สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่บางคนอาจจะต้องเผชิญพบเจอหลังคลอดลูก โดยอาจมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และอ่อนเพลีย คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งวันนี้เราจะพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวภาวะซึมเศร้าหลังคลอดกันค่ะว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และวิธีแก้ปัญหาในเบื้องต้นหรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่มาก ๆ วันนี้เรามาคลายข้อสงสัยไปพร้อมกับคุณ เจ เจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน Good Doctor ในรายการ TAP Ambassador ของเราในสัปดาห์นี้กันเลยค่ะ
ปัจจัยที่ทำให้เกิด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ?
การเกิดภาวะนี้มีหลายปัจจัยมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม คนรอบ ๆ ตัว หรือแม้แต่ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะนี้พอจากเดิมที่เคยทำสิ่งต่าง ๆ ได้ พอตั้งครรภ์ขึ้นมาจะต้องคลอดลูก เคยทำสิ่งเดิมได้พอตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว การเคลื่อนไหวก็ลำบาก ก็อาจจะทำให้ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เพราะไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนแต่ก่อน พอวันหนึ่งต้องกลายมาเป็นแม่คนก็จะต้องปรับตัวใหม่ มีการบาลานซ์บทบาทใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นพอมันต้องมีการปรับตัวใหม่ก็อาจจะเกิดการสับสน จนก่อเกิดไปเป็นความเครียด พอเครียดมากขึ้นอารมณ์ซึมเศร้าก็จะเข้ามา
วิธีแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้าในเบื้องต้น
- การขอความช่วยเหลือ พยายามอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือแม้กระทั่งจากผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเกิดว่ามันเกินขอบเขตในสิ่งที่เรารับรู้ว่าควรจะทำยังไง การขอคำปรึกษาจากคนที่อาจจะมีความรู้มากกว่าประสบการณ์มากกว่า หรืออาจจะเป็นจากผู้เชี่ยวชาญจิตแพทย์ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในเรื่องนี้ได้ เป็นสิ่งที่ควรจะทำเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น
- ดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้แข็งแรง นอนพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้ร่างกายมีความสมดุล รู้สึกว่ามีสุขภาพร่างกายที่ดี พอสุขภาพร่างกายดี สุขภาพจิตใจมันก็จะดีตามไปด้วย
- หางานอดิเรกที่ชอบทำ หรือไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่ชอบไป เพื่อไม่เกิดอาการเครียด ก็จะสามารถช่วยทำให้ผ่อนคลายยิ่งขึ้น
ถ้าพ่อแม่มีภาวะซึมเศร้า ลูกจะได้รับผลกระทบหรือไม่
ลูกอาจจะมีโอกาสได้รับผลกระทบความรู้สึกเหล่านั้นเข้ามาได้เหมือนกัน ถ้าหากเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือว่าจัดการตัวเอง ดูแลตัวเองให้ดีขึ้นได้ อาจจะส่งผลกับลูกในระยะยาวได้ เช่น พอลูกโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน เนื่องจากลูกได้ซึมซับเรื่องของอารมณ์เหล่านี้เข้ามาตั้งแต่เด็ก
ในความเครียดที่สะสมเข้ามาจนถึงตอนโตก็อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกเรื่องของภาวะที่ไม่ค่อยมีสมาธิ หรือส่งผลต่อความสามารถของตัวเด็กเองในการที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางสิ่งบางอย่างด้วยก็จะเป็นการส่งผลต่อพัฒนาการในการคิดนั่นเอง และเรื่องของความรู้สึกในตัวของเด็กด้วย และในอนาคตก็อาจจะพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าและอาจจะมีแนวโน้มฆ่าตัวตายที่มากขึ้นด้วยสำหรับตัวเด็ก
บทความเพิ่มเติม : โรคซึมเศร้า คืออะไร เป็นโรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายได้ หรือไม่?
ถ้าหากเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดต้องทานยาไหม
- เรื่องของภาวะซึมเศร้าจะมีอยู่ 3 ระดับ ระดับแรกอาจจะเป็นของช่วงปรับตัว ช่วงสองสัปดาห์แรกอาจจะไม่ต้องถึงขั้นทานยา อาจจะย้อนกลับมาในเรื่องของการสำรวจตัวเอง และดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเอง พยายามหากิจกรรมทำเพื่อทำให้เกิดการผ่อนคลาย อาจจะเป็นงานอดิเรกที่ชอบทำ หรือหาเวลางีบ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยดูแลลูกน้อยตอนดึก ๆ ก็เป็นสิ่งที่สามารถพอทำได้ในช่วงแรก
- สำหรับช่วงของการปรับตัว ต่อมาถ้าในระดับที่สอง เป็นระดับที่เราเรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว นั่นหมายถึงว่ามันเกินกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป ในจุดนี้อาจจะต้องมีการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพิ่มเติม ในจุดนี้อาจจะมีเรื่องของการกินยาเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะอาจจะเกี่ยวข้องในเรื่องของฮอร์โมนด้วย การกินยาก็อาจจะช่วยให้อารมณ์ค่อนข้างคงที่มากขึ้นแต่สิ่งสำคัญก็ยังเหมือนเดิม ก็คือยังมีเรื่องของการปรับตัว ปรับสภาพแวดล้อม
- ส่วนในระดับที่สามนั้น ไม่ได้พบบ่อย แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่คนรอบ ๆ ข้างต้องคอยสังเกต คือเรื่องของภาวะซึมเศร้าที่มีอาการโรคจิตร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นภาวะซึมเศร้าที่มีอาการหลงผิดหรือการเห็นภาพหลอนหูแว่วเกิดขึ้น เช่น อาจจะรู้สึกว่าลูกที่มีอยู่ ไม่ใช่ลูกของตัวเอง หรือระแวงว่าคนอื่นจะมาทำร้าย เห็นภาพหลอน หรือได้ยินเสียงแว่ว ว่าจะมีคนมาทำร้ายลูก หรือทำร้ายตัวเอง หรือมีความคิดที่จะทำร้ายลูกตัวเองได้เหมือนกัน จริง ๆ ระดับนี้จะพบไม่บ่อย แต่คนรอบข้างต้องมีส่วนช่วยในการสังเกต และต้องพาไปพบจิตแพทย์ทันที
ภาวะซึมเศร้า กับ โรคซึมเศร้า แตกต่างกันอย่างไร
ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งภาวะเศร้าและโรคซึมเศร้า จะแตกมีความแตกต่างกันตรงที่ภาวะซึมเศร้าทุกคนสามารถสัมผัสมันได้ เพราะมันคือภาวะที่มันเกิดขึ้นในใจเราที่มันเริ่มจะซึมเศร้า ซึ่งมันจะมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้าทุกอย่าง แต่ว่ามันยังไม่ถึงขั้นที่เราเรียกมันว่าเป็นโรคซึมเศร้า
การที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ จะต้องไปพบจิตแพทย์ และจิตแพทย์วินิจฉัย ซึ่งเกณฑ์ในการวัดมันก็คืออาการพวกนี้มันต้องเกิดขึ้นมากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไปแล้ว แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ หรือช่วงหนึ่งใดช่วงหนึ่ง มันอาจจะมีในเรื่องของการปรับตัวหรือว่ายังรู้สึกแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ มันก็เลยเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมา อาจจะยังไม่พัฒนาไปเป็นโรคได้ บางคนอาจจะเหมือนเป็นความเครียดสะสมมากกว่า
วิธีการสังเกตอาการโรคซึมเศร้า
เรื่องของโรคซึมเศร้ามันเป็นโรคที่คนอื่นมองไม่เห็น มันเป็นโรคที่อยู่ข้างในใจเรา สิ่งแรกที่เราจะสามารถสังเกตได้ก็คือ เราจะต้องสังเกตตัวเองก่อนว่ามีความผิดปกติอะไรบางอย่างในใจของเราบ้างไหม ถ้าพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้าจะต้องพูดเรื่องความรู้สึกซึม ๆ เศร้า ๆ ที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา เริ่มรู้สึกถึงความหดหู่ สิ้นหวัง เริ่มมองไม่เห็นอนาคต สำหรับบางคนก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน
แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถสังเกตเห็นจากพฤติกรรมภายนอกได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น อาการนอนไม่หลับ หรือว่าเริ่มนอนมากขึ้น นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ รู้สึกเพลียตลอดเวลา ก็เป็นสัญญาณหนึ่งของโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน แล้วก็จะมีในเรื่องของการกิน บางคนอาจจะเบื่ออาหาร หรือว่าอาจจะกินมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นการสังเกตอาการเบื้องต้นแบบหนึ่ง หรือที่จะค่อนข้างจะรุนแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็คือเรื่องของความคิดทำร้ายตัวเอง ความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่เริ่มชัดเจนว่าเป็นภาวะซึมเศร้าที่ค่อนข้างรุนแรง และต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์
บทความเพิ่มเติม : อาการซึมเศร้าหลังคลอด อาการที่คุณแม่ไม่อยากเจอ มีวิธีรับมือยังไง?
อาการแพนิค กับ ซึมเศร้า ต่างกันหรือไม่
อาการแพนิคกับซึมเศร้า หรือ สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นโรค 2 โรคที่ต่างกัน ถ้าซึมเศร้าจะเป็นเรื่องของอารมณ์เศร้า ๆ แต่แพนิคเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่เราเรียกว่าเป็นโรควิตกกังวล เป็นอาการแบบหนึ่งของการวิตกกังวลจะมีอาการของใจสั่น หรือตัวสั่น ผิดปกติ แต่ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นแค่ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่นเวลาที่มีความตึงเครียด กดดันมาก ๆ หรือวิตกกังวลมาก ๆ ซึ่งมันก็เลยถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในโรควิตกกังวล และอาการซึมเศร้ากับแพนิคก็มีโอกาสที่จะพบพร้อมกันได้เพราะว่าคนที่เป็นซึมเศร้าก็อาจจะมีอาการวิตกกังวลไปพร้อม ๆ กัน
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่รวดเร็วในช่วงหลังจากคลอดลูก ซึ่งอาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่แต่ละคนก็จะมีอาการแตกต่างกันไป แต่ถ้าหากคุณแม่ท่านไหนสงสัยว่าตัวเองอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการปรึกษา และรับการรักษาอาการในขั้นตอนเบื้องต้นต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะซึมเศร้าหลังหย่านม ปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่ควรเข้าใจ
อาการโรคซึมเศร้า ในกลุ่มคนท้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร เสี่ยงต่อเด็กในครรภ์หรือไม่
โรคแพนิคในเด็ก อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง รับมืออย่างไรดี?
ที่มา : โดย คุณ เจ เจษฎา กลิ่นพูล นักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน Good Doctor