ลูกติดผ้าห่ม ผิดปกติไหม? ติดแค่ไหนควรกังวล ควรปรับพฤติกรรมยังไง

lead image

ลูกติดผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอนเน่า อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเสมอไป แต่หากยังรู้สึกไม่สบายใจ มาดูวิธีปรับพฤติกรรมกันค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การที่ลูกน้อย “ติด” สิ่งของบางอย่าง เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หรือหมอนข้าง เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในเด็กวัย 1-3 ขวบค่ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จัดเป็น “วัตถุเปลี่ยนผ่าน” (Transitional Object) ที่ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และคลายความกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ แต่ในบางกรณีคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจยังติดใจสงสัยว่าหาก ลูกติดผ้าห่ม มากเกินไป จะมีผลเสียต่อพัฒนาการ จนต้องกังวลหรือไม่? ควรปรับพฤติกรรมยังไงให้เหมาะสมและไม่ทำร้ายจิตใจลูก

ลูกติดผ้าห่ม

สารบัญ

ลูกติดผ้าห่ม เรื่องปกติ หรือมีปัญหา

สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะวัยทารกและเด็กเล็กก่อน 3 ขวบ ความวิตกกังวลในการพลัดพรากจากคุณพ่อคุณแม่นั้นเป็นเรื่องตามธรรมชาติค่ะ ยิ่งในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไปทำงานนอกบ้านด้วยแล้ว ลูกยิ่งต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นด้วย การติดผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอนข้าง ขวดนม หรือของเล่นชิ้นโปรด จึงเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างพบได้บ่อย เนื่องจากลูกน้อยกำลังเรียนรู้ที่จะสร้างความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจให้ตัวเอง สิ่งของเหล่านี้จึงกลายเป็นตัวแทน หรือสัญลักษณ์ของความคุ้นเคยที่จะเชื่อมโยงลูกกับคุณพ่อคุณแม่ ช่วยทำให้ผ่อนคลายและลดความวิตกกังวลลง

มองข้อดี…ของการที่ ลูกติดผ้าห่ม

อย่าเพิ่งโฟกัสที่ข้อเสียของการติดผ้าห่มค่ะ เพราะการที่ลูกติดผ้าห่มนั้นอาจไม่ใช่พฤติกรรมที่เป็นแง่ลบก็ได้ มาลองดูข้อดีของเรื่องนี้กันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

  1. ผ้าห่มช่วยลดความรู้สึกกังวลต่อการแยกจากได้ง่ายขึ้น

อย่างที่อธิบายไปตอนต้นค่ะว่าสำหรับเด็กเล็กการอยู่ห่างจากพ่อแม่สามารถเป็นเหตุแห่งความเครียดในเด็กได้ การมีผ้าห่มหรือสิ่งที่ช่วยสร้างความอบอุ่น จะทำให้ลูกรู้สึกเสมือนว่ายังอยู่ในอ้อมอกคุณแม่ (แม้จะรู้ว่าไม่ใช่อกแม่จริงๆ ก็ตาม) แต่ก็เป็นความรู้สึกอุ่นใจในแบบเด็กๆ นั่นเองค่ะ

  1. ลูกรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อมีผ้าห่มติดตัว

เด็กๆ จะเชื่อมโยงผ้าห่มกับความรู้สึกปลอดภัย เมื่อมีผ้าห่มติดตัวอยู่ด้วยความกังวลของลูกจะลดลง และสามารถโฟกัสกับกิจกรรมอื่นๆ ได้ จึงดูเหมือนว่าลูกมีความมั่นใจมากขึ้นนั่นเอง

  1. ช่วยให้ลูกหลับสบาย

คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตเห็นได้ว่า มีอยู่บ่อยครั้งที่การติดผ้าห่มจะช่วยให้ลูกหลับได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการสร้างความรู้สึกปลอดภัยในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เช่น ในช่วงเวลาเดินทาง หรือต้องเปลี่ยนที่นอน การพึ่งพาผ้าห่มอาจเป็นเครื่องมือกลไกทางจิตใจที่ช่วยให้ลูกจัดการกับความกังวลหรือความไม่แน่นอนในชีวิตประจำวันได้ค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. กลิ่นของผ้าห่มทำให้ลูกรู้สึกดี

ไม่เพียงเฉพาะในเด็กเท่านั้นค่ะ เพราะในทางวิทยาศาสตร์แล้วการได้กลิ่นสิ่งของที่เราคุ้นเคย หรือคนที่เรารัก จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีได้ ซึ่งกรณีลูกน้อยนั้น กลิ่นของผ้าห่มมักมีกลิ่นนมแม่ หรือกลิ่นตัวของคุณแม่ติดอยู่ด้วย ส่งผลให้ลูกยิ่งติดผ้าห่มผืนนั้นนั่นเอง

  1. เป็นสัญญาณว่าลูกกำลังเรียนรู้เรื่องความผูกพัน

สำหรับเด็กเล็ก ๆ การติดผ้าห่ม อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าลูกน้อยของคุณกำลังเรียนรู้และเข้าใจความหมายของความผูกพันในเบื้องต้นแล้ว เพียงแต่เป็นไปในรูปแบบของการเชื่อมโยงกับสิ่งของเท่านั้นเองค่ะ

  1. จัดเป็นเครื่องมือที่ลูกใช้ในการปรับอารมณ์ได้

การปรับอารมณ์และสงบจิตใจสำหรับเด็กเล็กนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากค่ะ แต่จะเห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วลูกน้อยจะสงบลงจากการหวีดร้องหรือหงุดหงิดใจได้ หลังรับความอบอุ่นจากผ้าห่มของตัวเอง แสดงว่าลูกสามารถปรับอารมณ์ได้ในเบื้องต้น โดยใช้วัตถุหรือสิ่งของอื่นๆ เป็นเครื่องมือนั่นเอง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ลูกติดผ้าห่ม มากแค่ไหนที่พ่อแม่ควรกังวล?

การติดผ้าห่มในระดับที่ “ปกติ” คือการที่ลูกใช้สิ่งของนั้นเป็นเพื่อนคลายเหงา หรือช่วยให้รู้สึกอุ่นใจในบางสถานการณ์ เช่น เวลานอน หรือขณะที่รู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็มีบางกรณีที่การติดผ้าห่มนั้นดูจะ “มากเกินไป” จนสร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ มาดูกันค่ะว่าพฤติกรรมติดผ้าห่มแบบไหนที่ควรได้รับการแก้ไข

  • ติดจนขัดขวางกิจวัตรประจำวัน ติดผ้าห่มมากเกินไป จนลูกน้อยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือทำกิจกรรมใดๆ ได้เลยหากไม่มีผ้าห่มหรือสิ่งของที่ติดนั้นติดตัว
  • แสดงความกังวลหรือหงุดหงิดรุนแรง ลูกจะแสดงความกังวลอย่างมากเมื่อต้องห่างจากผ้าห่ม หรือสิ่งของนั้นๆ
  • มีปัญหาในการเข้าสังคม ลูกน้อยหลีกเลี่ยงการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เพราะกังวลเรื่องผ้าห่ม มีปัญหาในการเข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีปัญหาในการปรับตัว อาจบ่งบอกถึงพฤติกรรมที่เริ่มส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตใจและสังคมของลูก
  • ลูกมีปัญหาในการนอนหลับ แม้จะมีผ้าห่มหรือสิ่งของนั้นอยู่ด้วยลูกก็ยังนอนหลับยาก ไม่ยอมนอน
  • พัฒนาการถดถอย ลูกน้อยกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนเด็กเล็กกว่าวัย เช่น ดูดนิ้ว หรือพูดจาไม่ชัด

ปรับพฤติกรรม ลูกติดผ้าห่ม ที่น่ากังวลใจ อย่างไรดี?

คุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกว่า ลูกติดผ้าห่มมากเกินไป จนเกิดความเป็นห่วงว่าจะส่งผลเสียต่อการพัฒนา ลองนำคำแนะนำต่อไปนี้ไปใช้ปรับพฤติกรรมลูกน้อยดูนะคะ

  1. ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี

โดยสังเกตลักษณะของลูกว่า สิ่งใดที่เป็นพฤติกรรมที่ควรส่งเสริม เช่น การช่วยเหลือตนเอง การใช้มือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วฝึกฝนสอนทักษะต่างๆ ผ่านการเล่น โดยเปิดโอกาสให้ลูกทำซ้ำๆ ภายใต้บรรยากาศที่ดี สนุกสนาน รวมถึงจัดสิ่งแวดล้อมให้ท้าทายความสามารถและให้โอกาสลูกทำสิ่งต่างๆ สำเร็จมากกว่าล้มเหลว นอกจากนี้ ควรให้เวลาตัวเองได้เล่นสนุกกับลูกเพิ่มขึ้น เพราะไม่เพียงได้ฝึกฝนลูกผ่านการเล่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันในครอบครัวด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. สร้างกิจวัตรประจำวัน

การมีกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจนและสม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผ้าห่มตลอดเวลา เช่น การตั้งเวลาเข้านอนที่เป็นปกติสม่ำเสมอ การฝึกให้ลูกทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การอ่านหนังสือ หรือการเล่นกับเพื่อนๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งผ้าห่ม

  1. ค่อยๆ ลดการพึ่งพาผ้าห่ม

หากลูกติดผ้าห่มจนเกินไป ลองค่อยๆ ลดการให้ลูกพึ่งผ้าห่มในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็น เช่น การให้ลูกหลับโดยไม่มีผ้าห่มในบางคืน

  1. พูดคุยกับลูก

หากลูกอยู่ในวัยที่เริ่มเข้าใจภาษาและสื่อสารได้ ลองพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับผ้าห่ม โดยอธิบายว่าผ้าห่มอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยในบางช่วงเวลา แต่เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจได้โดยไม่ต้องพึ่งผ้าห่มตลอดเวลาได้เช่นกัน

  1. ให้ความมั่นใจและความอบอุ่น

ในช่วงเวลาที่ลูกรู้สึกไม่สบายใจหรือวิตกกังวล คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความมั่นใจและความอบอุ่นแก่ลูกด้วยการพูดคุยหรือกอด ให้ลูกรู้สึกว่าไม่ต้องพึ่งผ้าห่มเพื่อหาความปลอดภัย เพราะเขามีพ่อแม่คอยดูแลอยู่ข้างกาย

  1. อย่าบังคับหรือวิจารณ์

การบังคับให้ลูกเลิกติดผ้าห่มในทันทีอาจทำให้ลูกรู้สึกกดดันและเครียด ควรใช้วิธีค่อยๆ ปรับพฤติกรรมในทางที่เหมาะสมและไม่กดดันให้ลูกเลิกพฤติกรรมทันที

ปัจจัยที่อาจทำให้ ลูกติดผ้าห่มนาน ไม่ยอมเลิก

  1. มีความวิตกกังวล ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในความรักและความปลอดภัยที่ได้รับจากพ่อแม่
  2. พ่อแม่ฝึกฝนการแยกจากกันแบบไม่นุ่มนวล ไม่ถนอมน้ำใจ
  3. มีประสบการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ลูกวิตกกังวล หรือหวาดกลัวสูง
  4. ลูกไม่มั่นใจในตนเอง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย แก้ปัญหาต่างๆ ได้ไม่ดี
  5. ได้รับการเลี้ยงดูแบบปกป้อง ส่งเสริมให้เป็นเด็กเล็กที่ต้องคอยพึ่งพาพ่อแม่ และผู้ใกล้ชิดตลอดเวลา

ลูกติดผ้าห่มแบบไหน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ?

หากพฤติกรรมการติดผ้าห่มเริ่มส่งผลต่อการพัฒนาและการเข้าสังคมของลูก หรือลูกไม่สามารถหยุดพฤติกรรมนี้ได้แม้จะพยายามแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เช่น นักจิตวิทยาเด็ก เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อการช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะการปรับตัวและลดการพึ่งพาผ้าห่มในอนาคตนะคะ

 

การที่ลูกติดผ้าห่มไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงวัยทารกและเด็กเล็ก แต่หากพฤติกรรมนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางสังคมและการเรียนรู้ของลูก พ่อแม่ควรเริ่มปรับพฤติกรรมและช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือการให้ความรัก ความเข้าใจ และความอดทนแก่ลูก การปรับพฤติกรรมควรเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่บังคับหรือทำให้ลูกรู้สึกกดดัน และให้ความอบอุ่นเพื่อช่วยให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นค่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ที่มา : static.cdntap.com , www.trueplookpanya.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

พฤติกรรม ลูกตีพ่อแม่ แก้ยังไง? วิธีจัดการอย่างสร้างสรรค์ และได้ผล

ลูกขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดี จริงไหม? สาเหตุจริงๆ คืออะไร แก้ไขยังไงดี?

6 เรื่องต้องห้าม! หยอกล้อเด็ก กระทบ Self-Esteem แหย่เด็กเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

บทความโดย

จันทนา ชัยมี