เราอาจพบเห็นโรคนี้ได้ จากกรณีของนักแสดงชื่อดังอย่าง คุณวินัย ไกรบุตร ที่ต้องต่อสู้กับโรคตุ่มน้ำพองนี้ เป็นเวลาหลายปี สร้างความทรมาน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก บทความนี้จะพามารู้จักกับ “โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์” ที่ใครก็อาจเป็นได้
โรคตุ่มน้ำพองคืออะไร ?
โรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous Pemphigoid) เป็นโรคทางผิวหนัง ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำ และแผลถลอกทั่วร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปี เป็นต้นไป และโรคนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา อาจใช้เวลานานหลายเดือน หรือหลายปี ซึ่งโรคนี้สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่น ๆ ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคข้อเข่าเสื่อม อาการเป็นอย่างไร วิธีดูแล ป้องกัน และรักษาโรค
โรคตุ่มน้ำพองเกิดจากอะไร ?
โรคตุ่มน้ำพอง เป็นผลกระทบจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้ไปทำลายระบบโครงสร้าง ที่ทำหน้าที่ยึดติดกับเซลล์ผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวหนังหลุดออก และกลายเป็นตุ่มน้ำ หรือ แผลถลอก โดยสภาวะดังกล่าว ไม่สามารถระบุสาเหตุ ที่มา ได้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่อาจเกิดจากภาวะแวดล้อมภายนอกที่สุ่มเสี่ยง เช่น การติดเชื้อ การสัมผัสสารเคมี เป็นต้น
วิดีโอจาก : Sriphat Medical Center, Chiang Mai
อาการของโรคตุ่มน้ำพองเป็นอย่างไร ?
อาการของโรคตุ่มน้ำพอง หรือ โรคเพมฟิกอยด์ จะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งอาการที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- มีอาการคันตามผิวหนังติดต่อกันเป็นเวลานาน ก่อนจะเกิดตุ่มน้ำใส
- มีตุ่มน้ำใส่ขนาดใหญ่ มักพบบริเวณรอยพับของผิว เช่น แขน ขา
- ผิวหนังบริเวณรอบตุ่มน้ำมีความบวม แดง หรือ คล้ำมากกว่าปกติ
- ผิวหนังอักเสบ มีผื่นคล้ายลมพิษ
- มีตุ่มน้ำหรือแผลเล็ก ๆ ภายในช่องปาก หรือเยื่อบุผิว
- หากตุ่มน้ำแตก หรือ แผลถลอก อาจทำให้เกิดการตกสะเก็ด
หากผู้ป่วยมีตุ่มน้ำ หรือแผลเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีตุ่มน้ำที่ตา หรือ มีอาการติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคทันที
การวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพอง
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ ลักษณะอาการ การใช้ยา และระยะเวลาที่พบอาการของผู้ป่วย รวมทั้งตรวจเลือด และนำชิ้นเนื้อเยื่อไปตรวจ เพื่อนำผลการตรวจที่ได้ มาประกอบกับการวินิจฉัยโรค เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาการของโรคตุ่มน้ำพองจริงหรือไม่
การรักษาโรคตุ่มน้ำพอง
การรักษาโรคตุ่มน้ำพอง คือ การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น และเป็นการฟื้นฟูผิวหนัง ให้กลับมาสุขภาพดีได้อีกครั้ง และจำเป็นต้องลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการจ่ายยา เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด โดยยาที่นำมาใช้รักษา ประกอบไปด้วยตัวยาหลายตัว ทั้งยากลุ่มเสตียรอยด์ ยากดภูมิ และยาปฏิชีวนะ ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
การดูแลเมื่อเป็น โรคตุ่มน้ำพอง
- พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปรับปริมาณยา หรืองดยาด้วยตัวเอง
- รักษาความสะอาดของร่างกายสม่ำเสมอ ใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแผล และหลีกเลี่ยงการแกะ เกา แผล
- หากผู้ป่วยมีการใช้ยากดภูมิ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ เพราะร่างกายกำลังมีภูมิคุ้มกันต่ำ และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่แออัด
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่สร้างความระคายเคืองให้กับผิวหนัง เช่น เสื้อผ้ารัดรูป
- ดูแลสุขภาพร่างกาย ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ๆ ด้วยการ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และปอกเปลือกผลไม้ก่อนทานเสมอ
- การใช้ยากดภูมิ อาจทำให้มีผลกระทบต่อโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับโรค
- หากมีการวางแผนตั้งครรภ์ ควรเลื่อนออกไปก่อน เพราะยาที่ใช้ในการรักษาโรค อาจมีผลต่อทารกในครรภ์
- ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด และงดอาหารเข็ง ๆ เช่น ถั่ว ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นให้เยื่อบุในช่องปาก เกิดการหลุดออก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดด และ ลดความเครียด เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออาการของโรค
การป้องกันโรคตุ่มน้ำพอง ทำได้อย่างไร ?
โรคตุ่มน้ำพอง ยังไม่มีสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน ดังนั้นจึงอาจยังไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น การหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือ ทาครีมกันแดดเป็นประจำ หากมีโรคประจำตัว ต้องใช้ยาควบคู่กันไป ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ และหากเกิดความผิดปกติขึ้น หรือ มีสัญญาณที่บ่งบอกโรค ควรไปพบแพทย์ทันที
โรคตุ่มน้ำพอง อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้โดยไม่คาดคิด เพราะไม่เพียงเป็นโรคที่ทำให้เกิดผลทางผิวหนัง แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันภายใน ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก ดังนั้น หากมีอาการสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรค ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยโรค และเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ภูมิคุ้มกัน คืออะไร ส่วนสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกสุขภาพร่างกายของเรา!
อาหารเสริมเพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ที่ดีที่สุด15 ประเภท ภูมิคุ้มกันแข็งแรง
10 วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูก ลูกไม่สบายบ่อย ช่วยได้ ลูกจะไม่ป่วยบ่อยอีกต่อไปแล้ว
ที่มา : pobpad , Paolo Hospital