คนท้องเป็นตะคริวบ่อย คืออาการที่เกิดขึ้นได้กับว่าที่คุณแม่หลายท่าน โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ถึงปลายไตรมาสที่ 3 ค่ะ อาการเกร็งและปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอาจทำให้ไม่สบายตัว นอนไม่หลับ ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจ อย่างไรก็ตาม หากเข้าใจสาเหตุและวิธีดูแลที่ถูกต้อง ก็สามารถบรรเทาอาการและป้องกัน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่สบายขึ้นและมีความสุขมากขึ้นได้
คนท้องเป็นตะคริวบ่อย มีสาเหตุจากอะไรบ้าง
ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจเริ่มเป็นตะคริวที่น่อง ขา และเท้า ทำให้ตกใจตื่นกลางดึกบ่อยๆ จะว่าไปแล้วอาการคนท้องเป็นตะคริวนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ และมักหายได้เองในช่วงเวลาสั้นๆ โดยไม่ส่งผลต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยสาเหตุคนท้องเป็นตะคริว ที่พบบ่อย ได้แก่
เมื่อลูกน้อยในครรภ์เติบโตขึ้น มดลูกที่ขยายตัวอาจไปกดทับหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณขาและน่องเกิดตะคริวได้ง่าย
การนั่งหรือนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน รวมถึงมดลูกที่ขยายไปกดทับเส้นเลือด อาจทำให้กล้ามเนื้อขาดออกซิเจนจนเกิดตะคริว
-
ภาวะขาดน้ำและความไม่สมดุลของเกลือแร่
ระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายต้องการแคลเซียมและแมกนีเซียมเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนากระดูกและฟันของทารก หากคุณแม่ได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอ อาจทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งจนเกิดตะคริวได้
-
กล้ามเนื้อฝืดและไม่ยืดหยุ่น
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนร่วมกับน้ำหนักตัวคนท้องที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้กล้ามเนื้อล้าและสูญเสียความยืดหยุ่น จนทำให้คนท้องเป็นตะคริวได้
-
การคั่งของของเหลว (Edema)
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการบวมน้ำบริเวณขา ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดและทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวง่ายขึ้น
เช่น การสะสมของกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ ความเหนื่อยล้า หรือภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนท้องเป็นตะคริวได้

คนท้องเป็นตะคริว อาการและวิธีบรรเทา
อาการตะคริวในคนท้องอาจเกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ เช่น
- ตะคริวที่น่องและเท้า มักเกิดขึ้นตอนกลางคืนหรือขณะเปลี่ยนท่านั่ง เดิน หรือไอ
- ตะคริวที่ต้นขา อาจเกิดจากการยืนนาน ๆ หรือการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว
- ตะคริวที่ท้อง เกิดจากมดลูกที่ขยายตัว หรืออาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อน
อาการตะคริวมักเริ่มจากความรู้สึกตึงหรือเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาจรุนแรงจนทำให้เจ็บปวดได้ แม้ว่าตะคริวจะเป็นภาวะปกติของการตั้งครรภ์ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีดูแลที่เหมาะสม
คนท้องเป็นตะคริวบ่อย แค่ไหนไม่ปกติ
ตะคริวในคนท้องเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม หากคนท้องเป็นตะคริว ที่ท้องบ่อยๆ ร่วมกับอาการอื่น เช่น ปวดท้องมาก เลือดออก หรือเวียนศีรษะ อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่เหมาะสม
ปกติแล้วตะคริวจะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่หากไม่หายไปเอง อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติอื่น เช่น เส้นเลือดขอด และลิ่มเลือดอุดตันจากแรงกดทับที่หลอดเลือดดำบริเวณขา หากรู้สึกว่าตนเองมีอาการตะคริวครั้งละนานๆ ไม่ค่อยหาย จึงควรพบแพทย์เพื่อหาทางรักษา ก่อนส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
คนท้องเป็นตะคริวบ่อย แก้ยังไง
คนท้องมักเป็นตะคริวที่น่อง ขา และท้อง ซึ่งแต่ละบริเวณก็มีวิธีรับมือต่างกัน
- คนท้องเป็นตะคริวที่น่อง เมื่อมีอาการ ให้พยายามเหยียดขาข้างที่เป็นตะคริวให้สุด อาจให้สามี หรือคนใกล้ตัว ช่วยใช้มือประคองส้นเท้าข้างที่เป็นแล้วดันปลายเท้าขึ้นลงช้าๆ และนวดที่น่องเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
หากอยู่คนเดียวขณะเป็นตะคริว หลังจากเหยียดขาออกไปให้ตรงแล้ว กระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ประมาณ 20–30 วินาทีโดยไม่เกร็งนิ้วเท้า เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและรู้สึกเจ็บมากขึ้น อาการตะคริวจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง
- คนท้องเป็นตะคริวที่ท้อง ไม่ควรนวดที่ท้องโดยตรง คุณแม่ตั้งครรภ์อาจค่อยๆ ขยับเปลี่ยนอิริยาบถในท่าที่สบายขึ้น พร้อมหายใจเข้าออกช้าๆ หากไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์
ทำไม คนท้องเป็นตะคริวบ่อย ช่วงกลางดึก
เรามักพบว่าคนท้องเป็นตะคริวช่วงกลางดึกบ่อยๆ ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งสาเหตุที่คนท้องมักเป็นตะคริวในช่วงกลางคืน หรือใกล้เช้า เพราะเวลาดังกล่าวมีอากาศค่อนข้างเย็น และมีเลือดคั่งบริเวณน่องมากขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและเป็นตะคริว
ในกรณีที่เป็นตะคริวกลางดึกบ่อยๆ แนะนำให้แช่เท้าในน้ำอุ่น หรือนวดขาเบาๆ ก่อนนอน รวมทั้งใส่ถุงเท้าเพื่อให้ขาอบอุ่น ลดอาการตะคริวที่เกิดจากอากาศเย็น นอกจากนี้ การเปลี่ยนท่านอนเป็นนอนตะแคงข้างซ้าย ก็จะข่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดโอกาสเกิดตะคริวในเวลานอน

ตะคริวคนท้อง ป้องกันได้ใน 5 วิธี
ตะคริวขณะตั้งครรภ์อาจเป็นอาการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถลดความถี่และความรุนแรงลงได้ หากคุณแม่ดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือการออกกำลังกายเบาๆ ต่อไปนี้เป็นวิธีที่อาจช่วยป้องกันคนท้องเป็นตะคริวได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
- ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ
การยืดกล้ามเนื้อช่วยลดอาการตะคริวและป้องกันการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่องและเท้า คุณแม่สามารถนั่งเหยียดขาตรง กระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 20–30 วินาที และทำสลับกันเป็นประจำ นอกจากนี้ การบริหารร่างกายก่อนนอน เช่น ยืนยืดขากับกำแพง ดันสะโพกไปด้านหน้า และหายใจเข้าลึก ๆ ค้างไว้ 30 วินาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและลดโอกาสเกิดตะคริว
- ขยับร่างกายและเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
การนั่งหรือยืนนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและเกิดตะคริวได้ง่าย คุณแม่จึงควรลุกเดินทุก 1–2 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง และออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน โยคะ หรือว่ายน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ภาวะขาดน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนท้องเป็นตะคริว คุณแม่จึงควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6–8 แก้ว (แก้วละ 240 มิลลิลิตร) เพื่อช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ลำเลียงสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและแมกนีเซียม
แคลเซียมและแมกนีเซียมมีส่วนช่วยลดอาการตะคริว และยังช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ อาหารที่อุดมแคลเซียม ได้แก่ นม ปลาเล็กปลาน้อย และเต้าหู้ ส่วนแมกนีเซียมพบมากในถั่ว ธัญพืช และผักใบเขียว
- เลือกสวมรองเท้าและถุงน่องให้เหมาะสม
การสวมถุงน่องซัพพอร์ตช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการบวมและป้องกันตะคริว ลดเส้นเลือดขอด แม่ท้องควรเลือกรองเท้าที่พอดีกับเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป รองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ หลีกเลี่ยงรองเท้าที่ไม่มีสายรัดด้านหลัง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสะดุดล้ม
สุดท้ายแล้วการดูแลร่างกายอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดโอกาสแม่ท้องเป็นตะคริว และทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกสบายตัว นอนหลับได้ดีขึ้น พร้อมดูแลลูกน้อยในครรภ์อย่างมีความสุขค่ะ
ที่มา: โรงพยาบาลบางปะกอก, Pobpad
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!