลูกได้อธิบายความรู้สึกและช่วยเขาแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง
ฝึกฝน: เมื่อคุณได้อธิบายและสอนการกระทำที่ถูกต้องให้กับลูกแล้ว คุณต้อง “ฝึก” ให้เขารู้จักผลของการกระทำ เช่น ให้นั่งสงบสติอารมณ์ 2-3 นาที, งดทำกิจกรรมที่เขาชอบ หรือที่ “แย่ที่สุด” คือให้เขาช่วยคุณทำงานบ้าน
จำไว้ว่าพฤติกรรมก้าวร้าวคือการเรียกร้องความสนใจและความช่วยเหลือรูปแบบหนึ่ง และคุณก็ไม่ควรมองข้ามมันไป
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!