อยากกินแกงใต้ นี่ไง เจอแล้วแกงไตปลา แต่ตอนนี้กำลังท้องอยู่ คนท้องกินแกงไตปลาได้ไหม เป็นแกงรสชาติเข้มข้นแบบนี้ กลัวว่าจะเป็นอันตราย มีประโยชน์ไหม มีสารอาหารแค่ไหน มาอ่านจากบทความนี้กัน
คนท้องกินแกงไตปลาได้ไหม
เมนูใต้ที่แม่ ๆ น่าจะเคยทานกันดีอย่าง “แกงไตปลา” ที่โดดเด่นทั้งรสชาติที่เข้มเป็นเอกลักษณ์ และกลิ่นที่เข้มถึงใจ เมนูแกงไตปลาเป็นเมนูที่คนท้องสามารถทานได้ตามปกติ ไม่ใช่เมนูที่ควรเลี่ยง ในทางกลับกันเมนูนี้มีเนื้อปลาทู และผักสมุนไพร เครื่องเทศต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพของแม่ท้อง และยังให้พลังงานไม่สูง ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักอีกด้วย อย่างไรก็ตาม คนท้องต้องระวังปริมาณในการทาน เพราะรสเข้ม และกลิ่นที่แรง สามารถส่งผลต่อคนท้องไวต่อกลิ่น มีอาการแพ้ท้อง และหากทานอาหารรสเข้มจัดมากเกินไป อาจเสี่ยงต่ออาการท้องเสีย ความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษ
หากต้องการทานจึงควรทานในปริมาณที่พอดีต่อ 1 มื้อ ร่วมกับเมนูกับข้าวอื่น ๆ ระหว่างวันก็ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ไม่ควรขาด เท่านี้คุณแม่ก็พอจะมั่นใจได้แล้วว่าการกินแกงไตปลามื้อนี้ จะได้ประโยชน์ และดีต่อสุขภาพแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินแกงส้มได้ไหม เมนูบ้าน ๆ แบบนี้ต้องเลี่ยงหรือกินได้เลย ?
สารอาหารในแกงไตปลา
ก่อนกินอาหารมื้อนี้แม่ท้องอาจกังวลเรื่องของปริมาณพลังงานที่จะได้รับจากแกงไตปลา ถือเป็นข่าวดี เพราะแกงชนิดนี้แม้จะจะกินร่วมกับข้าวสุก แต่ก็ถือว่ายังให้พลังงานไม่มากเกินไป แกงไตปลาปริมาณ 1 ถ้วยจะให้สารอาหารประมาณ 50 กิโลแคลอรี หรืออาจมากกว่านั้นอยู่ที่ส่วนผสม และปริมาณของวัตถุดิบบางชนิด นับรวมกับข้าวสวย 1 ทัพพีให้พลังงานประมาณ 80 กิโลแคลอรี ทำให้มื้อนี้คุณแม่จะได้รับพลังงานเพียง 130 กิโลแคลอรีเท่านั้นเอง ทำให้คุณแม่สามารถเพิ่มกับข้าวอย่างอื่นเข้ามาอีก 1 เมนูได้ หรือเพิ่มปริมาณข้าวสวยได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวอ้วน
ส่วนสารอาหารในแกงไตปลาถือว่ามีความหลากหลาย ด้วยส่วนผสมเครื่องเทศ สมุนไพร และเนื้อปลาที่นับว่ามีประโยชน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การกินแกงชนิดนี้จะทำให้ร่างกายคนท้องได้รับไขมัน, โซเดียม, โพแทสเซียม, โปรตีน, ฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม และธาตุเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามินนานาชนิด เช่น วิตามิน A และวิตามิน C นั่นเอง แต่คุณแม่อย่าเข้าใจผิดไปว่ากินแกงไตปลาแล้วร่างกายจะได้สารอาหารครบถ้วน เพราะสารอาหารเหล่านี้อาจพบในแกงชนิดนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีปริมาณที่สูงพอจะทำให้ร่างกายแข็งแรงจากการกินเมนูนี้เพียงอย่างเดียว
ระวังปริมาณโซเดียม และรสเข้มข้นของแกงไตปลา
แม้ว่าแกงไตปลาจะให้พลังงานน้อย และมีสารอาหารหลายชนิด แต่สิ่งที่แม่ท้องต้องระวัง คือ รสชาติของแกงไตปลา ที่อาจจะไม่ค่อยถูกกับคนท้องเท่าไหร่ เนื่องจากมีรสชาติเข้ม มีกลิ่นแรง ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง ที่เร็วต่อกลิ่น และรสชาติอาหารที่เข้มจัด อาจทำให้คนท้องเป็นกรดไหลย้อน เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และมีอาการท้องเสียตามมาได้
นอกจากนี้ในแกงไตปลาถือว่ามีปริมาณโซเดียมที่สูง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดี หากแม่ท้องรับในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรทานเกิน 5.8 กรัม / วัน เพราะจะทำให้เกิดผลเสียหลายอย่างตามมา เช่น มีอาการบวม, ร่างกายสูญเสียการดูดซึมแคลเซียม และทำให้มีความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมถึงโรคหัวใจ และหลอดเลือดตามมาได้นั่นเอง
คนท้องกินแกงไตปลาอย่างไรให้ปลอดภัย
อยากกินแกงไตปลา ต้องรู้วิธีกินให้มีประโยชน์ เลือกกินแบบไหน อะไรบ้างที่ต้องระวัง เราสรุปสิ่งเหล่านี้มาให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
- โดยปกติสามารถกินได้ แต่ให้เลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับเมนูกับข้าวอื่น ๆ ได้ เพราะแกงไตปลาให้พลังงานน้อย สามารถเพิ่มเมนูที่ชอบได้โดยที่ไม่ต้องกลัวอ้วน
- แกงไตปลาโดยทั่วไปจะนำปลาทูมาใช้ อย่างไรก็ตามหากพบว่าร้านอาหารมีการเปลี่ยนแปลงสูตร ใช้ปลาชนิดอื่น ๆ ต้องระวัง เพราะมีปลาบางสายพันธุ์ที่คนท้องไม่ควรทาน นอกจากปลาทูที่ถือว่าปลอดภัยแล้ว คนท้องยังสามารถกินปลาดุก ปลาช่อน และปลาสวายได้ด้วย เป็นต้น
- หากเป็นไปได้การปรุงทานเองอาจเหมาะสมกว่า เพราะจะสามารถควบคุมรสชาติตามที่ต้องการได้ แม้เอกลักษณ์ของแกงไตปลาคือกลิ่น และรสเข้ม แต่ช่วงตั้งครรภ์จะต้องเลี่ยงอาหารรสจัด กลิ่นแรง ซึ่งอาจหาได้ยากตามตลาดทั่วไป
วิดีโอจาก : TomJoke FoodTV
สูตรแกงไตปลาอร่อย ๆ สำหรับคนท้อง
จากที่กล่าวไปว่าการคุณแม่ควรทำแกงไตปลาทานเองดีกว่า เพื่อควบคุมรสชาติไม่ให้แรงจนเกินไป แม้ว่าเมนูจะดูเหมือนทำได้ไม่ยาก แต่มีขั้นตอนมากพอสมควร ไม่ต้องเป็นห่วงไป เรามีสูตรทำแกงไตปลาอร่อย ๆ มาแชร์ให้กับคุณแม่กัน
วัตถุดิบ : ไตปลา, กะปิ, น้ำเปล่า, ใบมะกรูดฉีก, หน่อไม้, ตะไคร้, มะเขือเปราะ, ข่า, ถั่วฝักยาวหั่น, หอมแดง, เนื้อปลาทูย่าง และน้ำมะขามเปียก ส่วนวัตถุดิบพริกแกง ได้แก่ กระเทียมไทย, ขมิ้น, พริกแห้ง, ตะไคร้สับ, หอมแดง, ผิวมะกรูด, พริกไทยขาว และพริกไทยดำ
วิธีการทำ
- ขั้นตอนแรกให้นำพริกแห้งมาตำให้ละเอียดก่อน ตามด้วยใส่ผิวมะกรูด, ตะไคร้สับ และขมิ้น ตามลงไป จากนั้นโขลกให้ละเอียดก่อน แล้วค่อยใส่หอมแดง กระเทียม
- นำพริกไทยขาว และพริกไทยดำ ไปโขลกแยก เสร็จแล้วค่อยเอาไปใส่ในครกเดียวกับขั้นตอนแรก แล้วตำเครื่องแกงทั้งหมดจนกว่าจะละเอียดส่วนผสมเข้ากันดี
- ขั้นตอนต่อมาให้ตั้งหม้อ ใส่วัตถุดิบหอมแดง, ข่า, มะขามเปียก ตะไคร้ และใบมะกรูดฉีก ตามด้วยไตปลา จากนั้นใส่น้ำลงไปเพียงเล็กน้อย รอจนกว่าจะเดือดได้ที่แล้วค่อยยกขึ้น พักทิ้งไว้
- ต่อมาให้ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด นำเครื่องแกงที่ตำไว้มาใส่ลงไป ตามด้วยกะปิคนให้เข้ากัน แล้วใส่ใบมะกรูด และไตปลาที่ต้มเตรียมเอาไว้
- ต้มจนกว่าจะพอเดือดตามด้วยใส่หน่อไม้, มะเขือเปราะ, ถั่วฝักยาว และเนื้อปลาย่าง ต้มต่อจนพอเดือดอีกครั้ง ชิมและปรุงรสเพิ่มตามที่ต้องการ เสร็จแล้วตักใส่ชามทานกับข้าวสวยได้เลย
แกงไตปลาเป็นหนึ่งในเมนูที่ปลอดภัยหากกินในปริมาณที่เหมาะสม การปรุงทานเองจะช่วยให้แม่ท้องปรับวัตถุดิบ ควบคุมรสชาติได้ด้วยตนเอง หากคุณแม่กินของมีประโยชน์แบบนี้ ทารกในครรภ์ก็แข็งแรงตามไปด้วยแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินแกงเขียวหวานได้ไหม กินบ่อยรู้ไหมว่าพริกแกงอันตราย ?
คนท้องกินฟักได้ไหม กินฟักดีอย่างไรกับคนท้องบ้าง ?
คนท้องกินแกงมัสมั่นได้ไหม แกงยอดฮิตปลอดภัยแค่ไหนกับคนท้อง