อากาศชื้น ระวัง! ลูกน้อยเสี่ยงเป็น เชื้อราแมว

คุณพ่อคุณแม่ทาสแมวต้องรู้ เจ้าเหมียวขนฟูอาจนำโรคมาสู่ลูกน้อยได้ โดยเฉพาะหน้าฝนที่อากาศชื้น เชื้อราแมว อาจมาเยือนแบบไม่รู้ตัวค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บ้านไหนที่เป็น “ทาสแมว” ช่วงฝนตก อากาศชื้น แบบนี้ คงต้องระมัดระวังเรื่อง “เชื้อรา” กันมากหน่อยค่ะ เพราะการที่น้องแมวสุดที่รักติดเชื้อรานั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเชื้อราเหล่านี้แพร่กระจายมาสู่ลูกน้อยด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องน่ากังวลใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ และต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะเชื้อราบางชนิดที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนได้ไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งนอนใจค่ะ ดังนั้น ช่วงที่ฝนตก อากาศชื้น ต้องระวังลูกน้อยเสี่ยงเป็น เชื้อราแมว นะคะ ซึ่งวันนี้เรามีวิธีป้องกันลูกจากเชื้อราแมวมาฝากค่ะ

ทำความรู้จัก เชื้อราแมว ภัยแฝงที่มากับ อากาศชื้น

เชื้อราแมว คือ เชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง ทำให้ขนร่วง โดยมากจะมีอยู่ 2 ประเภท และมีชื่อจำเพาะว่า Microsporum spp. ได้แก่ M. canis, M. gypseum และ Trichophyton spp. แต่ส่วนใหญ่เชื้อราแมวที่พบบ่อยคือ Microsporum canis

โดยแมวที่ติดเชื้อราจะมีอาการขนหลุดออกมาเป็นหย่อม ๆ ผิวหนังแดง มีผื่นแห้งๆ สีเทาบริเวณผิวของแมว ซึ่งจะลอกเป็นขุย ๆ และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย โดยนอกจากแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เช่น สุนัข กระต่าย แฮมสเตอร์ ก็สามารถพบการติดเชื้อรานี้ได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้แมวติดเชื้อราเป็นเพราะการสะสมความชื้นบนร่างกายของแมว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแมวพันธุ์ขนยาว เช่น เปอร์เซีย สก๊อตติช

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการพบผู้ป่วยเชื้อราแมวสู่คนเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ใช่การติดเพียงแค่จุดเดียว เพราะมีผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อราแมวกระจายตามแขน ขา และบางครั้งโรคนี้สามารถกลายเป็นโรคติดต่อภายในบ้านได้ด้วย

กลุ่มเสี่ยงที่จะติด เชื้อราแมว

  • เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้เลี้ยงสัตว์หลายชนิด
  • คนที่คลุกคลีใกล้ชิดกับแมว

อาการของลูกน้อยที่ติด เชื้อราแมว

โดยทั่วไปลูกน้อยที่เป็นเชื้อราแมวมักจะมีผื่นคันบริเวณผิวหนัง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาผื่นนี้สามารถลุกลามกระจายทั้งตัว และเมื่อผื่นหายไปก็อาจทิ้งรอยดำไว้โดยใช้เวลานานกว่าผิวลูกน้อยจะกลับสู่สภาพปกติ ทั้งนี้ คุณแม่สามารถสังเกตลักษณะของผิวลูกน้อยที่ติดเชื้อราแมวได้ดังนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • มีลักษณะเป็นผื่นกลม มีขุย สีแดง ขอบเขตชัด และมีอาการคัน เกิดขึ้นได้ในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งใบหน้า มือ เท้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่สัมผัสกับแมว
  • อาจมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กเกิดขึ้นบนผิวหนัง
  • ผื่นแดงสามารถเพิ่มขึ้นได้เมื่อเกาบริเวณผื่นแดงแล้วไปสัมผัสจุดอื่น ๆ บนร่างกาย
  • หากเชื้อราลุกลามไปบริเวณศีรษะ อาจทำให้มีอาการผมร่วงเป็นหย่อมได้
  • กรณีติดเชื้อราแมวบริเวณเล็บ อาจทำให้เล็บมีสีที่เปลี่ยนไป หรือทำให้เล็บหลุดได้

 

ทำไม เชื้อราแมว จึงแพร่สู่ลูกน้อยได้

การสัมผัสโดยตรง การที่ลูกสัมผัสกับผิวหรือขนของแมวผ่านการลูบคลำน้องแมว เล่นกับของเล่นที่แมวใช้ หรือสัมผัสบริเวณที่น้องแมวมีเชื้อรา ทำให้เกิดความเสี่ยงที่เชื้อราแมวจะแพร่สู่ผิวหนังของลูกน้อยได้
สปอร์เชื้อราลอยอยู่ในอากาศ สปอร์ของเชื้อราแมวอาจลอยอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายของลูกผ่านทางการหายใจหรือการสัมผัส โดยสปอร์นี้จะหลุดร่วงมาจากผิวหรือขนของแมว และสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานนับเดือน หรือเป็นปี

วิธีรับมือและรักษาโรคเชื้อราแมว

จริงๆ แล้ว เมื่อคุณแพบว่าลูกน้อยมีอาการของการติดเชื้อราแมว ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาโดยการจ่ายยา ทั้งยากินและยาทาฆ่าเชื้อ

  • ติดเชื้อราที่ผิวหนัง : ควรทายาฆ่าเชื้อราที่ได้รับจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยอาการต่างๆ จะดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์
    แต่หากพบผื่นจำนวนมาก แพทย์อาจให้กินยาต้านเชื้อราควบคู่กับการทายาฆ่าเชื้อราไปด้วย
  • การติดเชื้อบนหนังศีรษะ : ควรกินยาต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง การใช้ยาทาหรือแชมพูฆ่าเชื้อราเพียงอย่างเดียวอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ ในการรักษาของแพทย์จะเป็นการรักษาอาการที่เกิดจากเชื้อราแมวเท่านั้น กรณีรอยดำที่ถูกทิ้งไว้บนผิวที่เชื้อราหายแล้ว คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะรอยดำจะหายเองภายในวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม นอกจากพาลูกน้อยไปพบแพทย์แล้ว ยังจำเป็นต้องพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาเชื้อราด้วยนะคะ และระหว่างการรักษาควรแยกแมวไว้อีกห้องหนึ่ง แล้วทำความสะอาดบริเวณบ้านเพื่อกำจัดเชื้อค่ะ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ป้องกันอย่างไร? ไม่ให้เชื้อราแมวเกิดซ้ำอีก

การป้องกันตัวเองและลูกน้อยจากเชื้อราแมว เริ่มได้จากการนำน้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา ที่เกิดจากเชื้อ Microsporum canis โดยสามารถฉีดได้เมื่อแมวอายุได้ 2 เดือนขึ้นไปและฉีดวัคซีนหลักครบแล้ว ซึ่งควรฉีดกระตุ้นซ้ำ 3 เข็ม หลังจากนั้นกระตุ้นทุก 1 ปี และหมั่นดูแลทำความสะอาดขนแมว อาบน้ำเป่าขนให้แห้ง หากมีผื่น ขุย หรือขนร่วง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน รวมถึงควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • หลังจากลูกน้อยสัมผัสกับน้องแมวหรือสัตว์เลี้ยง ควรทำความสะอาดมือและอวัยวะต่าง ๆ ให้ลูกทุกครั้ง
  • ไม่ควรให้แมวนอนร่วมเตียงเดียวกันกับลูก หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับลูกมากจนเกินไป
  • ทำความสะอาดสิ่งของที่อยู่ในบ้าน ที่น้องแมวคุณสัมผัส เช่น พรมปูพื้น โซฟา รวมถึงเสื้อผ้าที่สวมขณะสัมผัสกับแมว โดยควรซักเสื้อผ้านั้นๆ ด้วยน้ำร้อน
  • ทำลายสปอร์เชื้อราแมวด้วยการใช้สารฟอกขาว ละลายในน้ำในอัตราส่วน 1:10 ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ และของเล่นของน้องแมว และสภาพแวดล้อมโดยรอบ
  • การให้อาหารที่มีคุณภาพสูง จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแมวได้
  • ควรพาแมวไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้สามารถตรวจพบโรคต่างๆ ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
  • อาบน้ำให้แมวเป็นประจำด้วยแชมพูสำหรับแมวโดยเฉพาะ และตัดขนให้แมวสั้นลงในช่วงอากาศร้อนชื้น
  • ระหว่างที่แมวกำลังรับการรักษาเชื้อรา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่เป็นแผล และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสแมว

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ทั้งนี้ นอกจากโรคติดเชื้อราแล้ว สัตว์เลี้ยงแสนน่ารักอย่างแมวเหมียว ยังอาจแพร่เชื้อที่ส่งผลให้ทาสแมวเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกค่ะ เช่น

โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแมว และสามารถเกิดในคนได้

โรคติดเชื้อจากการโดนแมวกัด เนื่องจากเชื้อโรคในช่องปากของแมว จะมีเชื้อจำเพาะอยู่ โดยบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยว รอบๆ มีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว

หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงจะมีการปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนปวดแผลรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผลเป็นแหล่งที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด

โรคภูมิแพ้ ที่มีความเกี่ยวข้องกับขนแมว หรือรังแคของแมว อาจจะกระตุ้นโรคภูมิแพ้ของคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นกัน
โรคที่เกิดจากหมัดแมวกัด ทำให้เกิดความเจ็บปวด ไม่สบายตัว อาจมีตุ่มแดงหรือวงแหวนเกิดขึ้นรอบๆ รอยกัด ซึ่งสามารถเป็นแผลพุพองหรือแผลเปิดได้ กรณีอาการรุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อ เกิดรอยแดง และบวม ทั้งยังส่งผลให้เกิดโรคติดต่อ เช่น กาฬโรคและไข้รากสาดใหญ่ได้
โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากแมว เช่น โรคแมวข่วน โรคท้องเสียจากเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonellosis) เกิดจากการที่ทาสแมวกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อในกลุ่ม Salmonella เข้าไป
การติดเชื้อโรค Toxoplasmosis หรือโรคขี้แมว โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือ โรคขี้แมว ที่อาจเข้าสู่ร่างกายของแม่ท้องส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้ หากไปโดนหรือสัมผัสกับขี้แมวและไม่ทำความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ลูกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้

เชื้อราแมวนั้นสามารถสร้างปัญหาให้กับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยได้ก็จริงนะคะ แต่หากมีการทำความเข้าใจ รวมถึงการดูแลป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม ครอบครัวเล็กๆ ของเราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับน้องแมวแสนน่ารักได้อย่างมีความสุขแน่นอนค่ะ

 

 

ที่มา : chulalongkornhospital.go.th , www.udl.co.th , www.iod.go.th , www.rama.mahidol.ac.th , www.thaihealth.or.th , www.samitivejhospitals.com

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ลูกชอบโยนของ รับมือยังไง ? พร้อมแชร์เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกน้อย

ทำไมเด็กไทยพบจิตแพทย์เพิ่มขึ้น หรือ “พ่อแม่ Toxic” มีส่วนทำลูกจิตป่วย?

ลูกไม่ยอมเลิกขวดนม ทำไงดี วิธีแก้ปัญหาลูกน้อยติดขวดนม

บทความโดย

จันทนา ชัยมี