ส่งเสริมและ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้ลูกช่วงขวบปีแรก
พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้ลูก
ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) สรุปได้ดังนี้
1. ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความสามารถในการผลิตสิ่งที่เป็นต้นแบบ แตกต่าง และเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์
2. ในระดับบุคคล คือ การใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของตัวเองในแบบที่แตกต่างไปจากเดิม
3. การนำความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การสร้างสรรค์ในสังคม คือ ความสามารถในการผลิตต้นแบบที่ไม่เหมือนคนอื่นทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ผลิตสิ่งของใหม่ งานศิลปะชิ้นใหม่ โครงการใหม่ ๆ ในสังคม ฯลฯ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นี้ สามารถสร้างได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก
ดร.วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญได้พูดถึงความคิดสร้างสรรค์กับเด็กไว้ว่า “เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์คุณพ่อคุณแม่ต้องเชื่อว่า เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว แม้ว่าอาจจะมีมากน้อยแตกต่างกันออกไป และอาจมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน แต่ถ้าไม่เชื่อว่าเด็กมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูก ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะความคิดสร้างสรรค์นั้น สามารถสร้างได้หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและมีคุณพ่อคุณแม่สนับสนุน”
ความคิดสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ กล่าวถึงประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์ที่มีต่อเด็ก ไว้ว่า การวางรากฐานการคิดสร้างสรรค์ในวัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในอนาคต การส่งเสริมกระบวนการคิดให้เด็กมีความคิดฉับไว สามารถเห็นและรับรู้ปัญหา สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ ๆ สร้างหรือแสดงความคิดเห็นใหม่ ๆ หรือปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้อย่างไรว่า ลูกเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์ และลูกจะได้รับประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์แล้ว
1. คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่า ลูกจะเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์ที่ชัดเจนมากขึ้น คือ เมื่อลูกเริ่มพูดได้ จะพบว่า เมื่อลูกมีความจำ “คำพูด” มากขึ้น เด็กจะเริ่มตั้งคำถาม “นั่นอะไร” “นี่อะไร” ทั้งวัน สาเหตุที่เด็กถามเพราะเขาอยากรู้ แปลว่า ก่อนที่เด็กจะถาม คงมีอะไรปรากฏในสมองของลูกก่อน หรือบางทีลูกอาจจะรู้แล้วแต่อยากรู้มากขึ้น
2. เมื่อลูกได้พบสิ่งใหม่ที่ไม่รู้จัก เด็กจะเทียบเคียงกับข้อมูลที่จำได้ในสมองของเขาถ้ามีอะไรคล้าย ๆ กัน เขาก็จะพยายามทำความเข้าใจ หาข้อมูลให้มากขึ้น จนได้ข้อสรุปว่ามันคืออะไร รู้แล้วจะเอาไปทำอะไร ถ้าสนใจก็จำเอาไว้ ถ้าไม่สนใจก็อาจลืมเลือนไป ทำให้ทราบว่า เด็กเริ่มมี “ความคิด” มาตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว
3. ในช่วงอายุ 7 ปีแรกเด็กยังไม่สามารถแยกแยะความจริง กับจินตนาการออกจากการกันได้ยาก เพราะประสบการณ์ และความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกยังมีไม่มากนัก ลองสังเกตเวลาที่เด็ก ๆ เล่น ก็จะเห็นว่า มีเด็กบางคน ชอบเล่าเรื่องกันเป็นตุเป็นตะ เหมือนเขาเชื่อจริง ๆ เมื่อผู้ใหญ่ไปฟังเรื่องที่เขาเล่า ก็คงว่าเด็ก “เพ้อฝัน” ซึ่งความจริงแล้ว ความเพ้อฝันแบบเด็ก ๆ เช่นนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของ ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนั่นเอง
อ่าน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกช่วงขวบปีแรก คลิก
ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกช่วงขวบปีแรก
ด้านประสาทสัมผัส
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ กล่าวถึง การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกในช่วงขวบปีแรกผ่านประสาทสัมผัส ดังนี้
1. สัมผัส เด็กทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยการฝึกฝนซ้ำ ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป พอเหมาะกับอายุของเด็ก ประตูสู่ความฉลาดของเด็ก ๆ คือ เริ่มตั้งแต่อุ้ม กอด ลูบไล้ผิวหนังของลูก เพื่อให้ลูกจดจำเราได้ว่า ตัวแม่อุ่น ร้อน ละเอียด หยาบ ชื้น แห้ง และแม่เองก็จะถ่ายทอดความรักของแม่ผ่านสัมผัสผิวหนังทั่วร่างกายของลูกเวลาที่กอด จูบ อาบน้ำ ให้นม แต่งตัว จากความจำเกี่ยวกับสัมผัสของแม่ ก็จะขยายไปที่คุณพ่อ คนอื่น ๆ รอบตัว ต่อไปก็จะจดจำคนรอบข้างได้หมด ซึ่งรวมถึงสิ่งของที่ลูกได้สัมผัสจะเกิดการจดจำ
2. ดมกลิ่น การจดจำกลิ่นต่าง ๆ ได้รอบตัวตั้งแต่เกิด เริ่มจาก กลิ่นของแม่ กลิ่นนม กลิ่นอาหาร พ่อแม่ต้องส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสฝึกสัมผัสด้วยการดมกลิ่น
3. ปากและลิ้น เด็กทุกคนมักใช้ปากสัมผัสลิ้มรส ด้วยการอม กัด เคี้ยว คายอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าเป็นของใหม่ที่ลูกไม่เคยรู้จัก คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพฤติกรรมของเด็กที่ชอบหยิบของต่าง ๆ เข้าปากเพื่อจะกัด เลีย และลองเคี้ยวเพื่อรับรส เพื่อเติมเต็มความรู้ของตัวเองให้จดจำและรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน เปิดโอกาสให้เด็กลิ้มรสของสิ่งรอบตัว เริ่มจากอาหารที่หลากหลาย ผัก ผลไม้นานาชนิด ของใช้ในบ้านที่ปลอดภัย ซึ่งจะเพิ่มความจำ ความรู้ความเข้าใจของสิ่งที่ยากขึ้น ๆ
4. อารมณ์และความรู้สึก ที่ได้รับจากสิ่งรอบข้าง เป็นสิ่งกระตุ้นให้จดจำทั้งในด้านบวก ลบ ชอบ ไม่ชอบ สนุก น่าเบื่อ บ้านที่ไม่สงบสุข ก็ไม่เกิดบรรยากาศของการอยากเรียนรู้ ถ้าบังคับเด็กมากเกินไป หรือทำโทษ ดุด่าว่ากล่าวบ่อย ๆ ด้วยอารมณ์โกรธที่เด็กไม่ทำตาม ก็จะยิ่งทำให้เด็กไม่อยากเรียนรู้เพราะขาดความสุขสงบในใจ
คุณหมอฝากบอก : การให้เด็กได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวผ่านประสาทสัมผัส ต้องควบคู่กับสิ่งที่บำรุงสมองคือ อาหารครบทุกหมู่ น้ำสะอาดดื่มบ่อย ๆ นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เต็มที่ตามวัย และประสบการณ์ผ่านการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ
ด้านการเรียนรู้
ดร.วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญ ได้แนะนำ เทคนิคการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้านการเรียนรู้ให้ลูกในช่วงขวบปีแรก ดังนี้
1. การตั้งคำถามฝึกคิด กระตุ้นจินตนาการ ลูกในวัย 1 ขวบ เริ่มพูดและสื่อสารกับพ่อแม่และคนในครอบครัวได้บ้างแล้ว หากในช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูก ตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูก เช่น “หนูเห็นอะไร” “หนูรู้สึกอย่างไร” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองคิด ฝึกสังเกต สำรวจ รวมถึงลองฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะพาลูกไปเดินเล่นรอบ ๆ บ้านหรือในสวนใกล้บ้าน ชวนลูกสำรวจต้นไม้ สิ่งต่าง ๆ รอบตัว แล้วถามในสิ่งที่เห็นว่าลูกสนใจ เช่น ใบไม้สีอะไร กลิ่นของดอกไม้เป็นอย่างไร หอมหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้อ่านหนังสือนิทานกับลูก ให้ถามคำถามเพื่อต่อยอดความคิดให้แก่ลูก ถามลูกถึงตัวละครในนิทาน ถามความคิดเห็นของลูกที่มีต่อตัวละคร เป็นต้น โดยใช้คำถามง่าย ๆ การกระทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูกน้อยได้อย่างดี
2. เล่นอย่างอิสระ (Free Play) เด็กได้เลือกเล่นอย่างอิสระ เต็มใจ เด็กจะรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน ของเล่น เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อ ที่สามารถเล่นได้หลายรูปแบบ รวมถึงการนำสิ่งของรอบตัวมาเล่นสนุกจะทำให้เด็กเกิดจินตนาการสร้างสรรค์การเล่นด้วยตนเอง
3. การสร้างบรรยากาศ คุณพ่อคุณแม่ คือ คนสำคัญที่จะช่วยสร้างบรรยากาศของการสนุกคิด รวมถึงนิสัยอยากรู้อยากเห็นอยากเรียนรู้ของลูก เช่น การพาลูกออกไปเจอสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน เป็นสถานที่ใหม่ ๆ ที่กระตุ้นการเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ ฯลฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้อย รู้สึกตื่นเต้น และอยากค้นหา คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสนใจและตอบคำถามเมื่อลูกสงสัยโดยไม่เบื่อที่จะตอบ จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูกได้
จะเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์ของลูกจะได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญ ลูกได้เรียนรู้โดยการกระตุ้นให้ชวนคิด ชวนสงสัย ทำให้สมองเกิดการพัฒนานำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านความคิดและต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.bpafreebabyshop.com
https://taamkru.com/th
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ของเล่นเสริมความคิดสร้างสรรค์
กระตุ้นลูกให้มีความคิดสร้างสรรค์
Finding Nemo การ์ตูนที่ให้ความสนุกพร้อมกับข้อคิด สอนลูกไปพร้อม ๆ กับการ์ตูน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!