ลูกโดนของร้อน น้ำร้อนลวก รักษาอย่างไรไม่ให้เป็นแผลเป็น?

lead image

น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ยิ่งหากเกิดขึ้นกับเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะผิวลูกน้อยมีความบอบบาง หากโดนของร้อนลวกแล้วดูแลไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลให้เกิดแผลลุกลาม  หรือแผลเป็นก็ได้ วันนี้ theAsianparent จะพามาดูกันว่า ลูกโดนของร้อน น้ำร้อนลวก รับมืออย่างไร มีวิธีรักษาแบบไหนไม่ให้เป็นแผลเป็น พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ

 

ระดับความรุนแรงของแผลน้ำร้อนลวก

โดยส่วนใหญ่แล้ว อุบัติเหตุน้ำร้อนลวก หรือของร้อนลวกในเด็ก มักเกิดจากการหยิบจับเครื่องดื่ม หรืออาหารที่มีความร้อน รวมไปถึงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นในช่วงอาบน้ำด้วย ซึ่งระดับความรุนแรงของแผลน้ำร้อนลวกนั้น แบ่งออกได้ดังนี้

  • ความรุนแรงระดับแรก (First Degree Burn) : ความรุนแรงระดับนี้ จัดเป็นความรุนแรงที่เบามากที่สุด ซึ่งมักเกิดขึ้นได้บ่อยมากกับลูกน้อย โดยลักษณะของแผลนั้น จะอยู่บริเวณหนังกำพร้า และจะมีอาการบวมแดงเล็กน้อย บางรายอาจมีการแสบบริเวณที่ถูกลวก
  • ความรุนแรงระดับที่สอง (Second Degree Burn) : การโดนน้ำร้อนลวกในระดับนี้ จะมีความรุนแรงมากกว่าระดับแรก ซึ่งบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น จะมีสีแดง และมีตุ่มพอง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดรุนแรง และมีแผลที่หายยากกว่า นอกจากนี้มักเกิดแผลเป็นอีกด้วย
  • ความรุนแรงระดับที่สาม (Third Degree Burn) : บาดแผลจากความรุนแรงระดับนี้ จะลึกลงไปถึงชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งจัดเป็นบาดแผลระดับรุนแรงมากที่สุด โดยบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวกนั้น จะเห็นเนื้อสีขาวขุ่นด้านใน และเส้นระบบประสาทของผิวหนังจะถูกทำลาย จนสร้างความเจ็บปวดให้แก่ลูกน้อยเป็นอย่างมาก และยังเกิดเป็นแผลเป็นได้อีกเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำร้อนลวก ไฟไหม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่ายสำหรับเด็ก ๆ ภายในบ้าน คุณแม่ควรระวัง

 

 

สิ่งที่ควรทำเมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวก

  • กรณีแผลไม่ลึก : ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำทันที อาจเอาสบู่อ่อน ๆ มาล้างสิ่งสกปรกออกด้วยแล้วตามด้วยน้ำสะอาดอีกรอบ จากนั้นก็หาผ้าสะอาดมาปิดแผลไว้แล้วไปหาหมอ หรือหายามาทาตามร้านขายยาทั่วไปได้
  • โดนลวกจนเห็นหนังแท้ : จะสังเกตว่าหนังจะแดง และเริ่มพองขึ้น มีอาการปวดแสบปวดร้อน คุณแม่ควรนำยาบรรเทาปวดพาราเซตามอลให้ลูกทานทันที แผลในระดับนี้มี 2 แบบ คือ แบบที่เป็นตุ่มพองมีน้ำใส ๆ ข้างใน พอแกะน้ำออกมาผิวบริเวณนั้นจะมีสีชมพู มีน้ำเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย และจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ไม่เกิดแผลเป็น ส่วนแผลที่ไม่มีตุ่มพองแผลจะแห้ง มีสีเหลืองขาวและไม่ค่อยปวด อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
  • โดนลวกรุนแรงมาก : ผิวเป็นสีดำไหม้จนเห็นเนื้อสีขาว อันดับแรกควรรีบถอดเสื้อของลูกออก ยกเว้นกรณีเสื้อผ้านั้นไหม้ติดบาดแผลไปแล้ว ให้คุณแม่ยกบริเวณที่มีบาดแผลให้สูงกว่าระดับหน้าอก ระหว่างที่นำส่งโรงพยาบาลทันที พร้อม ๆ กับ ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบประมาณ 10-20 นาที เพื่อรักษาความเย็น แผลระดับนี้ไม่สามารถรักษาอาการเองได้ ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เท่านั้น และมีเพียงแค่การปลูกถ่ายผิวหนังใหม่เท่านั้น ที่เป็นวิธีการรักษา

 

สิ่งที่ห้ามทำเมื่อลูกโดนน้ำร้อนลวก

  • อย่านำลูกไปแช่น้ำ เพราะจะทำให้ลูกช็อกได้
  • อย่าเอาน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดมาประคบเย็น เพราะอาจทำให้บาดแผลลึกมากขึ้น
  • อย่าใช้ยาสีฟันหรือครีมอื่น ๆ มาทาบริเวณแผล เพราะอาจทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และเสี่ยงอันตรายหนักกว่าเดิมอีก

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำร้อนลวกลูก วัย 11 เดือน วิธีปฐมพยาบาล น้ําร้อนลวก โดนของร้อน ปฐมพยาบาล อย่างไร

 

 

ลูกโดนของร้อน น้ำร้อนลวก รักษาอย่างไร

วิธีข้างต้นคือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่ถ้าบ้านไหนมีกล่องปฐมพยาบาลครบชุด เรามาดูขั้นตอนการรักษาแผลก่อนนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลกันดีกว่า

  1. ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำสบู่อ่อน ๆ แต่ห้ามถูแรง ๆ เด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น เสร็จแล้วใช้ผ้าซับให้แห้ง
  2. จากนั้นทายาตามขนาดแผล สำหรับแผลขนาดไม่กว้างนัก แต่มีการเปิดของผิวหนัง ให้ทายาลงบนแผล และปิดทับด้วยผ้าพันแผลหลาย ๆ รอบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนแผลที่มีขนาดกว้างกว่า เมื่อล้างแผลแล้ว ให้ทายาทันที แล้วจึงใช้สำลีแผ่นบางเรียบ ชนิดดูดหนองออก จากนั้นวางบนแผลแล้วพันทับด้วยผ้าพันแผลหลาย ๆ รอบทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วค่อยเปิดดูแผล ถ้าแผลมีอาการดีขึ้นก็ให้ล้างและทายา แล้วจึงปิดทับอีกครั้งแล้วทิ้งไว้ 2-3 วันค่อยล้างแผลใหม่ แต่ถ้าแผลยังคงมีหนอง และไม่ดีขึ้นภายใน 3 อาทิตย์ให้รีบไปพบแพทย์
  3. เมื่อแผลหายดีแล้ว ก็อย่าเพิ่งออกไปโดนแสงแดดทันที ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด 3-6 เดือน และพกโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวที่มีมอยส์เจอไรเซอร์สูง ติดตัวไว้ทาบริเวณแผล เมื่อมีอาการคันและแสบ โดยเฉพาะแผลที่ใช้เวลารักษานานเกิน 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการเสียดสีจนแผลอาจนูนขึ้น และกลายเป็นแผลเป็นได้

 

การดูแลแผลน้ำร้อนลวก

หลังจากที่พาลูกไปโรงพยาบาลแล้ว แพทย์อาจให้ยา และคำแนะนำในการดูแลแผลน้ำร้อนลวก ดังนี้

  • กรณีโดนที่ใบหน้า : ให้ทายาที่มีส่วนผสมของคลอแรมฟินีคอล (chloramphenicol ointment) 1% วันละ 3-4 ครั้ง หรือเมื่อแผลเริ่มแห้งก็ทาได้เรื่อย ๆ และควรเปิดแผลทิ้งไว้
  • กรณีที่โดนตรงมือและขา : หากมีแผลเปิด ให้ล้างแผล ทายา และพันแผลหลาย ๆ รอบแล้วหาไม้มาดามตรงบริเวณแผล จากนั้นยกแผลให้สูงขึ้น เป็นเวลา 72 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยมีการบริหารกล้ามเนื้อ ตรงบริเวณที่เป็นแผลต่อไป
  • กรณีโดนที่ข้อต่อต่าง ๆ ตามร่างกาย : หากมีแผลตามข้อต่าง ๆ เช่น ข้อพับ ข้อมือ ข้อเท้า และข้อเข่า เป็นต้น อาจเกิดแผลดึงรั้งยึดติด ถ้าปล่อยไว้อาจจะเกิดการผิดรูปจนอาจทำให้พิการ เพราะฉะนั้นเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ให้บริหารร่างกายและข้อต่ออย่างจริงจัง

บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกโดน น้ำร้อนลวก ปวดแสบปวดร้อน วิธีปฐมพยาบาล ใช้ยาสีฟันหรือแช่น้ำเย็น

 

 

การป้องกันน้ำร้อนลวก

อย่างที่ทราบกันว่าน้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังให้มากขึ้น เมื่อต้องทำอาหาร หรือต้มน้ำ โดยควรนำลูกให้ห่างจากห้องครัวมากที่สุด เพื่อความปลอดภัย โดยวิธีป้องกันน้ำร้อนลวกอื่น ๆ นั้น มีดังนี้

  • พยายามไม่ดื่มเครื่องดื่มร้อน ๆ เมื่อมีเด็กอยู่ใกล้ ๆ
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กอยู่ใกล้อ่างน้ำ และก๊อกน้ำร้อน
  • เมื่อลูกเริ่มโต ควรสอนให้เขารู้จักวิธีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องครัว
  • ไม่ควรรีบทำอาหารเร็วเกินไป ให้ค่อย ๆ ทำ เพื่อป้องกันน้ำร้อนกระเด็นใส่ลูก
  • วางอาหาร หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ ให้ห่างจากเด็ก และระมัดระวังไม่ให้ลูกอยู่ใกล้ห้องครัว
  • ก่อนให้ลูกอาบน้ำร้อน ควรตรวจสอบอุณหภูมิน้ำด้วยมือ หรือข้อศอกก่อนว่าอยู่ในระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมหรือไม่ หากร้อนเกินไป ควรเติมน้ำเย็นลงไปก่อน

 

ลูกโดนของร้อน น้ำร้อนลวก อาจเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรรู้จักวิธีการป้องกันหากลูกถูกน้ำร้อนลวก และควรระมัดระวังไม่ให้ลูกอยู่ใกล้ของร้อน โดยเฉพาะเครื่องดื่ม และกาน้ำร้อน นอกจากนี้ หากลูกถูกน้ำร้อนลวก คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบปฐมพยาบาลเด็กก่อนพาไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันแผลลุกลามที่อาจเกิดขึ้น

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ลูกผิวไหม้แดด รักษาอย่างไร ให้ลูกทาครีมกันแดดได้ไหม?

8 วิธีป้องกันเด็กถูก ไฟช็อต รับมืออย่างไรหากลูกถูกไฟช็อต

ลูกหกล้ม หัวโน ดูแลอย่างไร ควรปล่อยให้ลูกลุกด้วยตัวเองดีไหม?

ที่มา : healthandtrend, honestdocs, Haijai, Pobpad

บทความโดย

Khunsiri