“ความเครียด” เป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์นะคะ บางคนจะมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดการตั้งครรภ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน อีกทั้งอาการของแม่ท้อง ทั้งแพ้ท้อง อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ ก็ทำให้เครียดและกังวลมากขึ้นอีก แต่ไม่ใช่แค่แม่เท่านั้น เจ้าตัวเล็กในท้องก็สามารถเกิด ภาวะทารกเครียด ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เช่นกัน ซึ่งคุณแม่เช็กอาการจากการที่ลูกดิ้นน้อยลงได้ค่ะ
ภาวะทารกเครียด คืออะไร
ไม่ได้บอกว่าเจ้าตัวเล็กในท้องกำลังมีความเครียดจริง ๆ นะคะ แต่คำว่า “ภาวะทารกเครียด” หรือ “ภาวะเครียดของทารกในครรภ์” (Fetal distress) นี้เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่บ่งบอกว่า ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนจากเลือดของแม่ไม่เพียงพอ โดยมักแสดงออกทาง “อาการเต้นของหัวใจผิดปกติ” ในทารก ถามว่าอันตรายมั้ย ก็ตอบได้ว่าค่อนข้างอันตรายค่ะ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือรักษาอย่างทันท่วงทีอาจส่งผลที่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการทางสมอง หรือเสียชีวิตได้
แต่คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลจนทำให้ตัวเองเกิดความเครียดนะคะ เพราะภาวะเครียดในแม่ท้องก็ไม่เป็นผลดีเช่นกัน ทำใจร่ม ๆ แล้วมาดูกันก่อนว่าภาวะทารกเครียดนี้เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ป้องกันได้มั้ย มีวิธีการดูแลและรักษาภาวะนี้อย่างไร
สาเหตุของภาวะทารกเครียด เกิดกับใครได้บ้าง
สาเหตุหลัก ๆ ก็อย่างที่บอกข้างต้นค่ะว่า เกิดจากลูกในท้องได้รับออกซิเจนจากเลือดของแม่ไม่เพียงพอ ซึ่งออกซิเจนในเลือดของคุณแม่นั้นจะถูกส่งผ่านรกไปยังลูกน้อยในครรภ์ และไปยังเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารก โดยปัจจัยที่พบบ่อยว่าทำให้การส่งเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น สายสะดือย้อย สายสะดือโผล่แลบ สายสะดือถูกกด ทารกจึงได้รับเลือดและออกซิเจนน้อยลง ภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด รกลอกตัวก่อนกำหนด รกหรือเส้นเลือดของคุณแม่มีความผิดปกติจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต รวมทั้งการตั้งครรภ์เกินกำหนดที่ทำให้รกเสื่อม
ใครบ้างมีความเสี่ยงจะเกิด ภาวะทารกเครียด
คุณแม่ท้องที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะทารกเครียด หรือ Fetal distress นี้ ก็คือ
- คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับเส้นเลือดอย่าง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต
- คุณแม่ที่มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ มีการตั้งครรภ์เกินกำหนด ทำให้รกเสื่อม ประสิทธิภาพในการส่งเลือดไปเลี้ยงทารกไม่ดีตามไปด้วย
- มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด สายสะดือโผล่แลบ
- ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หรือมีน้ำคร่ำน้อย ทำให้สายสะดือถูกกดทับได้ง่ายเวลามีการหดรัดตัวของมดลูก
- คุณแม่ที่ได้รับยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกมากเกินไปทำให้เส้นเลือดมดลูกหดตัว ขาดเลือดไปเลี้ยงรกและทารกเป็นเวลานาน
เช็ก! ภาวะทารกเครียด ด้วยการสังเกตว่า ลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่
โดยส่วนมากคุณแม่จะไม่ทราบและไม่รู้สึกถึงความผิดปกติเลยค่ะว่าลูกน้อยในครรภ์มีภาวะเครียด จนกระทั่งภาวะวิกฤติมาถึงคือ ไม่สามารถรับรู้ถึง “การดิ้น” ของลูกแล้ว ดังนั้น วิธีติดตามและป้องกันภาวะเครียดของทารกในครรภ์เบื้องต้นที่คุณแม่สามารถทำได้เองก็คือ หมั่นสังเกตการดิ้นของลูกในท้องค่ะ
ซึ่งปกติคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นครั้งแรกเมื่อมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 18-20 สัปดาห์ สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งแรก ส่วนในท้องสอง ท้องสาม คุณแม่อาจรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้เร็วกว่านั้นคือเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ โดยหลังจากการดิ้นครั้งแรกแล้ว คุณแม่ควรจะต้องรู้สึกว่าลูกดิ้นทุก ๆ วัน และดิ้นแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วจำนวนการดิ้นต่อวันจะมากกว่า 100 ครั้ง เพียงแต่คุณแม่จะไม่รู้สึกทุกครั้งเท่านั้นเองค่ะ
ทั้งนี้ แพทย์มักแนะนำให้คุณแม่สังเกตว่า ลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมงไหม ถ้าใช่… ก็แสดงว่าในวันนั้น ๆ สุขภาพของเจ้าตัวเล็กยังดีอยู่ แต่หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง น้อยกว่า 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมง อย่าชะล่าใจค่ะ รีบไปพบแพทย์โดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด เพื่อแพทย์ประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ก่อนค่ะ
สำหรับการตรวจประเมินภาวะ Fetal distress นั้นแพทย์จะตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารก ซึ่งปกติจะอยู่ระหว่าง 110-160 ครั้งต่อนาที หากเร็วหรือช้ากว่านี้ถือว่าผิดปกติค่ะ
วิธีรับมือเมื่อแม่ท้องเกิดภาวะทารกเครียด
- แพทย์จะเริ่มจากแนะนำให้คุณแม่ปรับท่านอนค่ะ โดยเปลี่ยนมานอนตะแคงเพื่อช่วยลดการที่มดลูกอาจไปกดเส้นเลือดใหญ่แล้วทำให้เลือดไหลเวียนกลับหัวใจน้อยลง ส่งเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ลดลง
- ให้ออกซิเจนแก่คุณแม่
- หยุดการให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก เช่น oxytocin
- ให้น้ำเกลือหรือสารน้ำเข้าเส้นเลือดดำของคุณแม่เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเลือดและเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังทารก
- ตรวจภายในเพื่อประเมินปากมดลูก และภาวะสายสะดือโผล่ย้อย (cord prolapse)
ทั้งนี้ แพทย์จะเฝ้าติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ และทำการบันทึกกราฟ หากเกิน 30 นาทีหลังจากที่ให้การช่วยเหลือทารกในครรภ์ด้วยวิธีการดังกล่าวแล้ว อัตราการเต้นของหัวใจทารกยังผิดปกติเหมือนเดิม แพทย์จะรีบเตรียมการผ่าคลอดค่ะ
ดูแลลูกน้อยคลังผ่าคลอดจาก ภาวะทารกเครียด อย่างไร
วิธีการดูแลลูกน้อยที่ทำการผ่าคลอดเนื่องจากมีภาวะ Fetal distress สามารถดูแลเช่นเดียวกับเด็กที่ผ่าคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องวางแผนร่วมกับทีมกุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้เจ้าตัวเล็กมีสุขภาพแข็งแรงและพัฒนาการสมวัย
การดูแลจากแพทย์
- การหายใจ แพทย์จะทำการให้สารเคลือบปอดเพื่อให้ทารกหายใจเองได้เร็วขึ้น และลดระยะเวลาการใส่ท่อช่วยหายใจ โดยจะต้องรักษาออกซิเจนให้อยู่ในระดับปกติ ไม่สูงหรือน้อยเกินไป
- สมอง แพทย์จะทำการอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจเช็กความเสี่ยงภาวะเลือดออกในสมอง โดยตรวจภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด 1 ครั้ง และก่อนกลับบ้าน 1 ครั้ง
- กระดูก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก ๆ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง โดยแพทย์จะพิจารณาเพื่อเสริมแคลเซียมและวิตามินดีให้
- โภชนาการ จะมีการให้สารอาหารพิเศษทางเส้นเลือด ทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหารตั้งแต่สัปดาห์แรกจนถึงเวลาที่เด็กเริ่มกินได้เอง สร้างโภชนาการที่ดี ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการ รวมถึงการให้นมแม่ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดลำไส้อักเสบในทารกแรกเกิดได้ด้วย
การดูแลด้วยตัวคุณแม่เอง
เมื่อผ่าคลอดทารกที่มีภาวะเครียด และสามารถกลับมาพักฟื้นดูแลตัวเองและลูกน้อยที่บ้านได้แล้ว สิ่งที่คุณแม่ต้องใส่ใจในการดูแลลูกรักก็คือ
- เรื่องของการรักษาความสะอาด เนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันของลูกที่ผ่าคลอดก่อนกำหนดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ของใช้ส่วนตัวของลูกน้อยจึงควรได้รับการต้มหรือนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรค รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอก่อนสัมผัสตัวลูกค่ะ
- ต้องระวังลูกเสียความร้อนในร่างกาย จึงควรอาบน้ำวันละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาพลังงานในตัวลูก เช็ดตัวให้แห้ง ห่มผ้า เพื่อไม่ให้ถูกลม และเลือกเสื้อผ้าที่ทำให้ลูกอบอุ่น สบายตัว
- หากลูกมีเสมหะ หรือน้ำมูก มีภาวะหายใจไม่สะดวก มีเสียงดังครืดคราด หรือหายใจอกบุ๋ม ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กระบบการหายใจค่ะ
- ส่งเสริมพัฒนาการลูกด้วยการสัมผัส โอบกอด พูดคุย ร้องเพลง และนวดเบา ๆ ตามแขน ขา เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กค่ะ
ภาวะทารกเครียด นั้นมีความเสี่ยงและอันตรายก็จริงนะคะ แต่หากคุณแม่มีการฝากครรภ์เพื่อรับคำแนะนำและติดตามสุขภาพครรภ์จากแพทย์อย่างถูกต้อง รวมถึงสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ ก็จะทำให้สามารถตรวจพบและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีค่ะ ที่สำคัญคือ คุณแม่ต้องดูแลร่างกาย รวมถึงสภาวะจิตใจของตัวเองให้ดี เพราะทุกสถานการณ์การดำเนินชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่ สามารถส่งผลต่อเจ้าตัวเล็กในท้องได้… ขอให้แม่ท้องทุกคนมีครรภ์คุณภาพนะคะ
ที่มา : haamor.com , med.cmu.ac.th , www.bangkokhospital.com , www.phukethospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ความวิตกกังวลต่าง ๆ ก่อน การคลอดบุตร ที่คุณแม่ต้องรู้!
คุณแม่อารมณ์ดี ลูกในท้องก็แฮปปี้ เพราะอารมณ์มีผลต่อพัฒนาการสมองของลูกในครรภ์
6 เรื่อง หลังผ่าคลอด ที่คุณแม่ควรรู้ หลังผ่าคลอดต้องรู้อะไรบ้าง