อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด อาจจำเป็นต้องนับอายุจริง อายุปรับ อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นเกณฑ์ในการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม มาดูวิธีนับอายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนดกันค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การที่ลูกน้อยเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด มักเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่อยู่พอสมควรค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องของพัฒนาการ ที่อาจมีความแตกต่างจากทารกที่คลอดตามกำหนดปกติ รวมถึงความสงสัยที่เกี่ยวข้องกับ “อายุ” ของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดด้วยว่า ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย? แล้ว อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? ซึ่งเราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจเรื่อง “อายุปรับ” และ “อายุจริง” ความสำคัญของการปรับอายุในเด็กคลอดก่อนกำหนด วิธีการนับอายุที่ถูกต้อง รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลและติดตามพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างเหมาะสมและมั่นใจค่ะ

ทารกคลอดก่อนกำหนด หมายถึงอะไร?

การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง การคลอดทารกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ค่ะ โดยทารกกลุ่มนี้จะมีอวัยวะต่างๆ ครบถ้วน แต่พัฒนาการของอวัยวะเหล่านั้นจะยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดปัญหาหรือมีภาวะเจ็บป่วยภายหลังการคลอดตามมาได้ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย ทำให้เป็นเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และมักต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด และภาวะเจ็บป่วยที่พบหลังคลอดค่ะ

ภาวะเจ็บป่วยที่พบบ่อยกรณี ลูกคลอดก่อนกำหนด

ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • การขาดสารลดแรงตึงผิว ที่จะเคลือบอยู่ในถุงลมของปอด ช่วยให้ปอดขยายตัวได้ดี ทำให้ถุงลมแฟบ ทารกหายใจหอบและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • การหยุดหายใจ เพราะศูนย์ควบคุมการหายใจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทารกจะมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ
  • ความไม่สมบูรณ์ของปอด ทำให้ทารกต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน รวมทั้งมีการอักเสบ ติดเชื้อได้ง่าย ทำให้มีโอกาสเป็นโรคปอดเรื้อรังตามมา
โรคหัวใจ
  • ปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ (PDA) ในทารกปกติ เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจไปเลี้ยงร่างกาย กับเส้นเลือดที่ไปสู่ปอด จะหดตัวและตีบตันไป แต่ในทารกคลอดก่อนกำหนด เส้นเลือดนี้จะไม่หดตัว จึงมีเลือดจากหัวใจไปสู่ปอดมาก จนหายใจหอบและมีภาวะหัวใจล้มเหลว
ระบบทางเดินอาหาร
  • ลำไส้อักเสบ / ลำไส้เน่า เพราะการย่อยและการดูดซึมของลำไส้ยังไม่สมบูรณ์ดี ทารกต้องได้รับนมทีละน้อย บางคนจำเป็นต้องใส่สายเข้าสู่เส้นเลือดดำใหญ่เพื่อให้อาหาร เกิดการติดเชื้อในลำไส้อย่างรุนแรงจนทำให้ลำไส้เน่า
กรดไหลย้อน (GERD)
  • หูรูดของรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะของทารกเกิดก่อนกำหนดยังทำงานไม่สมบูรณ์ จึงมีโอกาสเกิดภาวะนมและกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา อาจมีอาการหยุดหายใจ เขียวคล้ำเป็นระยะๆ
ปัญหาเกี่ยวกับไต

 

  • ทารกที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง อาจได้รับยาขับปัสสาวะเป็นเวลานาน มีผลให้เกิดการสะสมของแคลเซียม และเป็นนิ่วในไตได้
ด้านสมอง
  • ทารกมีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ เพราะเส้นเลือดเปราะแตกง่าย ยิ่งอายุครรภ์และน้ำหนักแรกเกิดน้อยยิ่งมีความเสี่ยงสูง

 

ทั้งนี้ นอกจากปัญหาและโรคต่างๆ ข้างต้น เด็กที่คลอดก่อนกำหนดยังอาจพบเจอกับภาวะติดเชื้อง่ายและรุนแรง เพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ อาจมีภาวะตัวเหลือง ซีด มีปัญหาทางสายตาและการมองเห็น การได้ยิน และปัญหาด้านการเจริญเติบโต และพัฒนาการ

เนื่องจาก ทารกเกิดก่อนกำหนด จะมีน้ำหนักน้อยตั้งแต่แรกเกิด ทั้งยังมีภาวะเจ็บป่วยหลายอย่าง ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการอาจช้ากว่าเด็กปกติ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องติดตามการเจริญเติบโต การมองเห็น การได้ยิน และพัฒนาการในทุกๆ ด้านของลูกน้อยในระยะยาวด้วย

ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย?

เด็กที่คลอดก่อนกำหนด (Preterm) และเด็กที่คลอดตามกำหนด (Full Term) จะมีความแตกต่างกันในเรื่องพัฒนาการ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรก เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด ทารกต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมภายนอกครรภ์เร็วกว่ากำหนด ทำให้พัฒนาการบางอย่างอาจล่าช้ากว่าเด็กที่คลอดตามปกติได้ ดังนั้น การปรับอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ในการประเมินพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนด ดังนี้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • ประเมินพัฒนาการอย่างแม่นยำ การใช้ “อายุจริง” อาจทำให้เข้าใจผิดว่าทารกมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ “อายุปรับ” จึงช่วยให้ประเมินพัฒนาการได้อย่างเหมาะสม
  • วางแผนการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการ การรู้อายุที่ปรับแก้ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผนกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนดได้
  • ลดความกังวล การใช้อายุปรับสามารถบรรเทาความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เมื่อต้องเปรียบเทียบพัฒนาการของลูกกับเด็กคนอื่นๆ ได้

 

อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง?

ก่อนจะไปดูว่า อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? มาทำความเข้าใจนิยามของ “อายุจริง” และ “อายุปรับ” กันก่อนดังนี้ค่ะ

  • อายุจริง (Chronological Age) คือ อายุที่นับจากวันที่ทารกเกิด
  • อายุปรับ (Corrected Age) คือ อายุที่คำนวณจากการนำอายุจริงมาปรับ โดยคำนึงถึง “จำนวนสัปดาห์” ที่ทารกคลอดก่อนกำหนด

ซึ่งวิธีการคำนวณอายุปรับ มีดังต่อไปนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. คำนวณจำนวนสัปดาห์ที่คลอดก่อนกำหนด โดยการนำจำนวน 40 สัปดาห์ (อายุครรภ์ตามกำหนด) ลบด้วยอายุครรภ์ของทารกขณะคลอด
  2. คำนวณอายุที่ปรับแก้ ด้วยการนำอายุจริงของทารก (เป็นสัปดาห์หรือเดือน) ลบด้วยจำนวนสัปดาห์ที่คลอดก่อนกำหนด

 

ตัวอย่างการคำนวณอายุปรับ

  • ลูกน้อยที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ แสดงว่า คลอดก่อนกำหนด 8 สัปดาห์
  • เมื่อ อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด คือ 4 เดือน (16 สัปดาห์) อายุปรับคือ 2 เดือน (16 – 8 = 8)

 

ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะปรับอายุเด็กคลอดก่อนกำหนดจนถึงอายุ 2 ขวบ และตามธรรมชาติแล้วเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการแตกต่างกัน การใช้อายุที่ปรับแก้เป็นเพียงแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยอย่างเหมาะสมเท่านั้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เตรียมพร้อมยังไงไม่ให้พลาด! อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด

ถ้ากรณีลูกน้อยของคุณแม่เป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด วันสำคัญ 2 วัน ที่ต้องจดลงปฏิทินกันลืมก็คือ

  1. วันที่ลูกเกิดจริงๆ
  2. วันที่คุณหมอคาดการณ์ไว้ว่าจะครบกำหนดคลอด

ซึ่งหากต้องการเช็กพัฒนาการของลูกน้อย เช่น พัฒนาการอะไรที่ “ปกติ” สมวัยกับ “อายุ” ของลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคิดถึง 2 วันข้างต้นด้วย เนื่องจากการเปรียบเทียบวันดังกล่าวจะช่วยให้สามารถปรับอายุตามจริงของลูกเพื่อให้เหมาะสมและคำนวณอายุปรับ อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด ได้

ทั้งนี้ จากตัวอย่างการคำนวณอายุปรับ แม้ว่าลูกน้อยจะมีอายุ 4 เดือนแล้ว แต่คุณแม่ควรคาดหวังพัฒนาการลูกเหมือนเด็กที่คลอดตามกำหนดที่มีอายุ 2 เดือนได้ค่ะ การคาดหวังว่าลูกจะพลิกตัวจากคว่ำเป็นหงายได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กปกติในวัย 4 เดือน อาจจะเร็วเกินไปค่ะ

วิธีดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี

มีการศึกษาพบว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 15-25 เมื่อเติบโตสู่วัยเรียนจะมีปัญหาการเรียนรู้ จากภาวะสมาธิสั้น ได้แก่ขาดการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้มีลักษณะอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่อยู่นิ่ง เวลาที่พูดด้วยจะไม่ตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ ขาดความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังอาจมีกลุ่มอาการออทิสติก คือ มีปัญหาทางระบบประสาททำงานซับซ้อน เช่น การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ทักษะการสื่อสารด้อยกว่าเด็กที่คลอดปกติ มีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ รวมทั้งมีภาวะทางอารมณ์ (mood disorders) เปลี่ยนแปลงไปมาง่ายด้วย ซึ่งวิธีดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดให้แข็งแรงตั้งแต่หลังคลอด เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี คือ

  • ควรจัดสถานที่สภาพแวดล้อมสะอาดโปร่งไม่อับ มีอากาศถ่ายเทสะดวก พ้นจากเสียงรบกวนต่างๆ
  • ให้นมลูกบ่อยๆ เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีอาการอยากนอนอยู่ตลอดเวลาคุณแม่จึงควรปลุกให้ลูกดูดนมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่อย่างเต็มที่
  • ระบบการย่อยและการดูดซึมของทารกยังไม่สมบูรณ์ เมื่อกินนมแม่เสร็จควรดูแลลูกน้อยไม่ให้สำรอกนมหรือแหวะนมโดยการจัดท่าให้ลูกน้อยเรอออกได้ง่ายๆช่วยลดอาการท้องอืดได้ด้วย
  • ดูแลให้ลูกอบอุ่นอยู่เสมอเพราะลูกจะมีภาวะตัวเย็นง่ายมีผลทำให้ไม่สบายบ่อย หากลูกน้อยมีอาการตัวร้อน มีน้ำมูก หรือเสมหะ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลนะคะ
  • กระตุ้นพัฒนาการของลูกโดยการเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ หรือแขวนโมบายล์ที่มีเสียงไว้ให้ลูกมองหรืออยากเอื้อมคว้า
  • ไม่ควรพาลูกไปในที่ที่มีผู้คนแออัดอากาศถ่ายเทสะดวก และก่อนสัมผัสหรืออุ้มลูก คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รวมทั้งรักษาความสะอาดสิ่งของต่างๆ ด้วย เพราะเชื้อโรคต่างๆ อาจแฝงมากับของเยี่ยมที่ญาตินำมาเยี่ยม ไม่ควรนำมาไว้ในห้องเดียวกับที่ลูกอยู่
  • หากลูกมีอาการถ่ายเหลวถ่ายเป็นมูกหรือมีความผิดปกติทางด้านผิวหนัง ลูกไม่ยอมดูดนม ควรพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง และเมื่อครบกำหนดตรวจสุขภาพควรพาลูกไปพบแพทย์ให้ตรงเวลาและสม่ำเสมอ
  • คุณพ่อคุณแม่ควรบอกกล่าวกับญาติหรือคนที่จะมาเยี่ยมลูกหรืออยากอุ้มลูก ว่าลูกของคุณแม่ไม่เหมือนกับเด็กที่คลอดตามกำหนด อาจได้รับเชื้อจากผู้ที่มาเยี่ยมได้ง่ายเพราะยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีค่ะ

 

 

ที่มา : www.healthychildren.org , www.phyathai.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์

ลูกนอนผวา ร้องไห้ เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจ และรับมืออย่างเหมาะสม

ฝึกลูกกล่อมตัวเอง หลับง่ายใน 5 ขั้นตอน วิธีฝึกลูกนอนยาวอย่างได้ผล

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความโดย

จันทนา ชัยมี