สื่ออิเล็กทรอนิกทำเด็กพัฒนาการช้า
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาทีต่อวัน เทียบกับปี 2556 อ่าน 37 นาทีต่อวัน
แม้การอ่านเพิ่มขึ้น แต่มีประเด็นที่ไม่ควรละเลย คือ กลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งพบว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก ทำให้เด็กกลุ่มนี้ราว 101 ล้านคน เข้าไม่ถึงการอ่านหนังสือ ขณะที่เด็กเล็กกว่า 1 แสนคน ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิก โดยกรมอนามัยระบุถึงผลกระทบว่า เป็นสิ่งที่ทำให้พัฒนาการของเด็กล่าช้าสูงขึ้น ร้อยละ 23 โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญหา
ดังนั้น จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้พ่อแม่ช่วยกันเสริมสร้างพัฒนาการและสติปัญญาของเด็กเล็กในมากขึ้น สำหรับด้านภาษามีเครื่องมือง่ายที่สุด คือ การอ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน เนื่องจากหนังสือภาพสำหรับเด็กหรือนิทานที่มีคุณภาพ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยมากกว่าบทสนทนาตามธรรมชาติ
ในขณะที่ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2561 กรมสุขภาพจิตได้มีการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กไทยวัยเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พบว่า ระดับสติปัญญาเฉลี่ยเท่ากับ 94.73 ต่ำลงเกือบ 3 จุดเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี พ.ศ. 2559 (ระดับสติปัญญาเฉลี่ย 98.2) มาจากเด็กไทยมีต้นทุนต่ำทางพัฒนาการ
ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่าผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ได้ มีเพียงสติปัญญาดีหรือไอคิวดีเพียงอย่างเดียว พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ บุตรหลานมีทักษะด้านอื่นๆ ที่จะเป็นรากฐานของกระบวนการคิด ตัดสินใจและการกระทำ ที่มีส่วนช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต ซึ่งทักษะการคิดเพื่อความสำเร็จ ไม่ได้ติดตัวมา ตั้งแต่กำเนิด แต่ทุกคนมีศักยภาพที่จะฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ จากการที่เด็กเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น และกิจกรรรมที่สนุก
สื่ออิเล็กทรอนิกทำเด็กพัฒนาการช้า
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีพัฒนาการช้า
คุณพ่อคุณแม่ สามารถที่จะสังเกตพัฒนาการลูกจากตารางพัฒนาการตามวัยของเด็ก สำหรับวิธีการสังเกตพัฒนาการอย่างง่ายของเด็ก มีดังนี้ค่ะ
- เด็กอายุ 1-2 เดือน: ไม่ชอบตอบสนองต่อเสียง
- เด็กอายุ 6 เดือน:ไม่คว่ำ ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้
- เด็กอายุ 9 เดือน: ไม่นั่งเอง ไม่แสดงอารมณ์สนุก หรือเล่นกับคนใกล้ชิด
- เด็กอายุ 12 เดือน:ไม่สื่อสารด้วยท่าทาง ไม่สนใจคน
- เด็กอายุ 18 เดือน: ไม่เดิน ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ
- เด็กอายุ 2 ปี: ไม่รู้จักการเล่นของเล่น พูดเป็นคำๆ ได้น้อยกว่า 50 คำ
- เด็กอายุ 3 ปี: ภาษาที่เด็กพูด คนอื่นฟังไม่เข้าใจ ยังไม่พูดเป็นประโยค
- เด็กอายุ 4-5 ปี: ไม่เล่นเข้ากลุ่มกับเพื่อน เล่าเรื่องไม่ได้ แต่งตัวเองไม่ได้
สื่ออิเล็กทรอนิกทำเด็กพัฒนาการช้า
กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการลูก
Dr. Stanley Greenspan จิตแพทย์เด็กที่ทำงานด้านการส่งเสริมเด็กพัฒนาการล่าช้า ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมพฤติกรรมลูกที่บ้านอย่างง่าย 4 แนวทาง ได้แก่
1. ให้พ่อแม่เล่นกับลูก
การที่พ่อแม่เล่นกับลูก นอกจากจะเป็นช่วยฝึกพัฒนาการทางด้านภาษา การสื่อสาร การเสริมสร้างจินตนาการแล้ว แต่ยังเป็นการช่วยให้ลูกน้อยได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่อีก ทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ และเชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้นค่ะ สำหรับกิจกรรมที่อยากจะแนะนำก็คือ การเล่นขี่หลังพ่อ เพราะจะช่วยในการฝึกการทรงตัว การวิ่งเล่นจับ และเล่นซ่อนแอบ โดยระยะที่เล่นกับลูก ควรใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อวันค่ะ
2. ทักษะการใช้ชีวิต
พ่อแม่อาจให้ลูกน้อยทำกิจกรรมในชีวิตปีะจำวันอย่างง่าย เช่น ให้ลูกกินข้าวพร้อมพ่อแม่ อย่าปล่อยให้ลูกกินข้าวคนเดียวขณะดูจอมือถือ ฝึกลองใส่เสื้อผ้าเอง แปรงฟันด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งการช่วยกันทำงานบ้านง่ายๆ ค่ะ เพราะการที่พ่อแม่ชวนลูกลงมือทำกิจกรรมต่างๆ จะเป็นการให้ลูกน้อยได้ฝึกพัฒนาการครบทุกด้าน ตั้งแต่กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านภาษา สติปัญญา ด้านสังคม รวมถึงอารมณ์ด้วยค่ะ
3. ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย
เด็กเล็กควรส่งเสริมให้ได้ใช้ร่างกายอย่างเต็มที่ เพราะการที่เด็กเล่นกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกาย จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการฝึกพื้นฐานของสมอง หากเด็กมีการออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้น้องกลายเป็นเด็กที่มีความคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง มั่นใจในตัวเอง พูดคล่องขึ้น แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เรียนหนังสือได้เก่ง และมีสมาธิมากขึ้นค่ะ สำหรับกีฬา พ่อแม่อาจให้น้องได้เล่นประมาณ 1-2 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้วค่ะ แต่การเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ พ่อแม่ควรปล่อยให้น้องได้วิ่งเล่นอย่างน้อย 1 ชม.ต่อวัน
4. ปล่อยให้ลูกเล่นกับเพื่อนบ้าง
การเล่นกับเพื่อนถือว่าเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางสังคม และอารมณ์ผ่านการเล่นกับเพื่อนนั่นเอง อีกทั้งยังเป็นำารเพิ่มทักษะในเรื่องของการรอคอย การกำกับตัวเอง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงทักษะด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก การฟัง การโต้ตอบ และการวางแผน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, workpointnews, พญ. แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
พ่อแม่ต้องอ่าน! วิธี เลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ เลี้ยงลูกให้ฉลาด วิธีจากวิจัย!
วิจัยชี้! เด็กนอนน้อยเสี่ยงพัฒนาการช้า อารมณ์ร้าย ผลการเรียนตกต่ำ
ลูกชอบดิ้นตอนกลางคืน ลูกดิ้นกลางคืนบ่อยจนแม่ไม่ค่อยได้นอน เป็นเพราะอะไร?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!