ไม่ได้จดทะเบียน ก็ถือเป็นคู่สมรส มีผลทางกฎหมาย ถ้าอยู่ใน 3 เกณฑ์นี้! ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ปรับเกณฑ์ อยู่กินฉันสามีภริยา แม้ไม่ได้จดทะเบียน แต่มี 3 พฤติการณ์หลัก ต่อไปนี้ให้ถือเป็นคู่สมรส เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีการทุจริตของเจ้าพนักงานของรัฐ
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ลงนามโดย นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561
ทั้งนี้ เพื่อให้การประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรสดังกล่าว สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567
ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568” ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 3 บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันคู่สมรสโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นคู่สมรสตามมาตรา102 วรรคสอง และมาตรา 126 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
1.ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นคู่สมรสกันตามประเพณี
2.เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมา ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นคู่สมรสกัน”

สำหรับคู่สมรสที่ อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียน จะมีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน หรือที่เรียกว่า “กรรมสิทธิ์รวม” อย่างไรบ้าง
ความหมายของ “กรรมสิทธิ์รวม”
“กรรมสิทธิ์รวม” หมายถึง สิทธิในทรัพย์สินที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินนั้นๆ โดยมีส่วนแบ่งเท่าๆ กัน ในกรณีของคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส กฎหมายไทย (มาตรา 1453/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ให้การรับรองสิทธิในทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน โดยถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งคู่ แม้ว่าทรัพย์สินนั้นจะจดทะเบียนเป็นชื่อของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวก็ตาม
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา “กรรมสิทธิ์รวม”
- ต้องอยู่กินฉันสามีภรรยา ต้องมีพฤติการณ์แสดงออกถึงการอยู่กินฉันสามีภรรยาอย่างเปิดเผย เช่น การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การแนะนำตัวต่อสังคมว่าเป็นสามีภรรยากัน
- ต้องทำมาหาได้ร่วมกัน ทรัพย์สินนั้นต้องเกิดจากความพยายามร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันทำงานหาเงินโดยตรง หรือฝ่ายหนึ่งทำงานนอกบ้าน อีกฝ่ายดูแลบ้านและครอบครัว
- ต้องมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน ต้องมีหลักฐานบ่งชี้ว่าทั้งคู่มีเจตนาที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นร่วมกัน

ตัวอย่างทรัพย์สินที่ถือเป็น “กรรมสิทธิ์รวม”
- เงินเดือน เงินเดือนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับระหว่างการอยู่กินร่วมกัน
- ผลกำไรจากธุรกิจ ผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน
- อสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่ซื้อระหว่างการอยู่กินร่วมกัน
- ทรัพย์สินอื่นๆ รถยนต์ เครื่องประดับ เงินฝากธนาคาร
ตัวอย่างทรัพย์สินที่ “ไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์รวม”
- ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยลำพัง เช่น มรดก ของขวัญ เงินที่ได้จากการชนะคดีความ
- ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนการอยู่กินฉันสามีภรรยา
สิทธิของคู่สมรสใน “กรรมสิทธิ์รวม”
- คู่สมรสแต่ละฝ่ายมีสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์รวม คนละกึ่งหนึ่ง
- สามารถตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเองได้
- หากตกลงกันไม่ได้ สามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอแบ่งทรัพย์สินได้
อย่างไรก็ตามการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินใดเป็นกรรมสิทธิ์รวมจากการ อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียน อาจมีความยุ่งยากซับซ้อน ควรมีการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างทรัพย์สินการปรึกษาทนายความผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้เข้าใจสิทธิของตนเอง และวางแผนการจัดการทรัพย์สินได้อย่างถูกต้อง
ที่มา : thethaiger , scb
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ผัวเมียไม่ได้จดทะเบียน เลิกกัน! ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลูกเป็นสิทธิ์ของใคร
ทะเบียนสมรส กอดไว้ให้เเน่น VS รู้อย่างนี้คงไม่จด
12 ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส ข้อดีของทะเบียนสมรสที่เมียถูกกฎหมายต้องรู้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!