ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า การ Time out ไม่ใช่การขังในห้องน้ำ ห้องนอน หรือห้องสำนึกผิดใด ๆ เพียงลำพัง เพราะหลักการของ time out คือ การให้เด็กได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของการ time out คือ พฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ยอมรับ เป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และกรณีที่มีอารมณ์โกรธ มีการโวยวาย จะได้สงบสติอารมณ์ได้ด้วยตนเอง โดยให้สงบอยู่นานเป็นนาทีเท่าจำนวนอายุ เช่น อายุ 5 ปี ให้สงบนาน 5 นาที หากยังโวยวายก็จะยังไม่นับเวลา เมื่อสงบแล้วค่อยคุยกันต่อ การให้เด็กอยู่ตามลำพังในห้อง อาจทำให้เด็กเบี่ยงเบนไปเล่นสนุกสนาน ไม่เกิดการสำนึกผิด หรือบางคนอาจกลัว กังวล ซึ่งผิดหลักการของการทำให้จิตใจสงบ นอกจากนี้กุศโลบายที่ซ่อนอยู่ใน Time out คือพ่อแม่เองก็ได้ สงบสติอารมณ์ด้วย จะได้มีสติในการจัดการพฤติกรรมเด็กได้ดีขึ้น
ส่วนการทำ Time in คือการแยกเด็กออกมาจากจุดเกิดเหตุ เช่นเดียวกับ Time out แต่ด้วยท่าทีที่นุ่มนวลกว่า ซึ่งจะแตกต่างจาก Time out ที่เป็นภาพของการแยกเพื่อลงโทษชัดเจน การทำ Time in จะให้พ่อแม่อยู่ด้วย อาจกอด ปลอบ ทำให้เด็กสงบ ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือถูกลงโทษ ร่วมกับพ่อแม่เปิดโอกาส ให้เด็กได้พูดระบายความรู้สึก ในขณะเดียวกันก็สอนให้เด็กฝึกสงบสติอารมณ์ของตนเอง มีการพูดคุยถึงพฤติกรรมที่ควรทำ เช่น หากครั้งถัดไปหากมีอารมณ์เช่นนี้ควรมีพฤติกรรมอย่างไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เด็กรับรู้ได้ว่า พ่อแม่เข้าใจอารมณ์และความต้องการตนเอง ไม่รู้สึกอับอายหรือหวาดกลัว มีสัมพันธภาพที่ดี สามารถเรียก Time in ว่า Positive Time out หรือ Time out เชิงบวก ซึ่งผู้ที่สนับสนุนการปรับพฤติกรรมโดยการทำ Time in กล่าวว่าการทำ Time in จะทำให้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม หากจะเลือกใช้การปรับพฤติกรรมโดย Time in มีข้อพิจารณาและควรระวังดังต่อไปนี้ คือ พ่อแม่ต้องมั่นใจว่า การทำ Time in ไม่ใช่การให้รางวัลเด็ก ยกตัวอย่างเช่น พี่ตีน้อง หลังจากนั้นแม่นำพี่ออกมามุมสงบแล้วกอด พูดคุย ปลอบใจพี่ให้หายโกรธน้อง จะกลายเป็นว่า พี่ได้รับความสนใจมากกว่าน้องทุกครั้งเมื่อมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว พฤติกรรมใดที่ได้รับความสนใจพฤติกรรมนั้นจะคงอยู่ ไม่หายไป อีกข้อควรระวังหนึ่ง คือ อารมณ์ของพ่อแม่ในขณะที่จะทำ Time in ต้องสงบเพียงพอ ไม่เช่นนั้นหากเข้ามุม Time in เพื่อพูดคุย แต่เด็กยังโวยวายอยู่ อาจพูดคุยไม่เข้าใจกัน การแสดงอารมณ์โกรธใส่กันอาจยืดเยื้อยิ่งกว่าเดิม
ดังนั้นการจะใช้ Time in หรือ Time out คงต้องเลือกเป็นกรณีไป เช่น อาละวาดตีน้องต้อง Time out แต่แม่ใช้ให้เก็บของเล่น ร้องไห้ไม่ยอมเก็บ อาจใช้ Time in แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าทั้ง Time in และ Time out คือ “Tune in”
“Tune in” คือการให้ความสนใจกับลูกในช่วงที่เป็นเวลาดี ๆ อารมณ์ดี ให้ความสนใจในพฤติกรรมดี แม้ว่าเพียงเล็กน้อย เช่น วันนี้หนูทำตัวน่ารักมากเลย ไม่แกล้ง ไม่ตีน้องเลย เป็นต้น ลูกจะยิ่งทำพฤติกรรมดี เพราะรู้สึกดีที่พ่อแม่ชม รวมถึง ช่วงเวลาคุณภาพของพ่อแม่ลูก โดยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้สัมพันธภาพดีขึ้น จะทำให้เด็กอยากร่วมมือกับพ่อแม่มากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลดลงได้อย่างชัดเจน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
Time out ลงโทษแบบสงบแต่สยบลูกน้อยอย่างได้ผล
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!